/

การย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ หรือรากเหง้าของเราเอง คือต้นทุนอันยอดเยี่ยมสู่การพัฒนาบ้านเกิดของเราสู่อนาคต

Start
581 views
12 mins read

“การอพยพแบบเทครัวคือการโยกย้ายถิ่นฐานจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในลักษณะของการที่ผู้คนโยกย้ายไปทั้งครอบครัวหรือทั้งชุมชน ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีการอพยพรูปแบบนี้นับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะช่วงศึกสงคราม เช่นที่ครั้งหนึ่งกองทัพนครศรีธรรมราชไปทำสงครามกับรัฐไทรบุรี และก็ได้นำเชลยศึกจากไทรบุรีกลับมาด้วย

อย่างไรก็ดี ในตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีการอพยพแบบเทครัวอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของชุมชน นั่นคือราวทศวรรษ 2470 ที่ชาวบ้านในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ล่องเรือลงใต้มาขึ้นฝั่งยังปากพูนกันทั้งหมู่บ้าน เพื่อหาแหล่งทำมาหากินใหม่ กระทั่งในทุกวันนี้หลายชุมชนริมคลองในปากพูน ก็ล้วนเป็นลูกหลานชาวเพชรบุรีที่ยังคงพูดภาษากลางสำเนียงเพชรบุรีอยู่ 

นอกจากนำวิถีชีวิตและสำเนียงภาษามาปักหลักที่นี่ อีกสิ่งที่ชาวเพชรบุรีนำติดตัวมาด้วย นั่นคือนวัตกรรมพื้นบ้านในการจับสัตว์น้ำที่เรียกว่าบ้านปลา หรือ ‘หมรัม’

หมรัมคือเครื่องมือที่ทำขึ้นจากท่อนไม้ของต้นแสมขาว หรือต้นอื่นๆ ที่หาได้จากป่าชายเลน จะถูกนำมาปักบนดินโคลนริมสองฝั่งคลองทั้งแนวตั้งและแนวนอน ล้อมรอบเป็นวงกลมและใช้เชือกผูกโยงให้แข็งแรง เมื่อท่อนไม้ถูกปักลงในคลองมากๆ จะทำให้มีแพลงก์ตอนมาอาศัยอยู่ แพลงก์ตอนเหล่านี้เป็นอาหารของสัตว์น้ำ ซึ่งเมื่อพวกมันมารวมตัวกัน ก็ทำให้ชาวประมงสามารถจับสัตว์น้ำขึ้นมาได้อย่างสะดวก ชาวเพชรบุรีที่อพยพมาได้นำ ‘หมรัม’ มาใช้จับปลาในคลองปากพูนอยู่สองแบบคือ หมรัมปลาดุกทะเล และหมรัมปลากะพง ซึ่งอย่างหลังจะใช้ท่อนไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่า และทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้เครื่องมือชนิดนี้อยู่จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น

นอกจากการทำหมรัม อีกสิ่งที่ชาวเพชรบุรีที่ทุกวันนี้กลายเป็นคนพื้นถิ่นปากพูนไปแล้วยังทันเห็น คือเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นบริเวณคลองปากพูน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 วันเดียวกับที่กองทัพญี่ปุ่นบุกฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยถึงแม้เหตุการณ์นี้จะผ่านมา 81 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีคนเฒ่าคนแก่ที่ยังทันเห็นเหตุการณ์ เป็นความทรงจำของชุมชนที่เจ้าของความทรงจำยังสามารถบอกเล่าให้ลูกหลานได้รับฟัง

ผมเชื่อว่าหากเราอยากพัฒนาพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ การย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ หรือสำรวจรากเหง้าของพวกเราเองในชุมชน คือต้นทุนอันยอดเยี่ยมสู่การพัฒนาบ้านเกิดหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งสู่อนาคต โครงการ ‘ทุนประวัติศาสตร์ปากพูน เพื่อสร้างความภูมิใจในท้องถิ่นและการฟื้นฟูทรัพยากร’ ซึ่งเป็นโครงการย่อยของเมืองแห่งการเรียนรู้ปากพูน ก็มีเป้าหมายในการกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อการนี้

โดยโครงการนี้จะโฟกัสไปยังหน้าประวัติศาสตร์ของชุมชน 3 เรื่องด้วยกันดังที่กล่าว ได้แก่ การอพยพแบบเทครัวของชาวเพชรบุรีมายังปากพูน การยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา และการศึกษาการทำ ‘หมรัม’ ของชุมชน

รูปธรรมของการศึกษานี้ไม่เพียงนำมาสู่ความภาคภูมิใจของชาวปากพูน ที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ระดับสากล หากยังรวมถึงสร้างความกลมเกลียวกันของผู้คนผ่านการทำหมรัมส่วนกลางของชุมชน เนื่องจากทุกคนมีส่วนในการสร้าง บำรุงรักษา และเก็บเกี่ยวดอกผลจากสัตว์น้ำในเครื่องมือกลางนี้ด้วยกัน และรายได้บางส่วนจากการจับสัตว์น้ำในหมรัมชุมชน ยังถูกจัดสรรเข้ากองทุนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของปากพูนอีกต่อหนึ่งด้วย


นอกจากนี้ทางโครงการยังได้จัดทำนิทรรศการเคลื่อนที่ บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนทั้ง 3 เรื่อง มอบให้กับทางชุมชนไปเผยแพร่ โดยปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ตลาดความสุขชาวเลในหมู่ 4 และทางผู้นำชุมชนมีแผนในการนำนิทรรศการชุดนี้ไปจัดแสดงตามงานของชุมชน รวมถึงตามสถานศึกษาต่อไป”

ผศ.มานะ ขุนวีช่วย
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
และนักวิจัยในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ปากพูน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย