/

การเริ่มต้นจากการสร้างความร่วมมือเพื่อปลุกพื้นที่เรียนรู้ในย่านเล็กๆ แต่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์

Start
458 views
14 mins read

“เราเป็นคนย่านสบตุ๋ย ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่เราทำงานอยู่ก็ตั้งอยู่ย่านนี้ พอได้รับโจทย์งานวิจัยเรื่องพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในย่านสบตุ๋ย ทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้นเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะเราเป็นลูกหลานที่คุ้นเคยกับคนในย่าน แต่โครงการนี้ก็มีส่วนในการกลับมาเรียนรู้บ้านเกิดของเราในเชิงลึก อันมีส่วนในการพัฒนาเมืองในภาพรวมด้วย

สบตุ๋ยเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่เคยเป็นศูนย์กลางของเมืองลำปาง พร้อมกับการมาถึงของรถไฟเมื่อศตวรรษก่อน ทำให้ความเจริญทุกอย่างมารวมกันอยู่ในย่านนี้ โดยเฉพาะการเข้ามาตั้งรกรากและทำธุรกิจของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าชาวจีน อันทำให้เกิดสถาปัตยกรรม ร้านรวง และร้านอาหารที่มีตำรับเก่าแก่มากมายส่งผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ และก็เพราะมรดกทางภูมิปัญญาหลากหลายในอดีต ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของผู้คนในยุคปัจจุบัน ทีมวิจัยของเราจึงเห็นตรงกันว่าสบตุ๋ยไม่ต่างอะไรกับ ‘พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต’ พื้นที่เก่าแก่ที่ผู้คนร่วมสมัยยังคงใช้ชีวิต โดยหาได้ปรับเปลี่ยนวิถีอะไรจากรากเหง้าเดิมนัก

ในโครงการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์มีชีวิตย่านสบตุ๋ย เราแบ่งการมองย่านออกเป็น 3 ส่วน คือ หนึ่ง. บ้านเก่า สอง. อาหารการกินในตำนาน และสาม. แหล่งเรียนรู้ โดยเราและอ๊อฟ (จาตุรงค์ แก้วสามดวง) เข้าไปศึกษาทรัพยากรในแต่ละส่วน และออกแบบแนวทางที่จะสื่อถึงพิพิธภัณฑ์มีชีวิต 3 ส่วนนี้ให้เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้

ในส่วนแรก ‘พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านเก่าเล่าความหลัง’ เราได้คัดเลือกจากบ้านที่ถูกสร้างขึ้นในยุคของการพัฒนาย่านนับตั้งแต่การมาถึงของรถไฟ โดยเข้าไปศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม อิทธิพลของการออกแบบ ไปจนถึงตระกูลเก่าแก่ที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งมีส่วนพัฒนาย่านแห่งนี้ โดยทำสื่อทั้งภาพนิ่งและคลิปวิดีโอแบบ 360 องศา ก่อนจะทำคิวอาร์โค้ดให้คนเข้ามาสแกนเข้าไปชมพื้นที่ภายในบ้าน เพราะแม้จะมีบ้านบางหลังอย่างบ้านพระยาสุเรนทร์ หรือบ้านกิจเสรี ที่เขาเปิดพื้นที่เป็นร้านอาหารและให้ผู้ที่สนใจเข้าไปชมได้อยู่แล้ว แต่ก็มีบ้านหลายหลังที่ยังมีคนอยู่ และเขาต้องการความเป็นส่วนตัว เราก็เลยใช้วิดีโอ 360 องศานี้ ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปชมภายในได้

ในแง่มุมของอาหาร ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่าย่านนี้เต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่คู่เมือง เราจึงจัดทำเส้นทาง ‘พิพิธภัณฑ์กินได้ อาหารในตำนานย่านสบตุ๋ย’ ซึ่งรวมร้านขนม เครื่องดื่ม และร้านของฝากประเภทอาหารไปด้วย โดยเข้าไปสัมภาษณ์เจ้าของกิจการ เรียบเรียงเนื้อหา และคัดสรรออกมาได้ราวสิบกว่าร้าน เน้นร้านที่มีอายุเก่าแก่เกิน 50 ปี ซึ่งหลายร้านก็ไม่ได้อยู่ในลิสต์ร้านเด่นที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว แต่เป็นร้านดั้งเดิมที่คนลำปางเขากินกัน

และกลุ่มสุดท้ายคือ ‘พิพิธภัณฑ์ถนนเรียนรู้’ นำเสนอแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของคนที่ผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่อาคารสถานีรถไฟลำปาง พิพิธภัณฑ์ต่างๆ กาดเก๊าจาว ไปจนถึงสถานที่เชิงวัฒนธรรมอย่างวัด ศาลเจ้า และโบสถ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นมิติทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของย่านนี้ จากนั้นเราก็รวมเส้นทางเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์มีชีวิตทั้ง 3 ส่วน เข้าด้วยกัน อย่างถ้าเริ่มต้นจากสถานีรถไฟ เราจะไปที่ไหน ไปกินอะไร หรือไปชม ไปศึกษาอะไรได้บ้างเป็นต้น

พร้อมกับการทำข้อมูลตรงนี้ โครงการก็สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมชวนคนลำปางนั่งรถม้าสำรวจย่านก่อนไปจิบน้ำชาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันที่บ้านพระยาสุเรนทร์ กิจกรรมชวนเจ้าของสูตรอาหารในย่านมาเป็นวิทยากรเวิร์คช็อปทำอาหารอย่าง กุยช่าย บ๊ะจ่างสูตรโบราณ หรือขนมปุยฝ้าย ไปจนถึงชวนผู้หลักผู้ใหญ่มาเล่าย้อนความหลังถึงสถานที่ต่างๆ ในย่านสบตุ๋ย เป็นต้น

นอกจากการเปิดและสร้างเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ชีวิตในย่านนี้แล้ว เรามองว่ากระบวนการที่เกิดระหว่างนั้น โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือของผู้คนในภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยราชการ กลุ่มผู้ประกอบการ ชุมชน และสถาบันการศึกษา ยังเป็นเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้ เพราะที่ผ่านมา เราพบว่าหน่วยงานทุกหน่วยงานเขามีความหวังดีอยากพัฒนาเมืองลำปางนะคะ แต่มันติดที่ว่าต่างคนก็ต่างทำงานตามบทบาทในพื้นที่ของตัวเองไป จึงไม่อาจส่งผลกระทบในภาพรวมของเมืองได้เสียที การเริ่มต้นจากการสร้างความร่วมมือเพื่อปลุกพื้นที่เรียนรู้ในย่านเล็กๆ แต่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์แห่งนี้ รวมถึงในย่านท่ามะโอที่โครงการได้ขับเคลื่อนด้วย ก็อาจเป็นเครื่องมือเชื่อมประสานหนึ่ง ที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองในสเกลใหญ่ต่อไปได้”

พัชพร วิภาศรีนิมิต

นักวิจัยโครงการลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง

(การพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย