/

“การได้เห็นคนมาไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่แล้วมีความอิ่มเอมกลับไป หรือคนมาขอพรแล้วสมหวัง พี่คิดว่างานที่ทำอยู่นี้ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจมากๆ แล้ว”

Start
195 views
13 mins read

“พี่เป็นคนพิจิตร มาเรียนมหาวิทยาลัยที่พิษณุโลก จบมาก็ไปทำงานกรุงเทพฯ อยู่พักหนึ่ง และมีครอบครัว มีลูกสองคน อยากให้ลูกกลับมาเรียนแถวบ้าน พี่เลยย้ายมาอยู่พิษณุโลก เพราะพี่มองว่านี่เป็นเมืองที่โรงเรียนมีมาตรฐานดี และมีบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของลูกๆ

พี่เป็นแม่บ้านค่ะ สามีจะทำงานเป็นหลัก พอย้ายมาพิษณุโลก เราก็ทุ่มเวลากับการเลี้ยงลูก จนลูกคนโตสอบเข้าโรงเรียนจุฬาภรณ์ (โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ พี่ก็เลยมีเวลาว่าง จึงคิดหางานเสริม พอดีกับมีเพื่อนมาบอกว่าศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่าและศาลเจ้าพ่อเสือ ตรงตลาดใต้ กำลังหาเสมียนมาทำบัญชี พี่ก็เลยสมัครงานนี้ไป ตอนนี้ทำมาได้ 3 ปีแล้ว

ตอนแรกที่มาทำ พี่เห็นว่าศาลเจ้ายังคงมีรูปแบบที่ดั้งเดิมอยู่ คือขายธูปเทียนน้ำมันให้คนมาไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ แล้วก็กลับไป ศาลเจ้าจะคึกคักก็เฉพาะตอนมีเทศกาล ได้แก่ ตรุษจีน เทศกาลง่วนเซียว (เทศกาลโคม) และสารทจีน นอกจากนั้นศาลเจ้าก็จะเงียบๆ จะมีเฉพาะผู้ที่ศรัทธาที่เป็นคนในตลาดและคนจากที่อื่นหมุนเวียนมาไหว้เจ้าเป็นประจำ แต่ก็จะดึงดูดเฉพาะคนที่ศรัทธาอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 

ระหว่างนั้นพี่ไปเห็นศาลเจ้าแห่งอื่นๆ ในจังหวัด โดยเฉพาะโรงเจไซทีฮุกตึ๊งบนเขาสมอแคลง เขามีวัตถุมงคลให้เช่าบูชา มีจุดถ่ายรูปเช็คอิน และมีโรงเจ ซึ่งดึงดูดให้คนมาเยือนราวกับสถานที่ท่องเที่ยว พี่ก็คิดว่าศาลเจ้าเราน่าจะมีอย่างเขาบ้าง คือไม่ถึงกับต้องเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแฟนซีอะไรนักหรอก แค่มีของให้เช่าบูชา หารายได้ให้ศาลเราบ้างเท่านั้นเลย

พี่ก็เลยไปคุยกับคณะกรรมการศาลเจ้าว่าเราน่าจะทำการตลาดบ้าง เอาโคมจีนมาขายเป็นที่ระลึกเชิงสิริมงคล งานสารทจีนก็พับกระดาษทำภูเขาเงิน ภูเขาทองขาย และพี่ก็ไปเรียนกับผู้ดูแลโรงเจเพื่อทำอ่วงมึ้ง หรือม่านเพ้าเส้นๆ แบบจีนโบราณ เพื่อเอามาจำหน่ายที่ศาลเจ้า ดีที่คณะกรรมการศาลเจ้าชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เขาก็เห็นดีด้วยว่าศาลเราน่าจะหารายได้ และสร้างกิมมิกดึงดูดให้คนมาไหว้เจ้ามากขึ้น คือถ้ากรรมการเขาไม่เอาด้วย เราก็คงทำไม่ได้น่ะ

แล้วก็เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเจ้าแม่และเจ้าพ่อเสือด้วย กลายเป็นว่าพักหลังๆ มีคนมาขอพร ก็ได้ในสิ่งที่ต้องการ เขาก็เลยมาบูชาวัตถุมงคลกลับไปมากขึ้น และก็ประกอบกับที่ทางอาจารย์ใหม่ (ธนวัฒน์ ขวัญบุญ) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เขามาทำโครงการย่านเก่าเล่าเรื่องในย่านตลาดใต้ โดยใช้สื่อโซเชียลประชาสัมพันธ์ย่านแห่งนี้ จึงมีคนพิษณุโลกและนักท่องเที่ยวมาเยือนตลาดใต้และแวะสักการะเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ศาลเจ้ามากขึ้น

จริงๆ หน้าที่ของพี่คือการทำบัญชีค่ะ แต่ความที่เจ้าหน้าที่ประจำศาลเจ้ามีอยู่สองคน ก็เลยทำเกือบทุกหน้าที่ จะบอกว่าถ้าเราไม่ทำสินค้าหรือวัตถุมงคลให้คนบูชา งานพี่ก็จะไม่เยอะหรอก รอรับเงินเดือนเขาสบายๆ แต่อีกมุม เรารับเงินเดือนเขาแล้วนะ เราศรัทธาศาลเจ้าสองแห่งนี้ด้วย ก็อยากให้คนมากันเยอะๆ และช่วยศาลเจ้าหารายได้ให้มากๆ ด้วย คือแทนที่จะได้แค่ค่าธูปเทียน 20 บาท เราทำกระทงขาย 3 อัน 100 บาท รวมน้ำมันตะเกียงเป็นชุด หรือพวกของไหว้อื่นๆ เอย ก็สร้างมูลค่าเพิ่มได้ คนมากันเยอะขึ้น เราก็ไม่เหงาด้วย

ทุกวันนี้ศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่าและศาลเจ้าพ่อเสือในตลาดใต้กลายเป็นจุดเช็คอินใหม่ของนักท่องเที่ยวสายมูเตลูไปแล้ว (หัวเราะ) ก็ดีใจนะ ที่พี่เป็นส่วนหนึ่งทำให้ศาลเจ้าเป็นที่รู้จัก แต่จริงๆ อย่างที่บอก หัวใจสำคัญคือความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างหาก ที่ใครมาขอพรหรือบนบานศาลกล่าวอะไรไว้แล้วก็ได้ เขาก็เอาไปบอกต่อ ทีนี้ เขาก็กลับมาทำบุญ มีงานเทศกาลอะไร ศาลเจ้าขาดอะไร เหล่าคนที่เคยมาไหว้เขาก็ยินดีช่วยเหลือเต็มที่

ถึงพี่จะเป็นคนสอนวิธีดูเลขเซียมซีศาลเจ้าพ่อเสือ แต่พี่ก็ไม่เคยซื้อล็อตเตอรี่ค่ะ (หัวเราะ) เลยไม่เคยขอให้ถูกรางวัล แต่ก็ขอพรทั่วๆ ไปอยู่แล้ว หลักๆ ก็แค่อยากให้ลูกๆ พี่ประสบความสำเร็จในชีวิตแค่นั้นเลย ส่วนงานที่ทำ นอกจากได้รายได้เลี้ยงชีพแล้ว การได้เห็นศาลเจ้ามีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี เห็นคนมาไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่แล้วมีความอิ่มเอมกลับไป หรือคนมาขอพรแล้วสมหวัง พี่ก็คิดว่างานที่ทำอยู่นี้ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจมากๆ แล้ว”

สุธาสินี จั่นทับ
เจ้าหน้าที่ศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่า และศาลเจ้าพ่อเสือ พิษณุโลก

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย