กิจกรรมการกวนข้าวยาคู้ที่คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมกับชุมชน ทำให้วัดและชุมชนมีชีวิตชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

Start
386 views
11 mins read

“โยมเห็นไหมว่าเจดีย์วัดชมพูนี่เหมือนพระธาตุดอยสุเทพเลย เจดีย์นี้สร้างสมัยเดียวกับบนดอยสุเทพนั่นแหละ หลังจากพระเจ้ากือนาสร้างพระธาตุดอยสุเทพ ท่านก็อยากให้พระมารดาได้สักการะด้วย แต่สมัยก่อนไม่มีถนน ขึ้นไปไหว้พระบนดอยนี่ลำบาก ท่านเลยโปรดให้สร้างเจดีย์รูปแบบเดียวกันตรงนี้แทน และตั้งชื่อว่าวัดใหม่พิมพา ตามชื่อพระมารดาพระนางพิมพาเทวี จนภายหลังมาเปลี่ยนเป็นชื่อวัดชมพู ตามครูบาชมพูที่เคยมาพำนักสมัยพระเจ้ากาวิละ เจดีย์วัดชมพูเลยเป็นคู่แฝดของพระธาตุดอยสุเทพมาจนทุกวันนี้ ญาติโยมคนไหนไม่สะดวกขึ้นดอยสุเทพ ก็มาสักการะที่นี่ได้

หลวงพ่อย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ตอน พ.ศ. 2509 ต่อจากครูบาแก้ว สุคันโธ สมัยนั้นครูบาแก้วท่านสมถะ อยู่กุฎิไม้ง่ายๆ ไม่สะดวกสบายเท่าไหร่ หลวงพ่อก็ค่อยๆ พัฒนาไป ซึ่งก็พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนช้างม่อยละแวกนี้จากเรือนแถวไม้ไปเป็นตึกคอนกรีต

สมัยก่อนนั้นวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง ญาติโยมมาร่ำเรียน ทำบุญ สังสรรค์ หรือเจรจาแก้ปัญหาภายในชุมชน กระทั่งวัยรุ่นทะเลาะวิวาท ก็ยังมาทะเลาะกันในวัดอีก เพราะช่วงที่หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ วัยรุ่นเชียงใหม่ตีกันทุกวัน บ้านนั้นตีบ้านนี้ จากแม่โจ้ขนคนเข้ามาตีคนที่พวกแต้มหรือช้างม่อยบ้าง บางคนถูกไล่ตีหนีเข้ามาในวัด ก็ยังโดนตามเข้ามาทำร้ายต่อถึงในนี้

ดีที่เจ้าคุณศรีธรรมนิเทศก์ และพระครูศรี ธรรมคุณ (กมล โชติมนโต) วัดสันป่าข่อย ท่านคิดแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยการก่อตั้งกลุ่มหนุ่มสาวจังหวัดเชียงใหม่ สลายความขัดแย้งระหว่างชุมชน ด้วยการให้แต่ละชุมชนส่งตัวแทนมาร่วมฟังเทศน์ และมีกิจกรรมรถด่วนขบวนพิเศษ ให้วัดในชุมชนต่างๆ หมุนเวียนกันจัดกัณฑ์เทศน์ตลอดช่วงเข้าพรรษา อาตมาก็ร่วมด้วย ถ้าจับฉลากได้เลขไหน อาตมาก็ต้องไปเทศน์ที่วัดตามหมายเลขนั้น นอกจากนี้ ยังมีการแข่งกันตอบปัญหาธรรมะ และประกวดขบวนผ้าป่า ถ้าจำไม่ผิดญาติโยมวัดชมพูทำพาเหรดผ้าป่าโดยเอารูปแบบมาจากเรื่องเบนเฮอร์ (Ben Hur) หนังดังในสมัยนั้น ผู้คนฮือฮาจนชนะได้ที่สอง ส่วนที่หนึ่งครั้งนั้นคือวัดสันป่าข่อย

จากการแก้ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่น กลายเป็นว่าหลังจากนั้นกลายเป็นยุคทองของการจัดงานบุญแฝงด้วยงานรื่นเริงในวัด อย่างงานกวนข้าวมาธุปายาสหรือข้าวยาคู้ ที่เป็นพิธีกรรมอ้างอิงมาจากพุทธประวัติ ก็เป็นหนึ่งในงานของวัดเราที่คึกคักมากๆ โดยทุกคืนวัน 14 ค่ำเดือน 12 ก่อนวันยี่เป็งของทุกปี ชาวบ้านช้างม่อยจะรวมตัวกันกวนข้าว เพื่อให้หลวงพ่อสวดมนต์เป็นข้าวทิพย์ ก่อนแจกจ่ายกลับคืนสู่ชาวบ้านเป็นสิริมงคล ยุคนั้นคนหนุ่มสาวมาร่วมงานกันเสียเป็นส่วนใหญ่ สนุกสนาน เฮฮา ต่างจากหลายปีหลังมานี้ที่มีแต่คนเฒ่าซึ่งเป็นกลุ่มหนุ่มสาวในสมัยนั้น กวนกันจะไม่ค่อยไหวแล้ว (หัวเราะ)

นั่นจึงทำให้อาตมารู้สึกเหมือนได้เห็นภาพของวันเก่าๆ ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นอีกแล้ว เพราะเมื่อช่วงปีสองปีหลังมานี้ มีหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีกำลังวังชามาร่วมจัดงานกวนข้าวกับชาวชุมชนด้วย มีการจัดกาดหมั้ว ทำขนมเส้น ฉายหนังกลางแปลง ก่อนเริ่มกวนข้าว ทำให้วัดของพวกเรากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ก็อยากให้เป็นแบบนี้ต่อไป การกวนข้าวต้องอาศัยกำลังของคนรุ่นใหม่ ส่วนคนเฒ่าก็ช่วยสนับสนุน นำความรู้ นำประสบการณ์มาแบ่งปัน

การสืบต่อพุทธศาสนาก็เหมือนกัน อาตมาอยากให้คนรุ่นใหม่มาเข้าวัดฟังธรรมกันเยอะๆ หรือแค่แวะมานั่งคุยกันเฉยๆ ก็ได้ อยากหารือหรือปรึกษาอะไร อาตมาก็ยินดี ไม่ฟังธรรมก็ไม่เป็นไร”

///

พระครูพิพัฒน์สมาจาร (มานัส ธมฺมวุฑฺโฒ)

เจ้าอาวาสวัดชมพู

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย