/

“ก็เข้าใจนะว่าถ้าเรื่องพื้นฐานของเมืองยังไม่พร้อม สมาร์ทซิตี้ก็อาจเป็นเรื่องรอง แต่ในอีกมุม เราสามารถทำสองเรื่องนี้ไปพร้อมกันได้ และการเป็นสมาร์ทซิตี้ ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานของเมืองได้เช่นกัน”

Start
139 views
12 mins read

“บทบาทของหนูคือนักดิจิทัลพัฒนาเมือง เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างเทศบาลเมืองแก่งคอยกับทางสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ในการขับเคลื่อนเมืองแก่งคอยให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ก็ทำทั้งเขียนโครงการที่พยายามใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาเมืองหรือทำให้เมืองน่าอยู่ หรือถ้าทาง Depa เขามีทุนสนับสนุนที่น่าจะสอดคล้องกับเมืองของเราได้ หนูก็จะนำเสนอไปที่เทศบาล เป็นต้น

พอมาอยู่ตรงนี้ก็เห็นโอกาสหลายอย่างเลยค่ะ อย่างการทำสมาร์ทบัส (smart bus) เส้นทางรถสาธารณะที่คอยรับส่งผู้คนในเมือง เพราะที่ผ่านมาเมืองเราไม่มีรถสาธารณะวิ่งในเมืองเลย หรือการทำป้ายรถเมล์อัจฉริยะสำหรับเส้นทางรถประจำทางที่วิ่งระหว่างอำเภอหรือวิ่งเข้าตัวอำเภอเมืองสระบุรี เป็นป้ายที่แจ้งข้อมูลรถแบบเรียลไทม์ว่ารถถึงจุดไหนแล้ว เป็นต้น

อีกเรื่องที่พยายามทำอยู่คือ CDP หรือ City Data Platform แพลทฟอร์มข้อมูลกลางของเมือง เช่น ข้อมูลประชากร สถิติด้านอาชีพ ข้อมูลนักท่องเที่ยว เป็นข้อมูลกลางที่ง่ายต่อการสืบค้นและนำไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเมืองต่อไป เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา แก่งคอยเราขาดการเก็บข้อมูลตรงนี้ โดยเฉพาะข้อมูลของประชากรแฝง พอจะขับเคลื่อนโครงการอะไรที นักวิจัยเขาก็ต้องเข้ามาทำข้อมูลใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หรือแก่งคอยเราเป็นเมืองผู้สูงอายุ จึงมีความคิดของหลายภาคส่วนที่จะนำสมาร์ทโพล (smart pole) หรือเสาไฟอัจฉริยะ ที่เป็นทั้งเสาไฟ ที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด ลำโพงสำหรับเสียงตามสาย ไปจนถึงปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุหรือคนในเมืองมาใช้ ให้เสานี้กระจายไปตามจุดต่างๆ ของเมือง เพื่อเชื่อมไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบหรืออาสาสมัครดูแลเมือง ซึ่งก็จะช่วยดูแลผู้คนในพื้นที่ได้ดีมากๆ

ที่ผ่านมา หนูได้เขียน proposal ให้กับทางเทศบาลเพื่อยื่นไปทาง Depa เพื่อให้ได้ตราสัญลักษณ์เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระบุว่าแก่งคอยกำลังขับเคลื่อนสาธารณูปโภคให้รองรับกับการเป็นสมาร์ทซิตี้อยู่ เราได้ตราสัญลักษณ์นี้มาสักพักแล้ว เพียงแต่ตรานี้ไม่มีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาว่ามีข้อกำหนดกี่ปี และต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา เทศบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาพื้นฐานเป็นหลัก เช่น เรื่องปากท้อง รวมถึงปัญหาน้ำประปา ทางเทศบาลจึงยังมองว่าสมาร์ทซิตี้ยังเป็นเรื่องรอง โครงการที่เล่ามาข้างต้นจึงยังคงอยู่ในระดับแนวคิดและข้อเสนอ ไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควร

ซึ่งก็เข้าใจได้ค่ะ เพราะถ้าเรื่องพื้นฐานของเมืองยังไม่พร้อม เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาก็อาจจะยังไม่มีเวลาให้ความสำคัญนัก แต่ในอีกมุม หนูก็คิดว่าสองเรื่องนี้ทำพร้อมกันได้ หลายๆ โครงการของสมาร์ทซิตี้ ก็สามารถนำมาแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานของเมืองได้ อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังๆ หนูก็เห็นว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่ทางเทศบาลเริ่มรับฟังข้อเสนอจากหน่วยงานเอกชนที่เข้ามา และรับเข้ามาอยู่ในแผนของเมืองแล้ว ก็อยากให้มีการขับเคลื่อนร่วมกันจนเกิดเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด   

ถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่อย่างหนูถึงเลือกมาทำงานแก่งคอย? หนูเป็นลูกคนเล็ก และเป็นลูกหลงด้วยค่ะ (หัวเราะ) พ่อแม่อายุมากแล้ว พอเรียนจบ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) เลยกลับมาช่วยกิจการของครอบครัวก่อน แล้วพอดี Depa เขาเปิดรับสมัครงานนี้ก็เลยมาทำ นอกจากนี้ หนูยังเขียนนิยายออนไลน์เป็นอาชีพเสริมด้วย เลยไม่ได้คิดว่าจะต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือที่อื่น อยู่บ้านเราที่นี่ก็สบายดี แล้วได้ดูแลพ่อแม่ด้วย (ยิ้ม)

ถามว่าเหงาไหม? ก็นิดหน่อยค่ะ เพราะเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เจอกันในเมืองมีอยู่แค่ 3 คนเอง ถ้าคนรุ่นใหม่ที่ทำงานโรงงาน เขาก็จะไปพักที่พักใกล้โรงงาน ไม่มีใครอยู่ในตัวเมืองเลย ถึงอยากให้มีเพื่อนในเมืองเยอะกว่านี้ แต่ก็เข้าใจข้อจำกัดของเมืองที่ไม่ได้เอื้อให้คนรุ่นหนูสามารถทำงานอยู่ที่นี่ได้นัก

ก็อยากเห็นแก่งคอยพัฒนามากกว่านี้ อยากให้มีโครงการที่ทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับภาคเอกชนเยอะๆ เพราะไม่เพียงโครงการจะดึงให้คนรุ่นใหม่มาทำงาน แต่ถ้าเมืองมันพัฒนา โอกาสใหม่ๆ ก็จะเกิด เพื่อนๆ ในแก่งคอยก็อาจจะเยอะขึ้นตามไปด้วย”  

สุกัญญา ตรีสุนทรรัตน์
นักดิจิทัลพัฒนาเมือง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย