ขลุง เมืองพหุวัฒนธรรมและเกษตรนำวิถี

Start
497 views
18 mins read

จังหวัดจันทบุรีอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งพื้นที่ป่า ภูเขา ทะเล เป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล อีกทั้งมีความหลากหลายของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชุมชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมหลายชนชาติซึ่งเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของจันทบุรีมาแต่อดีตกาล อาทิ ชาวจีน ชาวญวน และชาวชอง ซึ่งถือเป็นชนพื้นเมืองจันทบุรี มีภาษาพูดเป็นภาษาชองที่แตกต่างจากภาษาเขมรและภาษาไทย ทางมานุษยวิทยาจัดให้อยู่ในจำพวกตระกูลมอญ-เขมร เช่นเดียวกับพวกขอมโบราณ โดยอาศัยอยู่บริเวณอำเภอขลุง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด อันเป็นชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ภูเขา น้ำตก ป่าชายเลน และแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปะวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นมาของอำเภอขลุงในปัจจุบัน

คำว่า “ขลุง” หมายถึงพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง เดิมชาวขลุงมีอาชีพทำนาและประมง ปัจจุบันมีการปลูกผลไม้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ประวัติศาสตร์อำเภอขลุงเริ่มจากการค้นพบศิลาจารึกขลุง ซึ่งเป็นหินทรายสีแดงใช้อักษรปัลลวะ พุทธศตวรรษ 12 เป็นภาษาสันสกฤต จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 4 บรรทัด ลักษณะวัตถุเป็นชิ้นส่วนจารึกแตกหักมาจากแท่งหินทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2461 ใกล้ที่ว่าการอำเภอขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานว่าเก็บรักษาอยู่ที่ใด แต่ได้มีการพูดถึงจารึกหลักนี้เป็นครั้งแรกในวารสารสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ ฉบับที่ 24 ปี พ.ศ. 2467 โดย ศ. ยอร์ช เซเดส์ รายงานเกี่ยวกับจารึกพบใหม่ที่มณฑลจันทบูร ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดจันทบุรี

เดิมอำเภอขลุงมีฐานะเป็น “เมืองขลุง” มีเจ้าเมืองปกครอง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการจัดระเบียบการปกครองตามแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองขลุงจึงมีฐานะเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอขลุง เมื่อฝรั่งเศสย้ายจากเมืองจันทบุรีไปอยู่จังหวัดตราด อำเภอขลุงจึงได้ยกฐานะเป็นเมืองอีกวาระหนึ่ง มีฐานะเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า เมืองขลุง ครั้นในราว พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสย้ายออกไปจากเมืองตราดแล้ว เมืองตราดมีฐานะเป็นจังหวัดขึ้นตามเดิม โดยมีอำเภอบางพระ อำเภอเกาะช้าง อำเภอทุ่งใหญ่ (อำเภอเขาสมิงปัจจุบัน) รวมอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดตราด เมืองขลุงจึงได้ยุบเป็นอำเภอ ขึ้นกับเมืองจันทบุรี และคงมีฐานะเป็นอำเภอตลอดมา โดยศาลหลักเมืองขลุงคือประจักษ์พยานประวัติศาสตร์เมืองขลุง ค่าที่ศาลหลักเมืองตั้งขึ้นตามจังหวัดเท่านั้น ไม่มีตามอำเภอ ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจยิ่งให้กับชาวขลุง

คำขวัญอำเภอขลุงที่ว่า “ผู้คนสามัคคี เมืองมีความสะอาด ธรรมชาติเขียวขจี มากมีกุ้งหอยปูปลา นานาผลไม้ ยิ่งใหญ่ป่าชายเลน ลุ่มน้ำเวฬุ เขื่อนคีรีธาร แสนสำราญน้ำตกตรอกนอง” สะท้อนตัวตนและวิสัยทัศน์ของอำเภอขลุง ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการศึกษาท้องถิ่นที่ชุดโครงการวิจัย “การสร้างกลไกและเครือข่ายการยกระดับระบบนิเวศเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เพื่อพัฒนาเมืองต้นแบบแห่งการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี” เข้าไปรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายความรู้และวิทยากรจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ปราชญ์ชุมชน และผู้คนในพื้นที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ออกมาเป็นบริบทต้นทุนทางวัฒนธรรมและเกษตรที่โดดเด่นของอำเภอ โดยแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ตำบลหลัก คือพื้นที่เทศบาลเมืองขลุง พื้นที่การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม เมืองพหุวัฒนธรรม 2 ศาสนา (พุทธ คริสต์) 3 วัฒนธรรม (ไทย ญวน จีน) ผ่านการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าขลุงและประเพณีสงกรานต์ 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม รวมถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีในพื้นที่อยู่แล้ว ได้แก่ วัดวันยาวบน ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (หัวมังกร) ศาลเจ้าขลุงมูลนิธิ (ท้องมังกร) ศาลเจ้าปึงเท่ากง (หางมังกร) และโบสถ์วัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า และพื้นที่ตำบลตะปอน กับตำบลเกวียนหัก พื้นที่การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม มีประเพณีเด่นๆ ได้แก่ แห่รอยพระพุทธบาทผ้า ชักเย่อเกวียนพระบาท ก่อพระเจดีย์ทรายในวัด เทศน์มหาชาติ ลอยกระทงรอบโบสถ์เก่าวัดเกวียนหัก เทศกาลดูปูแป้นชื่นชมธรรมชาติ

ขณะที่แนวเส้นทางเกษตรของพื้นที่อำเภอขลุง มีการปลูกไม้ยืนต้น ผลไม้ ทำนาข้าว อาชีพประมงเรือเล็ก สวนเกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมผสาน ครอบคลุมอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลตะปอน ตำบลวันยาว ตำบลตรอกนอง และตำบลซึ้ง อันสามารถพัฒนาสู่การเป็นเกษตรปลอดภัยและเกษตรอัจฉริยะได้ในอนาคต โดยกระบวนการสร้างการเรียนรู้ เพื่อพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้สู่ความยั่งยืน (Learning City) จัดทำแนวทางพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการจัดทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตร พร้อมทั้งยกระดับอาหารท้องถิ่นจันทบุรี อันนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายสร้างเส้นทางท่องเที่ยวบนถนนแห่งการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม เมืองพหุวัฒนธรรม 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม และเส้นทางเกษตรอัจฉริยะบนแพลตฟอร์มเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่เส้นทางคมนาคมถนนสายรอง หรือที่เรียกว่า “ถนนสายขลุง-พลิ้ว” เริ่มต้นจากกองพระเจดีย์ทรายใหญ่เก่าแก่ บ้านป่าคั่น หมู่ 4 ตำบลตะปอน ผ่านตำบลเกวียนหัก สิ้นสุดที่เทศบาลเมืองขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ระยะทางทั้งสิ้น 9.8 กิโลเมตร โดยมีระยะห่างจากถนน 1 กิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้น 15.361 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ไม้ผลมากที่สุดถึง 9.718 ตารางกิโลเมตร

พร้อมกันนั้น กลไกและเครือข่ายการยกระดับระบบนิเวศเมืองแห่งการเรียนรู้ ได้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์พื้นที่เรียนรู้อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ในรูปแบบการนำเสนอแผนที่เรื่องราว (Story Map) และศูนย์รวบรวมข้อมูลการเรียนรู้ (Digital Platform) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและง่าย อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเชิงพื้นที่ไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเมือง การถ่ายทอดเรื่องราว การวางแผนการท่องเที่ยว การพัฒนาพื้นที่ และแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย