/

ขับเคลื่อนย่านกะดีจีน-คลองสานสู่เมืองแห่งการเรียนรู้บนเศรษฐกิจฐานความรู้

Start
509 views
41 mins read

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการและกิจกรรมขับเคลื่อนการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรม และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนในย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่เปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร มาเป็นเวลากว่า 12 ปี โดยร่วมกับประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน (บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ) และภาคีพัฒนา ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และประชาสังคม แม้จะเห็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาย่านด้วยว่าในปัจจุบันชุมชนเริ่มสามารถดำเนินกิจกรรมได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของชุมชนเองยังเป็นในรูปแบบกิจกรรมรายครั้งและยังขาดการวางแผนในระยะยาว รวมถึงการดำเนินโครงการของภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ยังคงเป็นรูปแบบขับเคลื่อนการพัฒนาบนฐานพันธกิจและเป้าหมายองค์กรหรือโครงการที่ไม่สามารถสร้างฐานความรู้ให้กับพื้นที่และคนในพื้นที่เพื่อการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (Center of Excellence in Urban Strategies – CE.US.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การวิจัยและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และกลไกความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้ ย่านกะดีจีน-คลองสาน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เล็งเห็นโอกาสและศักยภาพในการต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมและต้นทุนที่สะสมในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน สู่การประยุกต์ใช้และพัฒนาสู่ผลสัมฤทธิ์จริงในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งคำถามสำคัญในงานวิจัยว่า “กลไกความร่วมมือ และตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม รูปแบบใด และมีกระบวนการอย่างไร ที่สามารถขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของย่านมรดกวัฒนธรรม อันจะช่วยยกระดับการเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่และสร้างการพลวัตเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”

เครื่องมือการพัฒนาพื้นที่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” ตามแนวคิดของยูเนสโก เหมาะสมกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครหรือไม่?

               เวลามีแนวคิดระดับสากล มาปรับใช้กับบริบทท้องถิ่น ก็เป็นโจทย์วิจัยทั่วไปที่เอามาทดสอบ อาจจะบอกก่อนว่า ยูเนสโกใช้ได้กับประเทศไทยหรือเปล่า เมืองเราเป็นเมืองในนิยามจริงๆ ของยูเนสโกหรือเปล่า เราก็พบว่า กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเมืองในเซนส์ที่ว่าไม่ได้มีอำนาจเต็ม กรุงเทพฯ คือจังหวัด แล้วเมืองในเซนส์ของความเป็น City คือเขต การที่กทม.เองมีการรวมศูนย์อำนาจไปที่กทม.กลาง เขตก็ยังไม่สามารถเลือกตั้งได้ แต่เขตเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ชุมชนที่สุด ทุกอย่างเขตต้องรอการสั่งการ หรือแค่ว่าคำว่า เรียนรู้ กับ การศึกษา ตั้งแต่ระดับกระทรวงจนถึงพื้นที่ก็มองคนละอย่างแล้ว ก็เป็นโจทย์แรกๆ เลยว่า ต้องมีการสร้างความเข้าใจก่อนมั้ยในหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ อย่างเช่นไปดูเมืองที่ใช้เรื่องของการเรียนรู้เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาก่อนยูเนสโกอีก เช่น ญี่ปุ่นหรือฝรั่งเศส คือสังคมเขาเป็นสังคมการจดบันทึก การอ่านหนังสือ คนอ่านออกเขียนได้มานานแล้ว คือคัลเจอร์ของการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แบบชั่วข้ามคืน ซึ่งสิ่งนี้ของเรามีค่อนข้างน้อย แล้วเมืองเขาก็เป็นเมืองที่เลือกตั้งโดยประชาชน อย่างที่ญี่ปุ่น เมืองก็จัดการศึกษา Municipality เองก็ทำงานร่วมกับโรงเรียน คือมันเป็นเนื้อเดียวกันมานานแล้ว แต่ก็ใช้เรื่องของเศรษฐกิจฐานความรู้มาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างชัดเจนในช่วง 90s เพราะฉะนั้นอันนี้คือเราทำได้จริงหรือเปล่า การเรียนรู้ที่คุณอยากให้ City เป็นแพลตฟอร์มในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานความรู้ ฉะนั้นก็ยังยากอยู่ แต่เราต้องทำ คือเราไม่สามารถปฏิเสธหรือหันหลัง โดยเฉพาะรัฐนะคะ กับเรื่องของการเรียนรู้ หรือเศรษฐกิจฐานความรู้ได้อีกต่อไป คือไม่สามารถจะใช้ชีวิตอยู่บนฐานเศรษฐกิจซื้อมาขายไปได้อีกแล้ว รัฐบาลก็รู้อยู่ เพียงแต่ว่ากลไกมาตรการที่จะส่งเสริมตรงนี้อยู่ที่ไหน คิดว่าเราสะสางตรงนี้ก่อน ก่อนที่จะกระโจนไปติดป้าย Learning City ยูเนสโก

               ทีนี้ในการทำงานระยะที่หนึ่ง เราสแกนแนวคิด Learning City ของยูเนสโกว่านำมาปรับใช้กับบริบทของไทยได้มั้ย ระยะที่สอง โอเค มันยากแหละ แต่ยูเนสโกเองก็เปิดช่อง ก็คือว่า ในประเทศที่มีวิกฤติหรือเรื่องเร่งด่วน คือเรายังต้องแก้น้ำท่วม ฝุ่น น้ำท่วม ฝุ่น ทุกปีอยู่เลย เอาจริงๆ ในชีวิตประจำวันก็อาจจะยากละที่คุณจะไป appreciate แล้วคุณต้องมียุทธศาสตร์ไง แล้วเราก็ยังต้องใช้รถในการเดินทาง ในขณะที่เมืองอื่นเขาไม่ต้องมาสร้างแล้ว สะพานลอย อุโมงค์ข้าม ซึ่งมันแพงนะ คือปัญหาในศตวรรษที่แล้วเขาแก้หมดแล้ว เขาก็สามารถจะเอาเงินตรงนั้นมา ทำยังไงให้คนฉลาด เข้าถึงความรู้ได้จากทุกที่ ที่เขาอยากรู้ด้วยนะ ถ้าเรามองภาพไปยังญี่ปุ่นหรือยุโรป คุณไม่ต้องรอให้สอบติดเข้าคณะจิตรกรรม ศิลปากรก่อนคุณถึงจะรู้จักโมเน่ต์ (Claude Monet ศิลปินอิมเพรสชันนิสต์ชาวฝรั่งเศส) คุณสามารถรู้จักโมเน่ต์ตั้งแต่คุณอยู่อนุบาล เพราะมันมีทุกที่ทุกเวลา แล้วถ้ามองไปที่ผังเมือง ไม่ใช่แค่ทำผัง แต่ก้าวข้ามไปละ เช่นที่ญี่ปุ่น โรงเรียนประถมที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยต้องทำให้เด็กเข้าใจบทบาท เช่น การบ้านปิดเทอม ต้องเป็นปิดเทอมกลางด้วยนะคะ ไม่ใช่ปิดเทอมปลาย เพราะครูไม่สามารถจะเทสต์ได้ เด็กก็เลื่อนชั้นไปแล้ว ปิดเทอมกลางต้องทำรายงานเกี่ยวกับเมืองตัวเอง ย่านตัวเอง อย่างเวลาที่เราอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ก็จะมีเด็กมาอยู่ในมหาวิทยาลัยตลอด มาจับตัวด้วง อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการที่มันเป็นสถานที่ การบังคับให้เด็กเข้าใจว่าย่านที่อยู่มีอะไรบ้าง ไม่ได้เกิดขึ้นโดยรัฐสั่งให้เธอจงรักวัฒนธรรมหรือใส่กิโมโน มันเกิดจากการเห็น ได้ประสบการณ์ ซึ่งทำไมเขาทำได้ เพราะเขาบังคับให้เด็กเรียนในย่านตัวเอง พ่อแม่ไม่ต้องขับรถข้ามเมืองรถติดแบบเรา แต่อยู่ที่ไหนคุณต้องเรียนตรงนั้น เด็กอยู่ใกล้ ไปเรียนเอง พ่อแม่อยู่ใกล้ครู สอนๆ กันได้ ก็กลับไปที่ Learning City ที่เชื่อมโยงในหลายมิติ และเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งก็เป็นสิ่งดีมากที่รัฐบาล หรือกรุงเทพฯ หรือเมืองต่างๆ พยายามส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ เพียงแต่ว่ามันไม่สามารถซื้อเสื้อยี่ห้อมาคลุม คือคุณต้องเข้าใจตัวเองก่อน

การทำงานในพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสานมานานมีส่วนอย่างไรกับโครงการวิจัยนี้?

               การขับเคลื่อนเมืองมีความยากอยู่ แต่ทำไมถึงทำในกะดีจีน-คลองสาน ก็ต้องบอกว่าถ้าจะทำรูปแบบนี้ มันต้องทำในที่ที่พร้อม เวลาก็น้อยนะ งบประมาณก็ไม่ได้เยอะ ถ้าหวังผลระดับเหมือนส่งคนไปนาซ่า ก็ไม่ได้สามบาทนะ คือที่กะดีจีน-คลองสานเราทำงานร่วมกันมาก็ 12 ปีนะคะ แล้วทำไมถึงเลือกไปทำตั้งแต่แรก ก็เพราะพื้นที่ยังมีวัฒนธรรมเยอะ เป็นพหุวัฒนธรรม ทุนทางสังคมก็เยอะ ที่สำคัญคือรู้จักกันมานาน เข้าใจ รู้ด้วยว่าชุมชนมีความสนใจทางด้านนี้ คือก่อนที่เราจะทำ เราก็อยู่ในเส้นทางของเขา แต่เขาก็ไม่ได้ทำกับเราคนเดียว เขาก็ทำกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ กับที่โน่นที่นี่ พอมองกลับไป สิ่งที่เขาสนใจ เขาก็รู้สึกว่าเขาอยู่ในย่านมรดกวัฒนธรรม แต่ทำไมมันก็เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ คือถ้าคุณจะเข้าไปเรียนรู้ คุณ appreciate ก่อนมั้ย รับรู้ถึงการมีอยู่ก่อนถึงจะเข้าไปเรียนรู้ ในบางที่การเข้าถึงมรดกวัฒนธรรมยังยากอยู่เลย เช่น มัสยิดเซฟี เข้าไม่ได้ ซอยแคบ ต้องตะแคงตัวเข้า เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่คุยกันมานาน ทำยังไงที่จะทำให้แหล่งของการเรียนรู้เหล่านี้เข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้า ทำยังไงเขาจะสามารถจัดการเรื่องของมรดกวัฒนธรรมให้แปลงเป็นเศรษฐกิจได้ ทำยังไงให้ย่านนี้ดึงดูดให้เราออกมาชื่นชมแหล่งมรดกได้เยอะ ก็แน่นอน ถนนหนทางต้องดี ที่สำคัญ พื้นที่ที่ใกล้แหล่งมรดกควรจะมีพื้นที่สาธารณะที่สวยงาม ไม่ใช่แบบต้องฝ่ากองขยะเข้าไป

สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมของโครงการฯ

               ก็คือที่ “สวนสานธารณะ” ซึ่งในพื้นที่ก็มีมัสยิดเซฟี บ้านเจ้าสัว โรงเกลือแหลมทอง แล้วแต่ก่อนเป็นกองขยะ โจทย์ก็ง่ายๆ เปิดออกให้มันเปล่งประกายแสงออกมา ก็ใช้ดีไซน์เข้าไป มีทีม we!park ทีมยังธนเข้ามา อันนี้คือเป็นมิติของผลผลิตที่เกิดขึ้นจริงจากที่สัญญาว่าต้องทำอะไรบ้าง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เราก็คิดว่าทั้งหมดสามารถเป็นกระบวนการของการเรียนรู้ได้ เราก็อยากจะสร้างเครือข่ายเยอะๆ แล้วเขาก็สามารถที่จะไปทำกับที่อื่นๆ ได้อีก ก็เรียนรู้พร้อมกันกับชุมชน คือกรุงเทพฯ มีที่น่าสนใจเยอะค่ะ แต่ว่าถ้าเราไม่รู้จักใคร คือใช้เวลาปีนึงทำความรู้จักยังยากเลย แต่ที่นี่คือเขาก็รออยู่ ได้เงินมา ก็มาทำต่อ คือทำไมมีเขตอยู่ แต่เขตทำไม่ได้ เพราะเขตก็มีหน้าที่ประจำของเขาเยอะแยะ แล้วเขาไม่มีคนด้วย เขาไม่มีนักผังเมือง ไม่มีนักสังคมวิทยา มันก็เหมือนเป็นมิชชันที่แทบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นประเทศอื่น มันคือ City ในการที่เป็นแพลตฟอร์มคุณจะทำได้เร็ว ซึ่งก็ขอบคุณบพท.ที่สนับสนุนและอยากบอกว่า จริงๆ แล้ว ถ้าจะทำเรื่องของ Learning City สำคัญทั้งเมืองหลัก เมืองรอง เมืองจิ๋ว เราไม่สามารถหันหลังให้กับเศรษฐกิจฐานความรู้ได้อีกแล้ว คุณไปที่ไหนคุณก็เห็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมเยอะแยะ แต่คุณจะเจียระไนยังไง ถ้าคุณจะเชื่อมเข้าสู่บริบทของเมืองให้ได้ประโยชน์กับคนในวงกว้าง ก็เลยเป็นที่มาของ Learning City ที่เราเชื่อมกับทุนทางวัฒนธรรมที่มีหลายมิติมาก เช่น โควิด คือเรารู้ข้อมูลจากไหนช่วงแรกที่เพิ่งจะมี ชาวบ้านรู้จากไหน แต่ถ้าเป็น Learning City มันมีระบบ คนจะรู้ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ในมุมของวัฒนธรรม สุดท้ายแล้วคนทำคือใคร คนทำก็ยังเป็นกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่เขต เขตยังทำไม่ได้ ลองให้เขตเลือกตั้งสิ อาจจะเปลี่ยน ถ้าเขาต้องพึ่งคะแนนเสียง ถึงไม่ใช่หน้าที่ เขาก็ต้องเต็มที่ ไม่งั้นเดี๋ยวไม่ได้รับเลือก

คือการขับเคลื่อนต้องไปทั้งโครงสร้าง เงินทุน และระยะเวลา

               เงื่อนไขสำคัญคือถ้าโครงสร้างการเมืองการปกครองไม่เปลี่ยน เราก็อยู่อย่างนี้ เพราะโครงสร้างไม่เอื้อให้การรักษาพลวัตในระดับเขต 10 ปีที่ผ่านมาที่เราเข้าไปคลุกในพื้นที่ แต่ว่าตอนนี้อายุมากขึ้น ต้องทำงานด้านกลยุทธ์มากขึ้น เราไม่มีเวลาไปนั่งคุย จัดประชุม แต่ก่อนไปได้ หลังเลิกงานก็ไป ไม่ว่างก็ไปได้ แต่ถ้าถามว่าโครงการฯ จะไปต่อได้มั้ย ก็ไปได้ แต่เรื่องของงบประมาณ ต้องมีความเป็นไปได้ คือต้องให้อาวุธคนในการจะไปทำได้จริง แล้วต้องทำต่อเนื่อง ทำไมเราถึงสร้างงานให้กะดีจีนได้ เพราะสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้ทุนยาวให้สามารถทำต่อได้ แล้วก็ไปขอทุน Rockefeller Foundation ของสสส. ให้มาทำแบบสมน้ำสมเนื้อ แต่ด้วยโครงการและกลยุทธ์ของบพท. ซึ่งมีหลายพื้นที่ เราก็เข้าใจ เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศกรุงเทพฯ ก็เฉลี่ยๆ กัน ทีมงานเราอันนี้ก็ได้แต่แต้มบุญแล้ว อย่างเราทำพื้นที่พระโขนง ทำสองปีถึงได้เรื่องได้ราว เพราะฉะนั้นเราเลือกทำจริงๆ ไม่ใช่ทำเล่นๆ เสียเวลา เสียของด้วย เงินลงไปไม่ใช่น้อย มาจากภาษีประชาชน แล้วที่สำคัญ นักวิชาการเองต้องมีความรับผิดชอบในการคิดยุทธศาสตร์ไว้ก่อน คุณไปเอาเขามานั่งคุย เขาได้อะไร ก็เกรงใจนะ ไม่ใช่เอาเขามาเป็นตัวละครจัดฉาก ประชาชนก็หาเช้ากินค่ำ ต้องดูแลลูกหลาน นอนพัก ดูทีวี เอาเขามานั่งคุยๆ กัน เหมือนเป็น group therapy แล้วมันไม่นำไปสู่อะไร ก็เสียชื่อนักวิชาการคนนั้นนะ แล้วจริงๆ ถ้าถึงจุดหนึ่ง คุณทำแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น คุณจะไม่ได้เขาอีกแล้ว ชุมชนก็เบื่อ คุยไม่รู้กี่รอบ เพราะฉะนั้น สะพานด้วนที่ได้มาเป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ถ้าตรงนั้นไม่เกิด ป่านนี้ก็สิ้นชื่ออาจารย์แดงเหมือนกัน เกิดจากการชวนคุย ทำให้เกิดอะไรขึ้น เราก็ใส่ดีไซน์ ทำกิจกรรมศิลป์ในซอย 3 วันก็ยังดี อย่างน้อยคนมาซื้อของ ทำเป็นลานสาธารณะ 3-4 อัน ระดมเงินผ้าป่าวัดประยุรฯ รอกทม.สองสามปีกว่าจะได้ทำ เนี่ยค่ะ ก็นำไปสู่สวนลอยฟ้า ถ้าสะพานนี้แล้วยังไม่เกิดอะไรขึ้นอีก เดี๋ยวอาจารย์แดงก็สิ้นชื่อ UddC เขาก็จะไม่พูดถึงอีก ถ้าโครงการปรับปรุงทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีนเสร็จก็คือการเข้าถึงความรู้ด้วยการเดิน แต่ก่อนเข้ายากนะ จะมาจากศาลเจ้าเกียนอันเกงมา มันไม่น่าเดินน่ะ จริงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย ที่ซับซ้อนคือทำยังไงให้เกิดขึ้นมากกว่า อยู่ที่กทม.กับภาครัฐ ประชาชนพร้อมอยู่แล้ว

นิยามของเมืองแห่งการเรียนรู้

เราตั้งคำถามกับคนในย่านว่า “เมืองเรียนรู้คืออะไรในทัศนะของคุณ” คุณลุงที่เกษียณ อายุ 70 ละ บอกว่า คือเมืองที่เวลาเรามีคำถามสามารถเอื้อให้เราเข้าไปหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ใช่มั้ยคะ คือฉันอยากรู้จักโมเน่ต์ เมืองก็มีมิวเซียมให้ฉันเข้าไปดู ถ้าเกษียณก็ไม่ต้องจ่ายซักบาทเข้าไปดู เรามีหรือเปล่า

ในแง่หนึ่ง ยุคสมัยนี้ความรู้อาจจะเข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ต

ก็ใช่ค่ะ ก็เรียนซูมเป็นยังไงบ้างล่ะคะ ถ้าเรียนซูมแล้วแฮปปี้ ก็ไม่มีใครอยากจะดิ้นรนมาเจอ คือมันไม่พอหรอกค่ะ เราไปมิวเซียม ก็มีอย่างอื่นที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับการเรียนรู้ ทำไมการประชุมที่สำคัญถึงซูมไม่ได้ ต้องเจอหน้า เห็นแววตา เพราะฉะนั้น อะไรที่ actually happens มันสำคัญ และที่สำคัญ เทคโนโลยีบางทีได้บางอย่างและเสียบางอย่าง แอปพลิเคชัน Grab สามารถเปิดโอกาส ร้านก๋วยเตี๋ยวตลาดพลูในตรอกซอกซอยเข้าถึงลูกค้า แต่ถามว่า กับพื้นที่ที่เขาตั้งอยู่ล่ะ ความยึดโยงของพื้นที่ไม่มีแล้วนะ การจอดรถก็เกะกะ นำมาซึ่งข้อขัดแย้ง ของบางอย่างแต่ก่อนอยู่ที่คนไปกิน ไปแล้วเห็นสถานที่ เห็นอะไร มันอ้างอิงกับสถานที่ แต่ตอนนี้อ้างอิงกับแอปพลิเคชัน ก็ได้อย่างเสียอย่าง คือจะทำยังไงให้บาลานซ์ได้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย