/

“คนยุคนั้นจะมองว่าใครมีบ้านอยู่ศรีจันทร์นั้นน่าอิจฉา  เพราะว่าทุกอย่างอยู่ที่นั่นหมด เป็นย่านที่เป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าของเมืองขอนแก่น”

Start
300 views
15 mins read

          “ตระกูลของผมเริ่มต้นมาจากรุ่นอากงท่านมาจากเมืองจีน ลงหลักปักฐานที่ขอนแก่นกับกิจการร้านโชห่วย แล้วคุณพ่อก็สืบทอดธุรกิจต่อมาอีกที ผมเป็นรุ่นที่ 3 แล้วครับ ขายของทั้งปลีกและส่งใน จ.ขอนแก่น ครอบครัวเรามีร้านและบ้านในย่านศรีจันทร์ แม้ตอนนี้ร้านใหญ่จะย้ายมาอยู่นอกเมือง แต่ทุกวันนี้เราก็ยังมีสาขาที่ศรีจันทร์ ที่ขยายมาข้างนอกเพราะต้องทำคลังสินค้า ที่ในไม่พอก็เลยต้องย้ายทั้งออฟฟิศทั้งคลังออกมาอยู่ข้างนอก แต่ทุกวันนี้เราก็ยังอาศัยนอนกันอยู่ที่ศรีจันทร์ทุกวันครับ

ส่วนตัวผมจบด้านการเงิน แต่จริง ๆ เราไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ผมชอบค้าขายกับเรื่องการตลาดมากกว่า เพียงแต่ว่าตอนเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้น มข. ยังไม่มีการตลาดให้เรียน มีให้เลือกแค่การเงิน การโรงแรม แล้วก็เศรษฐศาสตร์ ผมเริ่มเปิดร้านเล็กๆ ของตนเองตั้งแต่ปี 3 เป็นมินิมาร์ทอยู่ในมอ จะเรียกว่าโตมา และได้เรียนกับร้านโชห่วยจริง ๆ ก็คงไม่ผิด  พี่ชายกับน้องชายผมเขาไม่ชอบทางนี้ ส่วนผมชอบอยู่แล้วเป็นทุน ก็เลยรับงานต่อจากทางบ้าน ทำแล้วชอบ และสบายใจก็เลยทำมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

สำหรับร้านที่ศรีจันทร์ ผมเกิดไม่ทันยุครุ่งเรือง จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ เขาเล่าว่าที่ศรีจันทร์เมื่อก่อนบูมมากยุคนั้นน่าจะราว ๆ ปี 2510 คนยุคนั้นเขาจะมองว่าใครมีบ้านอยู่ศรีจันทร์นี่คือน่าอิจฉา เพราะว่าทุกอย่างมันอยู่ที่นั้นหมด เป็นย่านที่เป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าของเมืองขอนแก่น เพราะไม่ว่าคุณจะซื้อหนังสือ เทปเพลง เครื่องดนตรี หรือมาตัดผม หาของกิน ทุกคนต้องมาที่ถนนศรีจันทร์ แล้วก็มีสถานบันเทิงอยู่เยอะ โรงหนังก็หลายโรง เท่าที่จำได้มีไล่ตั้งแต่หน้าบ้านผมไปนะ จะมีโรงหนังเพชรสยาม โรงหนังราม่า ราชา แก่นคำ แล้วก็เจ้าพระยา

ความซบเซาของศรีจันทร์ไม่ได้เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน แต่จะค่อย ๆ เงียบลง จนคนในอย่างผมก็ไม่ทันสังเกตเห็นด้วยซ้ำไป มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่เริ่มมีการย้ายออก แล้วไม่มีใครมาอยู่แทน ซึ่งเมื่อก่อนไม่เป็นแบบนั้น กลายเป็นว่าพอร้านปิดตัว ก็จะปิดแล้วปิดเลย ธุรกิจเดิมที่ไปได้ดี ก็ต่างเติบโตขยับขยายออกไปด้านนอก กระจายกันไปตามเส้นถนนรอบเมือง   เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดและยังพูดกันมาถึงปัจจุบัน คือการไม่มีที่จอดรถ ผมจำปีแม่น ๆ ไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่ามีอยู่ปีหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ จากที่สองฝากถนนย่านศรีจันทร์จะจอดรถยนต์ได้ กลับมีการกำหนดเส้นขาว-เหลือง กับขาว-แดง ห้ามจอดกันเกือบทั้งหมดย่าน คนศรีจันทร์เขาก็บ่นกันให้แซด แต่ก็ไม่ช่วยให้อะไรเปลี่ยนแปลง ย่านก็ยิ่งซบเซาลงไปอีก เวลาจะชวนใครมาย่าน เขาจะถามเลยว่าให้ไปจอดรถที่ไหน

ในช่วง 4-5 ปีมานี้ กระแสการฟื้นฟูย่านศรีจันทร์เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น และมีการทำโครงการนู้นนี่นั้นอยู่เยอะ ตอนแรกผมก็งง ๆ จะมาทำอะไรกัน มีโทรศัพท์จากเทศบาลแจ้งมาว่าจะมีโครงการฟื้นฟูย่านเข้ามา เราฟังแล้วก็รู้สึกว่าดีจัง เขาจะมาทำเพื่อย่านของเรา  จำได้ว่าเป็นการประชุม Co-create มี Workshop ด้วย ซึ่งเป็นงานที่คนในย่านเข้าร่วมกันน้อยมาก แล้วก็เหมือนมีแค่ผมที่ไปแทบทุกครั้ง คนอื่นไปหนึ่งครั้งแล้วก็ไม่ไปแล้ว ส่วนหนึ่งผมมองว่าอาจเป็นเพราะเรื่องนี้ยังค่อนข้างใหม่สำหรับคนทั่วไป และหลายคนก็ไม่ได้อินจนต้องมา Fight หรือร่วมเปลี่ยนวิถีการค้าการขาย อย่าง CEA ที่มาจัดงานไปแล้ว 2 ครั้ง ก็น่าเสียดายเพราะช่วงจัดงานดันเป็นช่วงโควิด บวกกับจังหวัดไม่เคยจัดงานอะไรแบบนี้ คนศรีจันทร์ คนขอนแก่นหลายคนนึกไม่ออกว่างานนี่งานอะไร ทำอะไรกัน มีแค่ไฟแวบวับ ๆ บางจุดรึเปล่า กับอีกอย่างคือเรื่องของการสื่อสารกับประชาสัมพันธ์ คนยังไม่ค่อยเข้าใจ feedback ที่ผมได้ยินมา คือ ประมาณว่าการสื่อสารมันดูเป็นงานวิชาการไปหน่อยเข้าถึงยาก คนไม่เก็ท   

สำหรับในย่านพอมีการพูดถึงการฟื้นฟูย่านบ่อย ๆ ก็มีการก่อตั้งศรีจันทร์คลับ ทำหน้าที่เป็นกลุ่มที่เป็นตัวแทนของคนในย่าน ผมก็พลอยกลายเป็นตัวแทนโดยปริยาย เพราะเข้าร่วมประชุมบ่อยครั้ง จนเขามอบหมายให้เป็นประธานคลับ ทำหน้าที่เหมือนตัวเชื่อม ประสานงาน และส่งข่าวสร้างความเข้าใจกับคนในย่าน เพราะการตอบรับของคนในย่านมีไม่ค่อยมาก และไม่มีใคร respond แต่ก็ไม่ against ผมจึงรับหน้าที่สื่อสารมาบอกเล่าต่อ

เอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้มีความเป็นผู้นำที่จะคิดริเริ่มโครงการอะไรขนาดนั้น และส่วนตัวก็ไม่ได้มีเวลามากเพราะต้องดูแลธุรกิจซึ่งอยู่ในช่วงหัวเรี่ยวหัวต่อ นี่เราก็เพิ่งสร้าโกดังหลังใหม่ แต่ก็พยายามไปร่วมทุกครั้ง ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนเลยก็ คือ บรรยากาศการลงทุนของย่านเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีร้านกาแฟ แจ๊สบาร์ สถานบันเทิง คาเฟ่สอนวาดรูปขายงาน Gift น่ารัก ๆ  เป็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แรกๆ ผมก็คิดว่ามันจะอยู่รอดได้อย่างไรกัน แต่พอผ่านมา 3 ปี อะไรๆ มันดูลงตัว บรรยากาศก็เอื้อให้พวกเขาได้ริเริ่มสร้างสรรค์ ย่านก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นไม่ใช่เพียงกับคนขอนแก่น แต่คนที่มาเที่ยวขอนแก่น จากทุกสารทิศก็ต้องแวะมาศรีจันทร์”

กมลรัตน์ อภิชนตระกูล
ประธานกลุ่มศรีจันทร์คลับ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย