/

คนเราเกิดมา สิ่งสัมผัสแรกก็คือผ้า และสิ่งสุดท้ายที่จะอยู่กับร่างกายเราจนตายก็คือผ้า ผ้าคือวิถีชีวิตของมนุษย์ ผมจึงคิดว่า ทำไมเราไม่สนใจเขาหน่อยหรือ

Start
433 views
15 mins read

“ปี 2558 ผมเป็นเจ้าหน้าที่จัดทำเนื้อหานิทรรศการที่ TK Park ยะลา และมีโอกาสได้จัดนิทรรศการผ้าพื้นถิ่นภาคใต้ชื่อว่า ‘นุ่ง ห่ม พัน วิถีแดนใต้’ โดยนำผ้าโบราณจากภาคใต้ขึ้นไปจัดแสดงที่กรุงเทพฯ งานค่อนข้างใหญ่ และมีนักสะสมผ้าจากทั่วสารทิศมารับชม

นิทรรศการนี้จุดประกายให้ผมสนใจศึกษาเรื่องผ้าพื้นถิ่นในเชิงลึกอย่างมาก ขณะเดียวกัน ระหว่างที่จัดงาน ก็มีกูรูเรื่องผ้าคนหนึ่งมาทักว่ามีข้อมูลในงานจุดหนึ่งคลาดเคลื่อน ข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวกับผ้าเปอลางี ซึ่งเป็นเทคนิคการทำผ้ามัดย้อมชนิดหนึ่งในวัฒนธรรมมลายู


ข้อผิดพลาดดังกล่าวเป็นปมในใจผมมาก เพราะผมเป็นคนยะลาในพื้นที่แท้ๆ แต่กลับยังค้นคว้าข้อมูลไม่ลึกซึ้งมากพอ และนั่นทำให้ผมกลับมาศึกษาอย่างลงลึกมากยิ่งขึ้น

ยิ่งเรียนรู้มากเข้าก็ยิ่งผูกพัน จนตระหนักในคุณค่า และผันตัวมาเป็นนักสะสมผ้าโบราณ เวลาไปบ้านญาติพี่น้องในยะลาและปัตตานีทีไร ก็มักจะส่องตู้ใส่ผ้าของพวกเขา เจอผืนไหนสวยๆ ก็ถามซื้อจากเจ้าของ ก่อนจะตระเวนหาซื้อจากคนอื่นๆ

พอสะสมได้สักพัก ก็มีคนมาถามซื้อ จำได้ว่าผ้าผืนแรกๆ ที่ขายคือได้มาฟรีจากคนรู้จัก และมีคนมาขอซื้อในราคาหลายหมื่น ตอนนั้นตกใจมาก และสงสัยว่ามันเกิดอะไรกับผ้าบ้านเรา จึงพบว่าที่ราคามันแรงขนาดนั้นเพราะมีหลายผืนที่กำลังสูญหาย หรือหาซื้อไม่ได้อีกแล้วในขณะนี้


จำได้เลยว่าผมเคยมีผ้าจวนตานีอยู่หนึ่งผืน และมีคนมาขอซื้อ พอผมขายไป จากนั้นผมก็หาซื้อผ้าชนิดนี้ไม่ได้อีกแล้ว ตรงนั้นแหละคือจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งที่ผมเลิกขายผ้าโบราณ และหันมาสะสมในเชิงการศึกษาเป็นหลัก

ผมทดแทนการขายผ้าโบราณด้วยการเดินทางไปอินโดนีเซียเพื่อเลือกซื้อผ้าบาติกมาขาย ซึ่งปรากฏว่าขายดีมาก ผมเปิดร้านในตัวเมืองยะลาชื่อว่า The Deep Shops พร้อมกับขายทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม สองปีถัดมา พอมีโควิด จึงไม่สามารถเดินทางไปอินโดนีเซียได้อีก เลยไม่มีของมาขาย

หลังปิดร้าน จะให้ผมกลับไปขายผ้าโบราณผมก็ขายไม่ลง ก็เคว้งอยู่พักหนึ่ง จนเกิดไอเดียนำเทคนิคการทำผ้าโบราณมารื้อฟื้นบนผืนผ้าฝ้ายทั่วไป โดยทำแบบผ้าเปอลังงี นั่นคือการใช้เทคนิคการทำผ้ามัดย้อมด้วยวิธีการเย็บ เนา รูด ผูก มัด ย้อม และคลาย เพื่อให้ได้ผ้าที่มีสีสันและลวดลายที่สวยงาม นี่ไม่ใช่ผ้าเก่า แต่เป็นการนำเทคนิคดั้งเดิมมาใช้ ผมตั้งชื่อแบรนด์ว่า Adel Kraf ปรากฏว่าก็ได้รับผลตอบรับที่ดีอีก


ผ้าที่ผมทำจะมีสองรูปแบบหลักๆ คือ ลวดลายที่เกิดจากแพทเทิร์นที่มีอยู่แล้ว กับอีกแบบคือผมวาดลวดลายขึ้นใหม่ตามอารมณ์ โดยจะมีหนึ่งลายต่อหนึ่งผืน นอกจากนี้ ผมก็ออกแบบลวดลายใหม่ โดยตั้งใจให้อยากทำลวดลายที่สะท้อนความเป็นยะลาจริงๆ จนเกิดเป็นผ้าเปอลังงีที่ถอดแบบมาจากลวดลายแกะสลักบนหวีและกระบอกไม้ไผ่ (กระบอกตุด) ของชนเผ่าโอลังอัสลี ชนเผ่าดั้งเดิมของพื้นที่ก่อนจะมีจังหวัดยะลา เพราะผมมองว่าชนเผ่านี้เป็นเหมือนเจ้าถิ่นที่สะท้อนความเป็นออริจินัลของยะลาเด่นชัดที่สุด

ทั้งนี้ นอกจากการทำผ้าขาย ผมก็ยังคงทำงานเผยแพร่ความรู้เหล่านี้อยู่ แม้ตัวเองจะลาออกจากงานที่ TK Park Yala มาพักใหญ่แล้ว ทั้งการนำคอลเลคชั่นผ้าโบราณไปจัดแสดงที่งานยะลาสตอรี่ที่โรงแรมเมโทร รวมถึงนิทรรศการล่าสุด ‘ปกายัน มลายู’ นิทรรศการผ้าพื้นเมืองยะลาที่จัดแสดงที่ TK Park Yala เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ทุกวันนี้ยะลามีกลุ่มนักสะสมและอนุรักษ์ผ้าโบราณอยู่นับสิบกลุ่มได้ครับ โดยผมที่มีอายุสามสิบต้นๆ เป็นคนอายุน้อยที่สุด ผมจึงพยายามผลักดันให้คนรุ่นใหม่ในยะลาให้มาช่วยขับเคลื่อนการอนุรักษ์วัฒนธรรมผ้าพื้นบ้านของเรา เพราะถ้าไม่มีคนขับเคลื่อนต่อ มรดกนี้ก็อาจสูญหายไปอย่างแน่นอน ลำพังแค่ทุกวันนี้ พอถามคนนอกพื้นที่ว่าภาคใต้มีผ้าพื้นถิ่นอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะรู้จักแค่ผ้าปาเต๊ะ ทั้งที่จริงๆ ภาคใต้เคยมีวัฒนธรรมผ้าที่รุ่มรวยและหลากหลายมากๆ แต่มันกลับสูญหายไปหมด

ถ้าถามว่าอยากเห็นอะไรในเมืองยะลา ผมจึงอยากเห็นพิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นครับ เรามีวัฒนธรรมผ้าที่เป็นมรดกทรงค่ามาก แต่เมืองยังไม่มีแหล่งเรียนรู้เรื่องนี้ ซึ่งผมยินดีอย่างมากที่จะนำองค์ความรู้ที่ค้นคว้า กระทั่งผ้าที่สะสมนำไปร่วมจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ติดก็แค่ยังไม่มีงบประมาณทำให้พื้นที่เป็นรูปเป็นร่าง รวมถึงการบริหารจัดการขับเคลื่อนให้พื้นที่มีความยั่งยืน และตอบโจทย์กับยุคสมัย

ทำไมเราต้องเรียนรู้เรื่องผ้าใช่ไหม ผมขอตอบจากมุมมองส่วนตัวของผมนะครับ… คนเราเกิดมา สิ่งสัมผัสแรกของเราคือผ้า และแน่นอน สิ่งสุดท้ายที่จะอยู่กับร่างกายเราจนตายก็คือผ้า ผ้าคือวิถีชีวิตของมนุษย์ ผมก็มาคิดว่านอกจากการสวมใส่เพื่อใช้งาน ทำไมเราไม่สนใจเขาหน่อยหรือ นี่คืออาภรณ์ที่บรรจุองค์ความรู้ที่เป็นมรดกจากบรรพบุรุษของเราเชียวนะ และใช่ครับ ทุกวันนี้ผ้าหลายชนิดก็แทบไม่เหลือให้เราได้เห็นอีกต่อไปแล้ว นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมอุทิศชีวิตเพื่อสิ่งนี้”

ดุลฟิรตรี เจ๊ะมะ

นักสะสมผ้าพื้นถิ่น
เจ้าของร้าน Adel Kraf
https://www.facebook.com/adelkraf.th

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย