/

“ความที่ชุมชนตลาดใต้อยู่ติดกับแม่น้ำน่านซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักเมื่อครั้งอดีต ตลาดแห่งนี้จึงมีประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปไกลถึงรัชกาลที่ 3 หรือกว่าสองร้อยปีมาแล้ว”

Start
426 views
17 mins read

“เวลาพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก หลายคนจะคิดถึงสมเด็จพระนเรศวร พระพุทธชินราช หรือประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับรัฐชาติ ที่มักปรากฏในแบบเรียน หรือถ้าลงลึกไปอีกด้วยการไปถามคนเฒ่าคนแก่ ส่วนใหญ่พวกเขาจะนึกถึงอยู่เหตุการณ์เดียว คือเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2500 เพราะนี่เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำผู้คนจำนวนมาก เวลาไปร้านอาหารดังๆ ร้านไหนในเมือง ก็จะเห็นรูปเหตุการณ์แขวนประดับไว้เป็นที่ระลึก  


อย่างไรก็ตาม พิษณุโลกไม่ได้มีแค่สิ่งเหล่านี้เท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าพัฒนาการของเมืองตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากผู้คน โครงการวิจัยเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้พิษณุโลกที่เราทำในพื้นที่ตลาดใต้ จึงเป็นเหมือนความพยายามถ่ายทอดความเป็นมาและเป็นไปของย่านย่านนี้ เชื่อมร้อยไปกับภาพรวมของเมือง โดยมีศูนย์กลางคือผู้คน 

อาจารย์รับผิดชอบในด้านการค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในย่านตลาดใต้ โดยเริ่มเข้ามาทำโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้กรอบของโครงการย่านสร้างสรรค์ ก่อนจะต่อยอดมาเป็นโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ในปี 2564-2565 ซึ่งอย่างที่บอก ที่ผ่านมาเราแทบหาบันทึกประวัติศาสตร์ในระดับชุมชนหรือระดับย่านที่เป็นเอกสารไม่ได้เลย จึงต้องสัมภาษณ์ผู้คนในย่านให้เขาเล่าถึงพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และนำมาเทียบเคียงกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นี้เท่าที่จะหาได้

ทั้งนี้ ความที่ชุมชนตลาดใต้อยู่ติดกับแม่น้ำน่านซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในอดีต รวมถึงมีท่าเรือสำคัญๆ เราจึงพบข้อมูลว่าตลาดใต้มีประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปไกลถึงรัชกาลที่ 3 หรือกว่าสองร้อยปีมาแล้ว จากสถานะของชุมชนการค้าทางเรือในบริเวณลุ่มน้ำน่าน มีชาวจีนอพยพเข้ามาทำมาค้าขายในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ตามลำน้ำก็เต็มไปด้วยเรือนแพที่เป็นทั้งร้านค้าและที่พักอาศัย ก่อนที่จะมีการขยับขึ้นฝั่งมาสร้างบ้านเรือนบริเวณตลาดใต้เช่นปัจจุบัน

และแม้จะไม่มีรูปถ่ายหลงเหลืออยู่แล้ว แต่อาจารย์ก็ได้สัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ที่ทันเห็นบ้านเมืองก่อนเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ บ้านเรือนสมัยนั้นเป็นเรือนไม้ มีภูมิทัศน์คล้ายๆ ตลาดสามชุกที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งนี้ยังมีเรือนไม้หลายหลังที่มีระเบียงยื่นออกไปทางฝั่งแม่น้ำซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งเกิดไฟไหม้ บ้านเรือนเหล่านี้จึงไม่เหลือ มีเพียงเรือนแพที่ยังปรากฏให้เห็น พอมาราวปี 2530 ที่ทางเทศบาลมีนโยบายยกเรือนแพขึ้น เพื่อสุขลักษณะและภูมิทัศน์ของเมือง จนไม่เหลือเรือนแพที่เป็นที่พักอาศัยอยู่เลย ความคึกคักของตลาดใต้ก็ลดลงไป ซึ่งก็สอดพ้องกับที่เมืองมีการขยายตัว และมีย่านการค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยรอบ

อาจารย์ยังได้ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในการศึกษารูปแบบของอาคารสมัยใหม่ที่สร้างหลังยุค 2500 ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ที่ยังคงถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เราไม่ได้ทำแค่การสกัดองค์ความรู้ แต่ยังทำในเชิงถ่ายทอด ด้วยการชวนเด็กนักเรียนในสถาบันการศึกษาละแวกนั้นมาร่วมกันค้นคว้าประวัติศาสตร์และพัฒนาการของย่าน ชวนคนเฒ่าคนแก่มาเล่าเรื่องราวให้เด็กๆ ฟัง รวมถึงชวนนักศึกษาสาขาพัฒนาสังคมที่คณะสังคมศาสตร์มาลงพื้นที่เรียนรู้ย่านนี้ไปด้วย

ที่สำคัญ ทางอาจารย์อรวรรณ (ดร.อรวรรณ ศิริสวัสดิ์) ยังได้ทำการสัมภาษณ์ผู้คนในย่านตลาดใต้เกี่ยวกับความทรงจำของพวกเขาต่อพื้นที่ บันทึกและเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊คและวิดีโอในยูทูปไปสู่วงกว้างควบคู่ไปกับข้อมูลที่เป็นเอกสารงานวิจัยที่อาจารย์ทำ เกิดเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในยุคใกล้ที่ทำให้คนทั่วไปได้เห็นความเป็นมาและเป็นไปของย่านย่านนี้ไปพร้อมกัน

 
ซึ่งหลังจากได้องค์ความรู้และกระบวนการถ่ายทอดแล้ว เราก็จัดกิจกรรม ‘จิบชาชวนคุย’ ชวนชาวชุมชน ภาคประชาสังคมต่างๆ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นมาระดมความคิดกันว่าเราจะพัฒนาย่านแห่งนี้ไปยังทิศทางไหน ก่อนจะเกิดเป็นนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของตลาดใต้และแผนที่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมจัดแสดงอยู่ภายในโรงงิ้วตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเสือ เปิดให้ผู้ที่สนใจมาเยี่ยมชม

ยังไม่หมด ทางอาจารย์ธนวัฒน์ (ธนวัฒน์ ขวัญบุญ) หัวหน้าโครงการ เขายังได้ทำเส้นทางการท่องเที่ยวตลาด แนะนำร้านอาหารอร่อยๆ รวมถึงข้อมูลด้านสถาปัตยกรรมผ่านอาคารเก่าแก่ในย่าน เป็นสื่อที่ทำให้คนนอกเข้าใจว่าตลาดใต้คืออะไร และเราจะมาเที่ยวชมตลาดแห่งนี้ให้สนุกได้อย่างไร


และนั่นทำให้การเดินตลาดเช้าแห่งนี้ เป็นมากกว่าการจับจ่ายซื้อสินค้า แต่เป็นการสัมผัสวิถีชีวิตในตลาดเก่าควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของย่าน ที่เชื่อมร้อยเข้ากับประวัติศาสตร์ของเมือง  

ในภาพใหญ่ อาจารย์คิดว่าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ตลาดใต้ เป็นเหมือนโมเดลที่ทำให้เราได้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของย่าน คือต้นทุนที่ดีเยี่ยมสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับเมือง ทั้งการสะท้อนศักยภาพของการฟื้นฟูย่าน ไปจนถึงการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ถ้าโมเดลนี้มันไปเกิดขึ้นในย่านอื่นๆ ของเมืองเนี่ย มันก็จะช่วยธุรกิจท่องเที่ยวได้เยอะ กลายเป็นว่าจากแต่ก่อนคนมาเที่ยวพิษณุโลก จะคิดถึงแค่การไหว้พระพุทธชินราชที่วัดใหญ่ หรือสมเด็จพระนเรศวรที่พระราชวังจันทน์ เขายังมีสถานที่ที่ต้องแวะไปชม หรือไปหาของอร่อยๆ กิน และสิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนให้เมืองของเราจากการเป็นแค่เมืองผ่าน กลายเป็นเมืองที่ทุกคนต้องแวะพัก”     


ผศ.ดร.อุดมพร ธีระวิริยะกุล
รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษา
และอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย