/

“ความเงียบสงบของกาฬสินธุ์ทำให้คนอยู่มีสุขภาพจิตดีไปด้วย”

Start
151 views
10 mins read

“พี่ทำงานกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ บทบาทคือการฝึกอบรมและส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านในเขตเทศบาล เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ร่วมกับทางเทศบาล พี่เลยได้รับมอบหมายให้ช่วยประสานงานในโครงการย่อยที่ 1 เรื่องข้อมูลพื้นฐานของชุมชนในเขตเทศบาล ว่าแต่ละชุมชนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร จุดเด่น จุดด้อย รวมถึงของดีของชุมชนที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นพื้นที่การเรียนรู้

และก็เพราะพี่ทำงานตรงนี้ จึงพบว่าหลายชุมชนต่างมีผลิตภัณฑ์ วิถีชีวิต ไปจนถึงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน ที่ไม่เพียงจะต่อยอดด้วยการนำหลักสูตรการเรียนรู้ไปพัฒนาพื้นที่ แต่ยังสามารถนำผลผลิตนั้นๆ มาจำหน่ายได้ นั่นจึงเป็นที่มาของตลาดสร้างสุข ถนนคนเดินในรูปแบบตลาดวัฒนธรรม ซึ่งจัดขึ้นบริเวณรอบหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี

กลายเป็นว่าตอนนี้เมืองเรามีพื้นที่การเรียนรู้ที่สามารถแบ่งออกได้ถึง 3 ประเภท นั่นคือในศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม เช่น หอศิลป์ พื้นที่ประวัติศาสตร์ในย่านกลางเมือง และ กศน. สอง คือตามชุมชนต่างๆ ที่ทางอาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ และสาม ตลาดสร้างสุข ที่เป็นแหล่งขายสินค้า พร้อมพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ผ่านกิจกรรมที่จัดในตลาด  

ล่าสุด ภายหลังเทศบาลฟื้นฟูสวนสาธารณะริมน้ำปาว บริเวณศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตร ก็มีการทดลองเปิดถนนคนเดินวัฒนธรรมอีกแห่งเลียบลำน้ำ โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้อันหลากหลายไปเติมด้วย ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆ

สำหรับพี่ พี่มองกาฬสินธุ์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงนะ ทั้งนี้ คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง มันไม่ใช่แค่การให้ทุกคนมาประหยัดเงิน หรือปลูกพืชสวนครัวกินเองที่บ้าน แต่หมายถึงการเรียนรู้เพื่อให้ทุกคนสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง พึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด

จริงอยู่ กาฬสินธุ์เป็นเมืองเล็กๆ ที่ GDP อาจจะอยู่ระดับท้ายๆ ของประเทศ แต่ถ้าพิจารณาจากวิถีชีวิตคนที่นี่ เขาก็สามารถจัดการกับชีวิตตัวเองได้ไม่ลำบากอะไร ผู้คนส่วนมากมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบบสังคมคนพุทธ อย่างบางบ้านทำกับข้าวก็แบ่งให้เพื่อนบ้าน บ้านไหนปลูกอะไร ก็เอาผลิตผลมาแจกคนอื่น ยิ่งช่วงไหนมีงานบุญนี่ เราจะเห็นบรรยากาศอันชื่นมื่นแบบนี้ทั่วไปหมด

เมืองเราอาจไม่ได้มีมูลค่ามากมาย หรือผู้คนไม่ได้มีกำลังซื้อมหาศาล แต่เราก็มีน้ำใจที่ถือเป็นคุณค่าสำคัญ และถ้านับรวมต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมไปด้วยแล้ว ก็ถือว่าเป็นมูลค่าสำคัญต่อการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ด้วย

และอีกเรื่องที่ไม่รู้เกี่ยวหรือเปล่านะ แต่พี่เคยทำงานในจังหวัดอื่นๆ ที่ใหญ่กว่านี้มาก่อน พอย้ายมาอยู่นี่ ตอนแรกก็ยังไม่ชินหรอกที่เมืองมันค่อนข้างเงียบ แต่ความเงียบของมันก็ทำให้เวลาพี่เดินทางไปไหน ก็สะดวก หาที่จอดรถง่าย อย่างเคยไปทำงานในเมืองร้อยเอ็ดมา หาที่จอดรถในตัวเมืองยากมาก แค่เหตุการณ์เล็กๆ แค่นี้ ก็ทำให้เราหงุดหงิดได้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่เกิดกับกาฬสินธุ์

ไม่ใช่เพราะเมืองหาที่จอดรถง่ายหรอกนะ แต่พอวิถีของเมืองมันราบรื่น จนทำให้คนอยู่มีสุขภาพจิตดีไปด้วย”

วิภารัตน์ กำจร
นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย