จุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดในการปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์แก่เด็กๆ ก็คือการฝึกให้เขาเป็นคนรู้จักช่างสังเกต และมั่นตั้งคำถามต่อความหลากหลายรอบตัว

Start
822 views
14 mins read

“แม้จังหวัดยะลาจะไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่ก็กลับมีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ที่น่าสนใจตั้งแต่พื้นที่เมือง ท้องไร่สำหรับทำการเกษตร พื้นที่ชุ่มน้ำ ผืนป่า และภูเขา ทั้งนี้ยะลายังต่างจากสามจังหวัดในชายแดนใต้ที่ต่างมีป่าเขตร้อนชื้นมลายูเหมือนกัน คือยะลามีผืนป่าฮาลาบาลา ที่มีเขตภูเขาฮาลาเป็นภูเขาสูง เป็นป่ามลายูบนพื้นที่สูงแห่งเดียว และเป็นที่อยู่อาศัยของนกหายากอย่างนกไต่ไม้สีน้ำเงิน นกแว่นภูเขา และอื่นๆ ซึ่งมีให้ดูที่นี่ที่เดียวในไทย  

ภูมิศาสตร์ที่หลากหลายเช่นนี้นำมาซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และองค์ความรู้มากมายมหาศาลที่เกี่ยวเนื่องกัน พวกเราจึงคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ถ้าองค์ความรู้เหล่านี้มันไม่ถูกเผยแพร่ ได้ทำให้เยาวชนในยะลาตระหนักถึงคุณค่าอันนำมาซึ่งการอนุรักษ์ หรือการใช้เป็นทุนในการพัฒนาเมืองของเราต่อไป

โครงการยะลาศึกษา: ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ยะลา เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของจังหวัดยะลา และนำสิ่งเหล่านี้เข้าสู่แนวทางพัฒนาพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเมืองควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านพหุวัฒนธรรม  

แม้เราเห็นว่าป่าฮาลาบาลามีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจมาก แต่ก็เป็นเรื่องยากในการจัดกิจกรรมให้เยาวชนในยะลากว่า 10 ชีวิตเดินทางไปศึกษา เลยคิดถึงพื้นที่ที่เป็นต้นแบบความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่ไม่ไกลจากเมืองนักอย่างผืนป่าพรุลานควาย พื้นที่ป่าชุ่มน้ำขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้ความหลากหลายใกล้บ้านกัน


โดยเราชวนเด็กๆ ทดลองสวมบทนักวิจัยลงพื้นที่พรุลานควายไปสำรวจมิติทางชีวภาพและวิถีชาวบ้านที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ให้พวกเขาสังเกตสิ่งรอบตัวและถ่ายรูปพืชและสัตว์ที่สนใจและส่งมาแลกเปลี่ยนกันดู รวมถึงส่งไปยังฐานข้อมูลกลางที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านชีวภาพคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาได้พบมา

ทั้งนี้ ทั้งการลงพื้นที่ป่าพรุลานควาย และการทำรีเสิร์ชกับเยาวชน ทำให้เราพบว่าเด็กๆ หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่ายะลาเรามีสัตว์หายากที่ทั้งชีวิตเขาไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย เช่น นก งู และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รวมถึงเมื่อเรานำรูปถ่ายสัตว์บางชนิดให้พวกเขาดู และถามว่าเคยเห็นตัวเหล่านี้ไหม เขาบอกว่าไม่เห็น แต่พอเราเปิดคลังเสียงให้ฟัง พวกเขากลับคุ้นเคย บอกว่าเคยได้ยินเสียงแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเจ้าของเสียงมีหน้าตาเป็นอย่างไร

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ วิถีชีวิตพวกเราซ้อนทับไปกับระบบนิเวศของธรรมชาติ เพียงแต่เราไม่เคยสังเกตมาก่อน ซึ่งพอเราชวนให้น้องร่วมกันออกแบบนิทรรศการเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในงานยะลาสตอรี่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา น้องๆ ก็หยิบความใกล้ตัวตรงนี้มานำเสนอให้แก่คนอื่นๆ ต่อไป รวมถึงเรื่องการใช้เสียงของสัตว์ที่หลายคนคุ้นเคยแต่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาของพวกมันมานำเสนออย่างสร้างสรรค์

หลายคนอาจไม่ทราบว่าประเทศไทยเราอยู่ในเขตร้อนชื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งมันยังมีการเชื่อมต่อของระบบนิเวศที่น่าสนใจ เช่น นกจากทางมาเลเซียที่บินขึ้นมาอยู่ในป่าภาคใต้ นกจากอินเดียบินมาอยู่ภาคเหนือ นกจากเวียดนามบินมาอยู่อีสาน ความหลากหลายเหล่านี้ ถ้าเราไม่รู้ ก็จะไม่มีทางเข้าใจคุณค่าของมันได้เลย และพอคนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่า กระบวนการอนุรักษ์ก็ไม่เกิด ถึงจุดจุดหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างที่หาที่ไหนไม่ได้มันก็อาจสูญหายไปตลอดกาล

พวกเราจึงมองว่าการเรียนรู้และหาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนคือคำตอบ เมื่อมีการบริโภค เราก็ต้องคิดถึงการชดเชยคืนกลับ เพราะมันไม่ใช่แค่ความยั่งยืนของธรรมชาติ แต่มันคือความยั่งยืนของคนรุ่นหลัง เรามองว่าจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดในการปลูกฝังเรื่องนี้แก่เด็กๆ คือการทำให้พวกเขาเป็นคนรู้จักสังเกตและตั้งคำถามต่อความหลากหลายรอบตัว เช่นที่เราตั้งใจให้เด็กๆ ได้ถ่ายรูปพืชและสัตว์รอบตัวและค้นหาชื่อของพวกมันมารวมกันเป็นฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของจังหวัดยะลา

พร้อมกับการเติบโตของฐานข้อมูล เราเชื่อว่าจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ก็จะเกิดและแผ่ขยายไปสู่เยาวชนคนอื่นๆ ต่อไปด้วยเช่นกัน”  

ศุภราภรณ์​ ทวนน้อย อาจารย์คณะวิทยาการการสื่อสาร

ดร.ธนากร จันทสุบรรณ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

และคณะนักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ยะลา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย