จุดแข็งของชุมชนท่ามะโอ นอกจากต้นทุนทางประวัติศาสตร์ คือการที่มีคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ กลุ่มคนทำงานด้านสื่อมาร่วมกันขับเคลื่อน

Start
572 views
13 mins read

“ถ้าพิจารณาจากความเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของเมือง ท่ามะโอถือเป็นชุมชนที่มีต้นไม้ใหญ่และร่มรื่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศเลยนะครับ หลายคนจดจำที่นี่ในฐานะที่ตั้งขององค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสัมปทานค้าไม้กับอังกฤษ รวมถึงที่ตั้งของบ้านไม้สักสวยๆ มากมาย แต่ในอีกมุม ที่นี่เป็นชุมชนเก่าแก่ที่เป็นจุดเชื่อม 3 เมืองโบราณสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองลำปาง ซึ่งก็ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคก่อตั้งเขลางค์นครนั่นเลย โดยโบราณสถานหลายแห่งก็ตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านไม้เก่าแก่ในยุคสัมปทานค้าไม้อย่างกลมกลืนและมีเสน่ห์

ชื่อเต็มของโครงการที่ผมรับผิดชอบคือ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และกระบวนการสร้างคุณค่าจากทุนทางสังคมวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยเสน่ห์ทางการท่องเที่ยววิถีชีวิตย่านท่ามะโอ’ ซึ่งเริ่มจากการสำรวจข้อมูลจากชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางภูมิทางสังคมวัฒนธรรม รวมถึงเอกสารต่างๆ เพื่อสกัดภูมิวัฒนธรรมของย่าน 5 ภูมิ ได้แก่ ภูมิหลัง ภูมิวงศ์ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา และภูมิธรรม จากนั้นก็จัดเวทีเสวนาในชุมชนเพื่อหาแนวทางในการจัดทำฐานข้อมูล สื่อดิจิทัล และแผนที่ทางวัฒนธรรมจากภูมิทั้งห้า

เราพบว่าด้วยความที่ชุมชนท่ามะโอเป็นชุมชนที่โดดเด่นในด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยว กระทั่งบ้านเสานักที่เป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญก็ยังต้องปิดทำการชั่วคราวมาจนถึงวันนี้ ควบคู่ไปกับการสร้างแผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ เราจึงคิดเครื่องมือที่มีส่วนในการประชาสัมพันธ์พื้นที่ไปด้วย นั่นคือ AR Tourism Guidebook หรือโปรแกรมการท่องเที่ยวเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality ซึ่งทำให้ต่อให้คุณอยู่ต่างจังหวัด คุณก็สามารถเข้าไปสำรวจภายในบ้านเก่าหรือภายในย่านท่ามะโอราวกับไปมาจริงๆ โดยนำร่องจากบ้านหลุยส์เป็นแห่งแรก ซึ่งไม่เพียงเรามองว่าสิ่งนี้จะช่วยดึงดูดให้คนที่ได้ชมอยากจะมาชมในพื้นที่ด้วยตัวเองในอนาคต แต่ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาสถาปัตยกรรม ศิลปะ และวิถีชีวิตของผู้คนในย่านต่อผู้ที่สนใจไปพร้อมกัน

พร้อมไปกับการพัฒนา AR Tourism Guidebook เราก็ได้ร่วมกับชุมชนออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะ 4 เส้นทาง ได้แก่ หนึ่ง. เส้นทางสำรวจเมืองเก่าเชื่อมเส้นทางการค้าใหม่ในย่าน เส้นทาง สอง. เส้นทางสายมู พาไปชมงานพุทธศิลป์ ไหว้พระ ขอพร และบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดสำคัญๆ สาม. เส้นทางตามรอย 3 เวียงโบราณ และเส้นทางสุดท้าย คือ ท่ามะโอ Retro Art and Craft สำรวจความร่ำรวยทางศิลปะและหัตถกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเส้นทางเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เดินเท้าหรือปั่นจักรยานสำรวจได้สบายๆ รวมถึงกำลังผลักดันให้กลายเป็นเส้นทางรถม้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของลำปางด้วย เพราะในย่านเองก็เป็นที่ตั้งของ ‘บ้านม้าท่าน้ำ’ พื้นที่การเรียนรู้เกี่ยวกับรถม้าและศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของเมือง

นอกจากนี้ เราตั้งใจให้พื้นที่เรียนรู้ในย่านไม่หยุดนิ่ง จึงมีการวางแผนจะจัดนิทรรศการหมุนเวียนภายในบ้านหลุยส์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังหวังจุดประกายให้ผู้คนเห็นถึงบทบาทของบ้านหลังนี้มากกว่าจะเป็นจุดเช็คอินและแวะถ่ายรูป เช่นเดียวกับกิจกรรมข่วงผญาภูมิปัญญาท่ามะโอ ที่ชักชวนให้สล่าในชุมชนสาธิตการทำงานหัตถกรรมอันหลากหลาย และเปิดให้ผู้ที่สนใจมาเรียนรู้ โดยจัดหมุนเวียนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วย่าน

ผมพบว่าจุดแข็งของชุมชนท่ามะโอที่เห็นนอกจากต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่เล่ามาแล้ว คือการที่มีคนรุ่นใหม่กลับมาร่วมกันขับเคลื่อนย่าน ทั้งผู้ประกอบการที่รวมตัวกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสอดคล้องกับบริบทของย่าน ไปจนถึงกลุ่มคนทำงานด้านสื่อเพื่อชุมชน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็ร่วมทำงานกับผู้เฒ่าผู้แก่ในย่านได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าถ้ายังมีการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป ท่ามะโอจะเป็นมากกว่าพื้นที่ต้นแบบในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนซึ่งมีชื่อเสียงมานานแล้ว แต่จะเป็นชุมชนต้นแบบของการขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมโดยคนทุกรุ่น”

ณัฏฐวรรธน์ สุภาจันทรสุข
นักวิจัยโครงการลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง

(การพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย