ชาวสวนเฟื่อง วิถีประมงฟู ว่าด้วยแหล่งเรียนรู้อันแสนฟูเฟื่องของ ‘ปากพูน’ ชุมชนหน้าอ่าวเมืองนคร

Start
842 views
42 mins read

ผศ.ดร. ดำรงพันธ์ ใจห้าววีระพงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เล่าให้เราฟังว่า คำว่า ‘ปากพูน’ ซึ่งเป็นชื่อของตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เป็นชื่อที่ถูกเรียกตามสัณฐานของปากแม่น้ำที่เชื่อมลำคลองหลากสาขาของชุมชนสู่อ่าวไทย

          “คำว่าปากพูนมาจากปากน้ำทะเลที่พูนขึ้นไป พูนเป็นภาษาใต้แปลว่า เยอะ มาก หรือล้นออกไป ด้วยลักษณะแบบนี้ ภูมิศาสตร์ของมันจึงเป็นที่สังเกตง่าย ทั้งทางเรือและทางอากาศ ขณะเดียวกันก็มีร่องน้ำอีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลจากกันคือปากนคร ทั้งสองแห่งนี้เป็นเส้นทางคมนาคมจากอ่าวไทยเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช”

          อยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชราว 20 นาทีด้วยการขับรถ แม้ปากพูนจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ หาก ผศ.ดร. ดำรงพันธ์ บอกว่าคนนครศรีธรรมราชเองยังรู้จักปากพูนน้อยกว่านักท่องเที่ยวเสียอีก

          “ข้อแรกเลยก็คือนักท่องเที่ยวรู้จักตำบลปากพูนในฐานะที่ตั้งของสนามบินนานาชาตินครศรีธรรมราช ข้อต่อมาก็คือที่นี่เป็นแหล่งอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และชาวประมงในพื้นที่ก็ส่งอาหารทะเลไปสู่ตลาดและภัตตาคารในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด และที่สำคัญคือ ที่นี่เป็นที่ตั้งของอุโมงค์ป่าโกงกางซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นป่าอะเมซอนเมืองไทย

“แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่เราอยากพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้หรอกครับ” ผศ.ดร. ดำรงพันธ์ กล่าว

          แล้วอะไรเป็นสาเหตุล่ะครับ เราสงสัย

          “ผมมองว่าบริบทดั้งเดิมของพื้นที่เขามีต้นทุนที่ดีและมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งภาวะโรคระบาดและการเมือง ศักยภาพที่มีจึงลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด จึงคิดว่าถ้าเราใช้กลไกเมืองแห่งการเรียนรู้เข้าไปขับเคลื่อนในพื้นที่ ศักยภาพดั้งเดิมไม่เพียงจะกลับมา แต่อาจจะยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้นอีกได้” ผศ.ดร. ดำรงพันธ์ ตอบ

           การยกระดับการเรียนรู้ของประชาชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านพื้นที่การเรียนรู้ ด้วยกลไกความร่วมมือระดับเมือง ภายใต้ฐานทรัพยากรชีวภาพและอัตลักษณ์วัฒนธรรม ยกระดับเมืองปากพูน ตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) คือชื่อของโครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้รับทุนจาก บพท. เพื่อมาขับเคลื่อนพื้นที่ 

          โครงการดังกล่าวที่เราขอเรียกชื่อย่อว่า ‘โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ปากพูน’ ประกอบด้วยโครงการย่อย 5 ได้แก่

  • การพัฒนาอุโมงค์โกงกางสู่พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
  • เกลอปากพูน: การสร้างกลไกความร่วมมือในชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของชาวปากพูน
  • พร้าวผูกเกลอ: สร้างพื้นที่เรียนรู้ผ่านเครือข่ายสวนมะพร้าวชุมชน
  • ทุนประวัติศาสตร์ปากพูนเพื่อสร้างความภูมิใจในท้องถิ่นและฟื้นฟูทรัพยากร
  • การประเมินและพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชาวชุมชนปากพูน

สองเดือนหลังโครงการสิ้นสุดในเฟสแรก (ระยะเวลาดำเนินโครงการวิจัยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2565) WeCitizens สนทนากับ ผศ.ดร. ดำรงพันธ์ ใจห้าววีระพงศ์ หัวหน้าโครงการ ถึงที่มาที่ไป และผลสำเร็จในการสร้างกระบวนการการเรียนรู้จากทรัพยากรในพื้นที่ สู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชาวปากพูนในปัจจุบัน

ก่อนอื่นครับ ทำไมพื้นที่การเรียนรู้ของโครงการอาจารย์ต้องเป็นเทศบาลเมืองปากพูน ทั้งๆ ที่ถ้ามองในเชิงต้นทุนและทรัพยากรของจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ใช่ครับ ถ้าไล่เรียงโครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการวิจัยที่ทำกับชุมชนเป็นปกติ โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย โครงการU2T และอื่นๆ จะเห็นว่าทั้งเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เทศบาลเมืองทุ่งสง เทศบาลปากพนัง และเทศบาลเมืองปากพูน ล้วนมีลักษณะเฉพาะตัวและศักยภาพที่สามารถต่อยอดเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ทั้งนั้น

อย่างไรก็ดี ผมพบว่าปากพูนมีมิติของผู้คนอันหลากหลายทั้งเชิงทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ รวมถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่น่าสนใจ กล่าวคือนอกจากมิติทางการท่องเที่ยวหรือมุมมองที่เป็นที่รู้จักจากคนภายนอก หากเมื่อมองกลับมาที่คนท้องถิ่น กระทั่งคนปากพูนเอง กลับยังไม่รู้จักความเป็นปากพูนมากเท่าที่ควร รวมถึงการที่ชาวบ้านในชุมชนเคยสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมเป็นของตัวเองเพื่อสนับสนุนการทำมาหากิน แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างในรอบหลายปีหลังมานี้ ทำให้ลักษณะพิเศษดังกล่าวค่อยๆ เลือนหายไป

ที่สำคัญ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นของปากพูนก็ถือว่าเข้มแข็งมาก และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเรามาตลอด ทั้งอดีตนายกเทศมนตรีในปีที่โครงการเราขับเคลื่อน รวมถึงปลัดเทศบาลหลายท่านก็เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชด้วย หรืออย่างนายกเทศมนตรีที่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่ (ธนาวุฒิ ถาวรพราห์ม) ก็เป็นคนในพื้นที่ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาอยู่แล้ว ทุกอย่างจึงมีความพร้อมในการขับเคลื่อนพื้นที่ด้วยกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้

หนึ่งในเป้าหมายของโครงการคือการทำให้คนปากพูนเรียนรู้และรู้จักคุณค่าของความเป็นปากพูน ผมจึงสงสัยว่าก่อนลงพื้นที่เพื่อเริ่มโครงการ อะไรที่ทำให้คนปากพูนไม่รู้จักความเป็นปากพูนครับ

น่าจะเพราะความสมบูรณ์แต่ไม่สมดุลครับ ผมเห็นว่าทรัพยากรในชุมชนสมบูรณ์อยู่แล้วครับ เพียงแต่ยังขาดการจัดสรรทรัพยากรให้สมดุล อีกทั้งในชุมชนมีกลุ่มทางวิชาชีพหลายกลุ่ม แต่ยังไม่สามารถรวมตัวกันในระดับวิสาหกิจชุมชนได้ หรือยังไม่มีการรวมเครือข่ายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ การทำงานในพื้นที่ของตัวเองไปตรงนี้แหละที่ทำให้คนปากพูนอาจไม่เห็นว่าบ้านเกิดของพวกเขามีของดีมากมายกว่าที่รู้เยอะ และถ้าได้ทั้งความร่วมมือและองค์ความรู้ใหม่ๆ มาปรับใช้กับสิ่งที่ทำอยู่เดิม จะสามารถต่อยอดได้มาก

โครงการของเราจึงปวารณาตัวเป็น facilitator เป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือตัวกลางที่ใช้ความรู้ทางวิชาการไปร่วมขับเคลื่อน หรือกระทั่งประวัติศาสตร์ชุมชน ที่ผู้คนในพื้นที่รับรู้ผ่านการบอกเล่าปากต่อปาก เราก็เข้าไปช่วยทำข้อมูลให้เป็นลายลักษณ์ให้ทุกคนได้เห็นต้นทุนของความหลากหลายในพื้นที่

ในมุมมองของอาจารย์ มีทรัพยากรไหนในปากพูนที่เห็นว่ามีความโดดเด่นหรือน่าจะบอกเล่าบ้าง

มีหลายส่วนมากครับ ส่วนหนึ่งก็ของภาคธุรกิจ เช่นค้าขายในตลาด และที่นี่ยังมีตลาดค้าขายต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองนคร ธุรกิจจึงครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมดินเผาสำหรับทำกระถางต้นไม้ ปุ๋ย ไปจนถึงอุปกรณ์ในการดูแลต้นไม้และการเกษตร อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของมะพร้าวที่มีตั้งแต่ต้นจนปลายน้ำ ตั้งแต่ปลูกมะพร้าว ขายกากมะพร้าว ขายลูกมะพร้าว ไปจนถึงการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว เช่น น้ำตาลมะพร้าว ซึ่งยังส่งต่อไปยังร้านค้าในชุมชน โดยเฉพาะร้านเหนียวห่อกล้วย หรือข้าวต้มมัดในภาษากลาง ผมกล้าการันตีเลยว่าเหนียวห่อกล้วยของปากพูนนี่อร่อยและมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ

และแน่นอน ความที่ปากพูนติดทะเล ธุรกิจประมงจึงคึกคักมาก และชาวบ้านก็สร้างนวัตกรรมจับสัตว์น้ำเป็นของตัวเองอย่างชาญฉลาด มีการทำหมรัม หรือบ้านปลา ซึ่งจับสัตว์น้ำได้มาก จนสามารถนำมาต่อยอดเป็นอาหารทะเลแปรรูปได้อีก  อีกเรื่อง ผมมองว่าปากพูนน่าจะเป็นที่เดียวในประเทศที่มีการทำนากุ้งธรรมชาติขนาดใหญ่ ในระดับ 100 ไร่ต่อบ่อ บางครัวเรือนก็ทำบ่อปลากะพง และปู ซึ่งสัตว์ทะเลที่นี่มีขนาดใหญ่มากๆ

ผมอ่านเจอมาจากเอกสารสรุปงานวิจัยว่าในเบื้องต้นทางโครงการสำรวจพบว่าในปากพูนมีทรัพยากรมากถึง 11 เรื่องที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ แต่สุดท้ายทางนักวิจัยเลือกพัฒนาเป็น 5 โครงการย่อย อาจารย์ใช้อะไรเป็นเครื่องชี้วัดในการออกแบบโครงการย่อยเหล่านี้ครับ

เราใช้เทคนิคสโนว์บอล (snow ball) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (in depth interview) กับผู้คนในชุมชน เพื่อสำรวจทรัพยากรและเรื่องของภูมิปัญญาในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง และก็พิจารณาว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้างที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ไปพร้อมกับต่อยอดทรัพยากรเหล่านั้นในเชิงเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น มะพร้าว เราพบว่าหนึ่งในของดีเมืองปากพูนก็คือการเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัด มะพร้าวที่นี่ให้ผลดกและไม่ได้มีลำต้นที่สูง ทำให้ชาวบ้านเก็บลูกง่าย เรียกได้ว่ามีทรัพยากรเหลือเฟือจนสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เราก็พยายามเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการสวนมะพร้าวในพื้นที่เข้าด้วยกัน

หรือในป่าโกงกางของชุมชนที่มีพื้นที่เยอะมาก นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวบ้านก็มีการนำทรัพยากรหลายสิ่งหลายอย่างในนั้นมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโดดเด่นของการใช้ภูมิปัญญาในการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งรสชาติและคุณภาพดีออกมาจำหน่าย ขณะเดียวกันเราก็พยายามยกระดับอุโมงค์ป่าโกงกางให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ผ่านรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

เช่นเดียวกับการแปรรูปอาหารทะเลที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มแม่บ้านในปากพูน อย่างที่ทราบกันว่าปากพูนขึ้นชื่อเรื่องการทำประมงอยู่แล้ว แต่การแปรรูปอาหารทะเลนี่เป็นแนวคิดต่อยอดที่มาทีหลัง เราสามารถเข้าไปต่อยอดด้วยการทำ learning space ในพื้นที่ผ่านการทำตลาดไปพร้อมกัน จนเกิดเป็น ‘ตลาดความสุขชาวเล’ ตลาดจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปและผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านขึ้นมาได้ รวมถึงวิถีการทำสวนสมรมของชาวบ้าน สวนสมรมเป็นคำใต้แปลว่าสวนเกษตรผสมผสาน ซึ่งครอบคลุมไปถึงการทำประมงพื้นบ้าน และปศุสัตว์ในพื้นที่เดียว สวนสมรมให้ผลผลิตที่หลากหลายมาก ทั้งส้มโอทับทิมสยาม ฝรั่ง พืชผัก ไปจนถึงปศุสัตว์ ทางเราก็ใช้โมเดลเดียวกับตลาดความสุขชาวเลขึ้นมา คือการสร้างพื้นที่กลางเพื่อจัดจำหน่ายผลิตผลของชาวบ้านในชื่อตลาดความสุขชาวสวน

เห็นว่าทั้งอุโมงค์ป่าโกงกางกับตลาดความสุขชาวเลและชาวสวน ล้วนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมกัน

นั่นเป็นความตั้งใจหลักของเราครับ การท่องเที่ยวและการค้าคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่เรียนรู้ยั่งยืนได้ ขณะเดียวกัน เราก็สามารถเชื่อมพื้นที่ทั้งสามเข้าด้วยกันผ่านกิจกรรมการนั่งเรือในคลองท่าแพ รวมถึงพื้นที่เรียนรู้อื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว ก็ช่วยทำให้เจ้าของเรือมีรายได้เพิ่มขึ้นในอีกทาง ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจในชุมชนดี แน่นอนที่ผู้คนในชุมชนย่อมจะมีความสุข  

แล้วระหว่างที่ทีมวิจัยของอาจารย์ลงพื้นที่ มีวิธีการโน้มน้าวให้ชาวบ้านเข้าใจและเข้าร่วมกับเราอย่างไรบ้าง
ตรงนี้ไม่ถือเป็นงานหนักอะไรเลยครับ ทุกคนอยากเห็นการพัฒนาในพื้นที่อยู่แล้ว กลุ่มของผู้นำชุมชนมีความแอคทีฟกับเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านกระจาย (กระจาย ชวาสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลปากพูน) ที่เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรวมกลุ่มชาวบ้านจนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาได้

แล้วในระดับเทศบาลล่ะครับ
นายกธนาวุฒิท่านรับเรื่อง โดยปล่อยให้เราทำเต็มที่ แต่ท่านก็ไม่ได้มาร่วมงานกับเรานัก เพราะท่านมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ของเทศบาลอยู่แล้ว ซึ่งหลายสิ่งก็สอดคล้องกับโครงการเรา เช่นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การยกระดับพื้นที่เรียนรู้เพื่อกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุ ต่างมีทิศทางเดียวกัน แต่เน้นที่กลุ่มเป้าหมายคนละแบบ นอกจากนี้ ที่ท่านไม่ได้เข้าร่วมกับเรา ส่วนหนึ่งอาจเห็นว่านี่เป็นโครงการวิจัยที่มีกรอบเวลาทำงานจำกัดด้วย

พูดถึงกรอบเวลาที่จำกัด เลยขอถามต่อว่าแล้วทางโครงการมีการวางกลไกในการขับเคลื่อนพื้นที่ต่อไว้ไหมในกรณีที่ในปีต่อไป เราไม่ได้รับทุนจาก บพท. ต่อแล้ว

ข้อแรกเลยคือ เราสร้างตลาดขึ้นมาก็เพราะเห็นว่าถ้าพื้นที่การเรียนรู้มันจะยั่งยืนได้ มันก็ควรต้องเลี้ยงตัวเองจากการทำธุรกิจได้ และอีกข้อ ซึ่งตรงนี้น่าสนใจ ที่ บพท. สนับสนุนงบประมาณโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ เขาก็มีกลไกการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมพ่วงมาด้วยแล้ว งานวิจัยที่พวกเราทำกัน หาใช่แค่การสกัดองค์ความรู้ออกมาอย่างเดียว แต่มันสามารถประยุกต์เป็นกระบวนการสร้างมูลค่า

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเนี่ยถ้าวิจัยเรื่องน้ำผึ้ง นักวิจัยก็จะมาวิเคราะห์สารสกัดจากน้ำผึ้งหรือภูมิปัญญาเก็บน้ำผึ้ง แต่ทุน บพท. เขาวางกลไกว่าถ้าวิจัยเรื่องน้ำผึ้งแล้ว เราควรจะมีวิธีการทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งนี้อย่างไร เป็นต้น

เมื่อก่อนไม่เคยมีงานวิจัยแบบไหนมาถึงทำให้เป็นตลาดความสุขชาวเล ไม่เคยมีงานวิจัยไหนทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งเกิดมาได้ ไม่เคยมีงานวิจัยไหนที่ทำให้ยกระดับปลากระบอกร้ามากลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เขาขายได้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น หรือชาวสวนมะพร้าวดั้งเดิมอยู่มาวันหนึ่งเขาก็สามารถขายน้ำตาลมะพร้าวคาราเมลเป็นสินค้าอีกอย่างหนึ่ง เหล่านี้ก็ทำให้ชาวบ้านสนุกกับการร่วมกิจกรรมของโครงการเรามากขึ้นด้วย ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมของ บพท. ที่ทำให้งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง และสามารถนำมาพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้

เป็นงานวิจัยที่ทำให้เราได้ฐานข้อมูลของชุมชนที่เป็นระบบพ่วงด้วยแนวทางการทำมาหากิน

ผมมองว่าต่อไปในอนาคตข้างหน้า ถ้าเราจะทำในภาพที่มีอิมแพคกว้างขว้างขึ้น เช่นการเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก เราก็มีฐานข้อมูลตรงนี้ถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบพร้อมแล้ว หากท่านนายกเทศมนตรีอยากพัฒนาพื้นที่ของตัวเองให้มีชื่อเสียงระดับประเทศหรือนานาชาติ สิ่งที่เราเริ่มตรงนี้แหละคือต้นทุนที่ดี ซึ่งจะทำให้ชาวปากพูนมีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตัวเอง เหมือนที่เชียงใหม่ หรือพะเยา ทำ ผมมองว่าความสุขตรงนี้มันก็ย้อนกลับคืนสู่ชุมชนมากทีเดียวครับ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย