/

ความท้าทายสำคัญของชุมชนท่ามะโอตอนนี้คือ เรายังไม่สามารถเปลี่ยนให้ชุมชนเป็นมากกว่าสถานที่ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถ่ายรูปเช็คอินเฉยๆ ได้

Start
524 views
12 mins read

“ก่อนจะกลับลำปาง ผมทำงานดูแลระบบไอทีให้โรงงานที่จังหวัดระยอง ทำอยู่สองปี แล้วอยากกลับมาอยู่บ้าน เลยลาออก มาสมัครทำงานแผนกไอทีของโรงพยาบาลเอกชนที่เชียงใหม่ แต่พบว่าในสายงานใกล้เคียงกัน เงินเดือนที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือแล้ว ยังน้อยกว่าเงินเดือนที่ระยองหลายเท่า นับประสาอะไรกับลำปาง ผมเชื่อนะว่าถ้าฐานเงินเดือนในต่างจังหวัดมันดีกว่านี้ คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเขาก็ไม่อยากดิ้นรนในเมืองใหญ่หรอกครับ

ผมทำงานอยู่เชียงใหม่ได้พักหนึ่ง ก็ได้งานที่ธนาคารในลำปาง แต่ตอนนั้นเริ่มมีความคิดอยากทำธุรกิจของตัวเองแล้ว ซึ่งก็มีพี่คนหนึ่งไปชวนเรียนทำขนมเค้ก พอไปเรียนแล้วพบว่าเราสนุกกับมัน จากนั้นก็เรียนทำขนมปัง และขนมอื่นๆ จนชำนาญและเริ่มทำส่งขายตามร้านกาแฟในจังหวัด

ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าตัวเองจะเป็นคนทำขนม จากที่ทำสนุกๆ หารายได้เสริม ความที่ธนาคารต้นสังกัดเขาอยากให้ผมย้ายสาขาไปอยู่ต่างจังหวัด แต่ผมก็ต้องดูแลคุณตาและคุณยาย ก็เลยตัดสินใจลาออกมาทำขนมขายอย่างเดียว ตอนนั้นมีลูกค้าที่เราต้องส่งประจำพอสมควร ซึ่งก็ทำให้ผมมีรายได้พอจะเป็นอาชีพจริงจังได้แล้ว ทำอยู่ครึ่งปี คุณยายก็ชวนให้ผมมาเปิดร้านที่บ้านในชุมชนท่ามะโอ 

ผมวิ่งเล่นในชุมชนท่ามะโอตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านเดิมของผมก็คือบ้านหลังที่ใช้ทำร้านหลังนี้ ก่อนจะย้ายไปอยู่บ้านใหม่แถวโรงเรียนอนุบาลลำปางกับพ่อแม่ตอน ป.6 การได้กลับมาเปิดร้านตรงนี้ แม้จะรู้สึกอบอุ่นเพราะผมรู้จักเพื่อนบ้าน รู้จักคนในชุมชนส่วนใหญ่ แต่ก็มีความกังวลอยู่ เพราะไม่เคยทำธุรกิจแบบนี้มาก่อน แล้วก็ยังนึกภาพของลูกค้าตัวเองไม่ออกว่าจะเป็นกลุ่มไหน

แต่ปรากฏว่าพอมาเปิดร้านจริง ผมกลับได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในชุมชนดีมาก มีคนในชุมชนมาซื้อขนม มานั่งดื่มกาแฟ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยหลักๆ จะได้ลูกค้าจากการบอกต่อ รวมถึงจากการที่คนในชุมชนชักชวนให้นักท่องเที่ยวให้แวะเวียนมาที่ร้าน กระทั่งช่วงโควิด-19 ระลอกแรกมาและทำให้ธุรกิจกระทบหนัก แต่พอมันเริ่มซา ก็ได้แรงสนับสนุนจากพี่ๆ ป่าไม้ และลุงๆ ป้าๆ ในชุมชนนี่แหละที่ทำให้ผมฟันฝ่าวิกฤตมาได้

ถามว่าจุดเด่นของร้านคืออะไร ผมว่านอกจากขนมปังบริยอชและขนมเค้กแบบโฮมเมด ก็คือบรรยากาศแบบบ้านๆ ร่มรื่นและผ่อนคลาย ผมชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว บ้านหลังนี้เลยมีต้นไม้เยอะเป็นพิเศษ ซึ่งก็ดึงดูดคนที่ชอบต้นไม้ด้วย มีลูกค้าในชุมชนยังเคยเอาต้นไม้มาขอแลก หรือเวลาคนในชุมชนนัดประชุมกัน เขาก็เลือกมาประชุมที่นี่ อาจเพราะเขาเห็นว่ามานั่งนี่แล้วไม่เครียดดี

ทั้งนี้ เวลามีประชุมเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของชุมชน ถ้าไม่ติดธุระอะไร ผมก็จะร่วมเข้าไปฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยแทบจะทุกครั้ง คิดว่านอกจากที่ร้านเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแล้ว ในฐานะที่ผมเป็นคนรุ่นกลางด้วย ก็น่าจะช่วยเชื่อมประสานการทำงานระหว่างคนรุ่นใหม่และลุงๆ ป้าๆ ในชุมชนได้อีกแรง

ชุมชนท่ามะโอมีโครงสร้างที่แข็งแรงอยู่แล้วนะครับ เรามีผู้นำชุมชนที่เก่งและเชื่อมประสานกับกลุ่มต่างๆ ได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของชุมชนตอนนี้คือเรายังไม่สามารถเปลี่ยนให้ชุมชนเป็นมากกว่าสถานที่ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถ่ายรูปเช็คอินเฉยๆ ได้

เพราะที่จริงชุมชนของเราก็มีทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่น่าเรียนรู้อีกเยอะ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เขาก็จะรู้แค่ว่าต้องมาถ่ายรูปกับบ้านหลุยส์และบ้านเสานัก มาช้อปปิ้งที่กาดวัฒนธรรม หรือนั่งรถม้า ก็อาจต้องมีการสื่อสารเรื่องเส้นทาง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น รวมถึงการออกแบบกิจกรรมที่ครอบคลุมกับผู้คนทุกรุ่นไม่เฉพาะแต่กิจกรรมเชิงประเพณีอย่างเดียว ซึ่งในฐานะที่ผมเป็นคนที่นี่ ก็จะร่วมประสานให้เกิดภาพที่คิดไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ”

ภวัต อลงการาภรณ์

เจ้าของร้าน Yim: Café & Dessert Bar

https://www.facebook.com/yimcafeanddessertbar

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย