“คนเมืองเรียกดอกไม้ปันดวง ถ้าเป็นภาษากลางก็คือดอกไม้พันดวง นี่เป็นชื่อของเครื่องสักการะตั้งธรรมหลวงของชาวไทลื้อ ชาวบ้านจะเด็ดดอกไม้ที่ปลูกไว้มาวางซ้อนกันบนแตะหรือไม้ไผ่สานคล้ายตระแกรง หรือรูปทรงอื่นๆ เพื่อไปแขวนประดับวิหารวัดก่อนวันขึ้น 15 ค่ำในประเพณียี่เป็ง คนเฒ่าคนแก่หลายคนยังพอจำได้ แต่คนรุ่นหลังนี้แทบไม่คุ้นเคย เพราะพิธีกรรมนี้หายไปจากในตัวเมืองนานแล้ว
เรื่องดอกไม้ปันดวงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ภายหลังที่เราชวนชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับเมืองแห่งการเรียนรู้ ต่างเห็นตรงกันว่า เราควรเรียนรู้จากต้นทุนที่เรามี รวมถึงมรดกที่กำลังเลือนหาย เพราะจริงๆ นี่คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด ทว่าก็ทรงคุณค่าที่สุดใกล้ตัวเรา และเมื่อแม่ครูนุสรา เตียงเกตุ พาเราไปอำเภอแม่แจ่ม ไปพบกับหมู่บ้านที่ยังมีการทำดอกไม้พันดวงถวายวัดกันอยู่ ก็พบว่าสิ่งนี้แหละที่เป็นคำตอบของเมืองแห่งการเรียนรู้ในแบบฉบับเชียงใหม่
นั่นเป็นช่วงปลายปี 2564 ก่อนเทศกาลยี่เป็ง อย่างที่ทราบกันว่าโควิด-19 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่ซบเซาหนัก และเราต่างมาทบทวนว่ารูปแบบการท่องเที่ยวแบบเดิมของเมืองอาจไม่ยั่งยืนอีกต่อไป นั่นทำให้ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนจึงถูกหยิบยกขึ้นมาใคร่ครวญ ซึ่งนำมาสู่การตั้งธงที่จะขับเคลื่อนจุดแข็งดั้งเดิมของเมือง ในฐานะเชียงใหม่เมืองแห่งเทศกาล แต่หัวใจสำคัญของเราคือเทศกาลที่ว่ามันต้องริเริ่มและขับเคลื่อนจากพลังของเครือข่ายชุมชน ผู้เป็นเจ้าของเทศกาล ซึ่งอย่างที่บอกว่าเราคุยกันก่อนงานยี่เป็งพอดี จึงตั้งชื่อแคมเปญกันว่า ‘เชียงใหม่เมืองเทศกาล เจ้าภาพคือทุกคน เริ่มต้นที่ยี่เป็ง’ เพื่อให้เห็นว่าชาวบ้านและเครือข่ายชุมชนของเราเองนี่แหละที่จะเป็นหัวใจสำคัญของการจัดงานในทุกเทศกาล
และดังที่กล่าวไป ดอกไม้พันดวง คือเครื่องมือนำร่อง เพราะนอกจากความหมายที่ยึดโยงกับประเพณี ยังมีความสวยงาม ความหอมจากดอกไม้ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบสร้างสรรค์
เราเริ่มจากชักชวนเครือข่ายชุมชนลงพื้นที่ไปเรียนรู้การทำดอกไม้พันดวงที่แม่แจ่ม จากนั้นก็จัดเวิร์คช็อปชักชวนนักออกแบบมาพัฒนารูปแบบดอกไม้พันดวง ร่วมกับผู้ประกอบการในเชียงใหม่ ทดลองปรับรูปแบบของการสานไม้ไผ่ให้เป็นรูปทรงร่วมสมัย เลือกสีสันของดอกไม้ให้มีความยูนีค ที่สำคัญคือ สนับสนุนให้มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งการตบแต่งโรงแรม สปา เป็นของชำร่วยต้อนรับแขก ไปจนถึงออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชักชวนนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ และทดลองออกแบบดอกไม้พันดวงตามสไตล์ของเขาเอง เป็นต้น และแน่นอน เมื่องานยี่เป็งที่ผ่านมา เราก็นำดอกไม้พันดวงนี่แหละไปตบแต่งขบวนแห่ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมือง
ดอกไม้พันดวง หรือตุง โคมล้านนา และประทีป เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ที่ทำให้เราเห็นว่าเชียงใหม่รุ่มรวยไปด้วยวัตถุดิบทางวัฒนธรรมที่ยังพอมีคนสืบสานและรอคอยให้คนรุ่นต่อมาศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดเป็นงานออกแบบ หรือสินค้าเชิงสร้างสรรค์มากมาย เช่นเดียวกับภาพใหญ่ของเมือง ที่เต็มไปด้วยประเพณีและเทศกาลที่ยึดโยงอยู่กับวิถีชีวิตคนเมืองตลอดทั้งปี
เรามองว่าถ้าองค์กรทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน และมีวิสัยทัศน์เดียวกันโดยมีชาวบ้าน ผู้เป็นเจ้าของและผู้ขับเคลื่อนที่แท้จริงของเทศกาลนั้นๆ เป็นศูนย์กลาง เชียงใหม่จะเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวอันยั่งยืน ซึ่งเกิดจากตัวตนของเราจริงๆ และเพราะเสน่ห์ที่เกิดจากตัวตนเช่นนี้แหละ ที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองแห่งนี้ และกลับมาเยือนอีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
///
ดร.รชพรรณ ฆารพันธ์
นักวิจัยโครงการจัดตั้งศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่