/

ตลาดใต้ พิษณุโลก
หลบเวลาไปชมวิถีตลาดเช้าสุดคลาสสิคของเมืองพิษณุโลก

Start
362 views
38 mins read

แม้จะมีองค์ประกอบแบบเฉกเช่นตลาดเช้าที่พบได้ทั่วประเทศ – ผู้คนขวักไขว่ แผงขายอาหาร เขียงหมู น้ำเต้าหู้ปาท่องโก๋ สภากาแฟ หรือบรรยากาศจอแจตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน กระนั้นเมื่อพินิจถึงรายละเอียด คุณจะพบว่าตลาดใต้ เมืองพิษณุโลก ตลาดเช้าที่ซ่อนตัวอยู่ระหว่างถนนบรมไตรโลกนาถและแม่น้ำน่าน ไม่ไกลจากหอนาฬิกาใจกลางเมือง กลับมีเอกลักษณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้

ตึกแถวเก่าแก่ในยุคโมเดิร์นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว บรรยากาศแบบย่านคนไทยเชื้อสายจีนที่คลุกเคล้าไปกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนพิษณุโลก วิถีตลาดท้องถิ่นที่ซ้อนทับไปกับชีวิตคนเมือง แผงขายสินค้าแบบกะดินกลางถนน ไปจนถึงประวัติศาสตร์ของย่านที่น่าตื่นตาไม่แพ้ความเป็นมาของเมือง

และใช่ หลายคนลงความเห็นว่ายามเช้า ณ ที่แห่งนี้ เสมือนเวลาถูกหยุดไว้

“ในขณะที่ตลาดสดส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามยุคสมัย แต่การมาเยือนตลาดใต้จะกี่ปีต่อกี่ปี ที่นี่ก็ยังคงวิถีดั้งเดิมไม่เคยเปลี่ยนธนวัฒน์ ขวัญบุญ หัวหน้าโครงการวิจัย ‘ย่านเก่าเล่าเรื่อง’ เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต เทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก กล่าว

ทั้งนี้ ในฐานะอาจารย์ภาควิชาการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาจารย์ธนวัฒน์ยังเล่าย้ำอีกว่า ด้วยศักยภาพของตลาดเช้าที่ยังคงความคลาสสิกแห่งเดียวของเมืองแห่งนี้ ที่นี่ยังพร้อมเป็นหมุดหมายเชื่อมต่อเส้นทางการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าพิษณุโลก เชื่อมเข้ากับย่านเจริญผล หอนาฬิกา สถานีรถไฟ ไปจนถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร และพระราชวังจันทน์ อีกด้วย

WeCitizens ตื่นแต่เช้าตรู่ ตามรอยอาจารย์ธนวัฒน์ไปสำรวจย่านตลาดใต้ มาดูกันว่าตลาดสดยามเช้าที่เป็นเสมือนห้องครัวของคนพิษณุโลกแห่งนี้ มีเสน่ห์อะไรซ่อนตัวอยู่บ้าง ว่าแล้วก็ทำใจให้โล่ง ทำท้องให้ว่าง เราจะพาคุณไปเดิน ไปชิม และชิลที่นี่กัน

แรกมีตลาด
เฉกเช่นเมืองท่าเก่าแก่หลายเมืองในยุคสมัยก่อนที่บ้านเมืองจะมีการตัดถนน พิษณุโลกเป็นอีกหนึ่งในเมืองที่มีชีพจรการค้าอยู่ตามลำน้ำ ย้อนกลับไปในรัชกาลที่ 3 มีการพบสารตราเรื่องการแต่งตั้งนายอากรตลาดในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งระบุถึงร้านค้าลอยน้ำที่เมืองพิษณุโลกช่วงปี พ.ศ. 2385-2389 สะท้อนให้เห็นว่าเมืองแห่งนี้มีเรือนแพที่เปิดเป็นร้านค้าตามลำน้ำน่านมาเกือบสองร้อยปี ทั้งนี้ แม่น้ำน่านยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่เชื่อมไปถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ทางทิศเหนือ และจังหวัดนครสวรรค์รวมถึงกรุงเทพฯ ทางทิศใต้ กระทั่งในปี 2450 มีการสร้างทางรถไฟสายเหนือในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เมืองเกิดการขยายตัว จากค้าขายทางริมน้ำก็ขยับเข้าไปบนบก รายรอบสถานีรถไฟมากยิ่งขึ้น

หากพิจารณาจากทำเลที่ตั้งของตลาดใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างท่าน้ำของแม่น้ำน่าน (ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ) กับสถานีรถไฟพิษณุโลก จะเห็นได้ว่าตลาดแห่งนี้อาจจะมีพัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ร่วมสมัยกับที่ชาวจีนโพ้นทะเลพากันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพิษณุโลก

สอดรับกับงานวิจัยของ ภัทรา ศักดิ์ศรีพาณิชย์ เรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเมืองพิษณุโลก พ.ศ.2500-2542’ (พ.ศ. 2554) ซึ่งอ้างอิงถึงหลักฐานการผูกปี้หรือการจ่ายภาษีของคนจีนในพิษณุโลกที่ปรากฏใน พ.ศ. 2377 โดยมีคนจีนมาผูกปี้มากถึง 1,112 คน มากเป็นอันดับหนึ่งในหัวเมืองฝ่ายเหนือ นั่นแสดงให้เห็นว่าชาวจีนอพยพมาอยู่ที่นี่ก่อนปี พ.ศ. นั้นพักหนึ่งแล้ว

แม้ไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นที่แน่ชัดของตลาดใต้แห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อใด กระนั้น อาจกล่าวได้ว่าตลาดใต้หรือที่คนท้องถิ่นมองว่าเป็น ‘ไชน่าทาวน์’ ของเมืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเพราะเต็มไปด้วยร้านรวงของคนไทยเชื้อสายจีน รวมถึงเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าสำคัญถึงสองแห่ง (ศาลเจ้าพ่อเสือและศาลเจ้าพ่อปุงเถ่ากงม่า และศาลเจ้าแม่ทับทิม) และโรงงิ้วเก่า ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดได้รับการบุกเบิกโดยชาวจีนในอดีตเมื่อศตวรรษที่แล้ว ก่อนจะส่งต่อมาถึงคนไทยเชื้อสายจีน ณ ปัจจุบัน

ไฟไหม้เมือง 2500 จุดเปลี่ยนผ่านตลาดใต้และเมืองพิษณุโลก

ในงานวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ ‘ย่านเก่าเล่าเรื่อง เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต เทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก’ ของอาจารย์ธนวัฒน์ ได้แบ่งยุคสมัยของตลาดใต้ในรอบ 100 ปี ออกเป็น 3 ช่วง โดยเริ่มนับตั้งแต่ช่วงก่อน พ.ศ. 2500 ซึ่งอาคารในย่านยังเป็นเรือนไม้ มีเรือนแพ และการขนส่งสินค้าและการคมนาคมทางเรือยังคงคึกคัก รวมถึงมีโรงงิ้วเกิดขึ้นเป็นความบันเทิงหลักของคนในย่าน กระทั่งเข้าสู่ยุคที่ 2 ถึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดใต้ รวมถึงเป็นภาพจำติดตาของชาวพิษณุโลกวัยเลขเจ็ดนำหน้า นั่นคือเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ของเมืองพิษณุโลก หรือ ‘เหตุการณ์พิษณุโลกวิปโยค’ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2500

อัคคีภัยครั้งนั้นกินเวลาทั้งวันทั้งคืน เผาผลาญเรือนไม้ในตลาดใต้และย่านการค้าใกล้เคียงให้เหลือเพียงเถ้าถ่าน (ประเมินค่าเสียหายในเวลานั้นอยู่ที่ 150 ล้านบาท) และเมื่อโศกนาฏกรรมผ่านพ้น ก็ส่งผลถึงการเปลี่ยนผ่านกายภาพของเมืองครั้งสำคัญไปพร้อมกัน นั่นคือการก่อสร้างอาคารคอนกรีตมาแทนที่ โดยมากเป็นอาคาร 2 ชั้นที่เปิดพื้นที่ชั้นล่างสำหรับทำการค้าขายและพื้นที่ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย อาคารหลายหลังสะท้อนสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ขณะที่ก็มีไม่น้อยที่หยิบยืมงานประดับตบแต่งแบบตะวันตก แทรกเข้ามากับลวดลายที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชาวจีน ซึ่งแน่นอน อาคารที่เห็นทั้งหมดในย่าน ณ ปัจจุบัน คืออาคารที่สร้างหลังปี 2501 และถือเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของตลาดใต้แห่งนี้

หมายเหตุ: ยุคสมัยที่ 3 ของตลาดใต้ในงานวิจัย นับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2530-ปัจจุบัน ที่ซึ่งการค้าในเมืองเปลี่ยนผ่านสู่โมเดิร์นเทรด เกิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงแรม และโรงภาพยนตร์แบบเดิมเสื่อมความนิยมลงไป รวมถึงเรือนแพที่อยู่สองฟากลำน้ำน่านก็ถูกรื้อถอนจนหมดสิ้น

จากยุครุ่งเรืองสู่ย่านที่ไม่โรยรา
นับตั้งแต่มีการก่อสร้างอาคารหลัง พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา ตลาดใต้รวมถึงย่านใกล้เคียงอย่างตลาดเจริญผลข้างหอนาฬิกาของเมือง ถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางความเจริญของเมือง เกิดโรงภาพยนตร์ถึง 2 แห่ง รวมถึงสถานบันเทิง และร้านรวงที่ครอบคลุมสินค้าแทบทุกชนิด คนหนุ่มสาวนัดรวมตัวกันทั่วบริเวณ ท่ารถเมล์ที่เดินทางไปยังอำเภอต่างๆ ก็มาตั้งอยู่ใกล้ๆ (บริเวณสวนชมน่านในปัจจุบัน) รวมไปถึงที่ตั้งของสถานีรถไฟที่อยู่ห่างไปไม่ไกล นั่นจึงดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางเข้ามาจับจ่ายซื้อของในตลาดอย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งการเกิดขึ้นของไนท์บาซาร์บนถนนพุทธบูชา ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอย ศูนย์กลางแฟชั่น และอาหารการกินในยามค่ำคืน ก็ทำให้ย่านแห่งนี้ไม่เคยหลับใหล 

กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงจุดสูงสุด เป็นธรรมดาที่กาลเวลาต้องเปลี่ยนผัน นับตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ความเจริญกระจายไปตามย่านต่างๆ รวมถึงการเกิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ๆ ทั่วเมือง ตลาดใต้จึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง และจากที่เคยเปิดทั้งวันทั้งคืน ตลาดแห่งนี้ก็เหลือเพียงตลาดเช้า (ปัจจุบันเทศบาลนครพิษณุโลกอยู่ระหว่างการปรับปรุงตลาดไนท์บาซาร์ ทำให้พื้นที่ถูกปิดไปเกินกว่าครึ่ง) รวมถึงห้างร้านที่เป็นธุรกิจแบบดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจหรือกายภาพเมืองไปมากมายเท่าไหร่ หากสิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือวิถียามเช้าของผู้คนในตลาดใต้ที่ยังคงได้รับการสืบสานและรักษาไว้อย่างเป็นธรรมชาติ และนั่นทำให้ใครหลายคนมองว่าการมาเยือนตลาดแห่งนี้ เหมือนมาเยือนสถานที่ที่กาลเวลาถูกหยุดไว้ นั่นล่ะ แม้ตลาดใต้จะผ่านยุครุ่งเรืองมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ความว่าตลาดเก่าแก่คู่เมืองแห่งนี้โรยราแต่อย่างใด   

อิ่มท้อง อิ่มสมอง อิ่มใจในตลาดใต้

ใครว่าตลาดสดเป็นแค่ที่ซื้ออาหารหรือของใช้กัน การมาเยือนตลาดใต้ คุณจะได้อะไรกลับไปมากกว่าของอร่อยๆ ว่าแต่มีอะไรบ้างนั้น ตามเรามาเลย

อิ่มท้อง
แน่นอน เรื่องพื้นฐานที่สุดของตลาดคือการเลือกซื้ออาหารอร่อยๆ แต่ที่เด็ดกว่าที่ไหนคือตลาดใต้แห่งนี้มีอาหารแบบอันซีน (unseen) ที่หากินที่ไหนไม่ได้ หรือหลายคนอาจอุทานออกมาว่า “มันยังมีอยู่ด้วยหรือ!?”

ไม่ว่าจะเป็นมันนึ่งและขนมไทยปลาแนมของป้าสังวาล ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง (กุ้งเป็นตัวๆ เต็มคำ) และข้าวเหนียวสังขยาของป้าสมบูรณ์ เผือกทอดและเต้าหู้ทอดร้านเจ๊อุ๊ (ริมถนนพุทธบูชา) ไข่กระทะเฮียอ๋า เต้าหู้อาซัง (เต้าหู้สดไม่ใส่สารกันบูด) หมี่กะทิของพี่น้ำค้างก็กลมกล่อม หรือลูกชิ้นเนื้อทอดของป้าแขกอยู่นอกตลาดออกมาไม่ไกล หรือถ้าอยากกินมื้อหนักๆ แนะนำขาหมูยัดไส้ เจ้าเดียวในตลาด ซึ่งยังมีข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง และข้าวหมูกรอบให้เลือกอิ่ม อีกทั้ง ร้านซุ่นฮะฮวดบนถนนเจ้าพระยาเมือง เสิร์ฟติ่มซำแบบโฮมเมดที่อร่อยจุใจมากๆ ส่วนสายสุขภาพแนะนำน้ำสมุนไพรหอมชื่นใจอย่างน้ำเหลี่ยงจุ้ย น้ำเก็กฮวย และน้ำกระเจี๊ยบแบบดั้งเดิมของห้างขายยามโนราโอสถ

ยังไม่หมด อย่าคิดว่าย่านแห่งนี้จะมีแต่อาหารเช้า เพราะเมื่อเดินออกมาหน่อยบริเวณตลาดเจริญผล ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของชุมนุมร้านอาหารเด็ดคู่เมืองในมื้อกลางวันและเย็น ไม่ว่าจะเป็น ‘แอ็ดผัดไท’ ลูกชิ้นทอด ‘ม่วยเจริญผล’ ร้านก๋วยเตี๋ยว ‘นายเสียน’ และ ‘เฮียธง’ ร้านข้าวต้ม ‘ปักนั้ง’ และปิดท้ายที่ไอศกรีมไข่เจริญผล ซึ่งนี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เอาว่าสะดวกอิ่มที่ไหน ก็ไปตามกันได้เลย

อิ่มสมอง
ดังที่บอก ตลาดใต้แห่งนี้ไม่ได้มีดีแค่ตลาด หากยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ที่เติบโตมาพร้อมกับเมืองพิษณุโลก และแน่นอน ที่นี่มีหลากหลายอย่างที่สอดรับกับความสนใจของทุกคน

หากคุณเป็นคนสนใจสถาปัตยกรรม การมาชมตึกแถวรุ่นคุณปู่ในย่าน คือความเพลิดเพลินใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นตึกหัวมุมที่ประจำอยู่ตามกริด (grid) ต่างๆ ของย่านซึ่งสร้างขึ้นระหว่างปี 2500-2502 บนชั้นสองจะมีระเบียงที่มีกันสาดยื่นออกมารับไปตามแนวยาว นักวิชาการด้านสถาปัตย์ยังบอกเลยว่ารูปแบบนี้มีมาก่อนอาคารในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ หรืออาคารที่มีฟาซาดเป็นซุ้มโค้งพร้อมสถาปัตยกรรมผสมไทยจีน ไปจนถึงอาคารที่นำเสาคอรินเทียนมาประดับตบแต่งอย่างเก๋ไก๋และงดงามเหนือกาลเวลา

หากคุณเป็นคนสนใจงานออกแบบและความเชื่อสาย ‘มู’ การไปเยือนศาลเจ้าปุงเถ่ากงและศาลเจ้าพ่อเสือ บริเวณท้ายตลาด รวมถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม คุณจะพบกับงานศิลปกรรมและประติมากรรมจีนสวยๆ ละลานตา ทั้งยังได้ขอพรไหว้เจ้าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

หรือถ้าคุณสนใจประวัติศาสตร์ เดินข้ามจากศาลเจ้ามานิดเดียว บริเวณโรงงิ้วเก่า คณะวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของอาจารย์ธนวัฒน์ ได้รวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ย่าน และเกร็ดที่น่าสนใจต่างๆ มาไว้ในนิทรรศการที่ติดตั้งอยู่ภายใน อาคารในย่านสร้างตอนไหน? ทำไมดีไซน์เป็นแบบนี้? หรือใครเป็นใครในตลาด? เขารวมไว้ที่นี่หมด เรียกได้ว่าแวะมาเช็คอินที่นี่ก่อน คุณจะเดินตลาดสนุกขึ้นเป็นเท่าตัว!

อิ่มใจ
ไม่ใช่เพียงเพราะได้ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้า หรือได้เห็นบรรยากาศเก่าก่อนแบบที่แทบไม่ได้เห็นจากตลาดแห่งไหนในพิษณุโลกเท่านั้นที่ทำให้การมาเยือนตลาดใต้อิ่มใจ เช่นเดียวกับที่อาจารย์ธนวัฒน์กล่าวไว้ว่าตลาดใต้แห่งนี้ยังเป็นจุดที่เชื่อมไปยังแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอีกมากมายใจกลางเมืองพิษณุโลก การเริ่มต้นทริปเดินชมเมืองตั้งแต่เช้าที่ตลาด จึงทำให้เราได้ทั้งอิ่มท้อง อิ่มสมอง ก่อนจะไปอิ่มใจกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเมืองเก่า

ไม่ว่าจะเป็นหอนาฬิกาบริเวณย่านเจริญผล เดินต่อไปอีกหน่อยก็จะพบหัวรถจักรรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย หน้าสถานีรถไฟพิษณุโลก ย้อนกลับมาบริเวณแม่น้ำน่าน เดินเลียบแม่น้ำไปตามสวนสาธารณะริมน้ำ (สวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ) ก็จะพบกับวัดราชบูรณะ วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีจิตรกรรมฝาผนังสุดงดงามภายในอุโบสถ และข้ามถนนนิดเดียวก็พบกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร สถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช หนึ่งในพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในประเทศ สักการะเสร็จ ถ้ายังมีแรงเหลือ เดินขึ้นเหนือต่ออีกหน่อย (หรืออาจจะเรียก Grab Bike ก็สบายหน่อย) และข้ามสะพานไปยังพระราชวังจันทน์ ที่ประทับเดิมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งที่นั่นยังหลงเหลือซากโบราณสถานให้ได้ถ่ายรูป รวมถึงศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ สถานที่รวบรวมข้อมูลด้านประวัติศาสตร์เมืองอย่างรอบด้านไว้ที่เดียว

ทั้งหมดทั้งมวล เราสามารถดื่มด่ำประวัติศาสตร์หลากยุคสมัยของเมืองอย่างจุใจได้ในเวลาเพียงครึ่งวันเช้าเท่านั้น ซึ่งนั่นล่ะ การมาตลาดใต้ เมืองพิษณุโลก จะไม่อิ่มท้อง อิ่มสมอง และอิ่มใจในคราวเดียวกันได้อย่างไร

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย