ตอนนี้เหลือรถผมวิ่งอยู่คันเดียว ยังปั่นอยู่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร อยู่บ้านก็เบื่อ ออกมายังได้ดูโน่นดูนี่

Start
533 views
9 mins read

“ผมปั่นสามล้อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ตอนอายุ 17 สมัยนั้นไม่มีรถอะไร มีแต่สามล้ออย่างเดียว ตอนนั้นคล้ายๆ ว่าเราก็ทำสนุกๆ งั้นแหละ ไม่ได้คิดเป็นอาชีพจริงจัง ก็ทำๆ หยุดๆ มาจริงจังช่วงหลังนี้ 40 ปีละ รถก็ซื้อมาตั้งแต่แรกเริ่ม ถูก คันละ 5-600 บาท สมัยนั้นทองบาทละ 400 ตอนนั้นน้าชายปั่นอยู่ พ่อกับน้าก็พากันไปซื้อมาให้ตอน 17 นั่นแหละ เขามองว่าเรามันคล้ายความรู้ไม่มี เขาอยากให้เรามีงานทำ งานก็เหมาะกับนิสัย เราไม่ชอบอยู่ใต้บังคับใคร อย่างนี้มีอิสระ ไปได้ทั่ว ออกมาทำงานตอนไหนก็ได้ กลับบ้านตอนไหนก็ได้ ตอนนั้นมีแต่สามล้อ มีตุ๊กตุ๊กอยู่ 2-3 คัน แค่นั้นแหละ วิ่งจากตลาดฉัตรไชยไปหน้าวังไกลกังวล 3 บาท สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละสลึงถึงสองบาท ผมวิ่งวันนึง 20-30 บาทก็เหลือกินแล้ว ค่าใช้จ่ายก็ถูกหมด แต่เทียบสมัยนี้ 300 บาท 500 บาทยังไม่พอกินเลย วิ่งตามระยะได้ 40 บาท 50 บาท แล้วแต่ เจอคนใจดีเขาให้เป็นร้อยก็มี

               แต่ก่อนมีสามล้อเป็นร้อยคัน ฝรั่งนักท่องเที่ยวมากันเยอะ จนสักปี 2550 มีรถเยอะสัก 300 คัน ฝรั่งมาก็ต้องมานั่ง วันนึงขี่ได้ 300-500 บาท บางคนขยันก็ได้เป็นพัน คนพูดภาษาเก่งก็ยิ่งได้มาก สามล้อเริ่มน้อยคือตั้งแต่ปี 2560 มา เหลือประมาณยี่สิบกว่าคัน ลดไป คนขี่ก็ตายไปมั่ง เลิกมั่ง รถสามล้อหัวหินเหลืออยู่ประมาณ 4-5 คัน แต่เขาก็มีอายุ ไม่วิ่งละ เด็กก็ไม่เอาหรอก เขากลัวเหนื่อย ตอนนี้เหลือรถผมวิ่งอยู่คันเดียว ยังปั่นอยู่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร อยู่บ้านก็เบื่อ ออกมายังได้ดูโน่นดูนี่ ใครจ้างเราก็ไป ใครไม่จ้าง ถึงเวลาเราก็กลับบ้าน ก่อนนี้ผมจอดอยู่หลังตลาดฉัตรไชย มาจอดที่หน้าวัดหัวหินได้ซักสิบปีแล้ว มาสามโมงเย็น เข้าบ้านสักทุ่มนึง ตอนเย็นไม่ร้อนมาก จะมีคนนั่ง กลางวันมันร้อน เราร้อน คนก็ร้อน ไม่อยากนั่ง บางคนเห็นเรานั่งนานๆ ก็เรียกไปส่ง คนเฒ่าคนแก่เขานั่ง สมัยนี้ลูกหลานไม่นั่งแล้ว ถอยรถเครื่องมาวิ่งกันแล้ว นักท่องเที่ยวก็มีบ้าง แต่ช่วงโควิดนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เงียบมาก ออกมาทุกวัน รถไม่มีวิ่งเลย รถเมล์ก็ไม่มี ก็คิดว่าออกมาน่าจะได้ลูกค้าอยู่ ใหม่ๆ ก็ดีหน่อย อยู่ๆ ไปก็ลด

               เมื่อก่อนสามล้อมีทะเบียนรถ ใบขับขี่สาธารณะ ตอนหลังเขายกเลิก คือเราเป็นรถโบราณ รถอนุรักษ์ ตอนนี้ไม่มีรถแบบนี้ขายแล้ว ที่มีอยู่ 3-4 คันเขาก็เก็บไว้ ไม่ขาย รถคันนี้ของผมก็ 50 กว่าปี ต้องซ่อมเอง มีช่างเป็นเพื่อนกันทำมั่งแต่ก็ไม่ทำมั่ง เมื่อก่อนอะไหล่เยอะ เราก็ซื้อมาเปลี่ยนได้เรื่อยๆ เดี๋ยวนี้อะไหล่น้อย ต้องใช้ของเก่ามาเปลี่ยน ถ้าผมเลิก สามล้อก็หมดไป เหลือคันเดียวก็ขี่จนขี่ไม่ไหวล่ะ ออกมายังได้เงินบ้าง ได้ออกกำลัง แต่ก่อนเราทำด้วยความสนุก ตอนนี้ก็อย่างนั้นแหละ เราไม่ออกมาก็รำคาญ เราเคยออกมา เป็นไปตามอายุ ยังมีแรงอยู่ก็ออกมาปั่น ได้ยืดเส้นยืดสาย ไม่นั่งเฉาอยู่บ้าน ทำไปเรื่อยๆ แบบนั้นแหละ บอกไม่ถูก จะบอกสนุกก็ไม่สนุกหรอก ทุกวันนี้ออกมาบางวันก็ได้ บางวันไม่ได้เลย ก็หงุดหงิดหน่อย ได้เวลาก็กลับ พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน”

จรรญา พรมหอม

สามล้อปั่น

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย