/

ถามว่าทำไมเราต้องมาทำงานตรงนี้ด้วยใช่ไหม? จริงอยู่ บริษัทเราอยู่คู่กับคนหาดใหญ่มา 60 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะใช้ประสบการณ์และ know how ที่มีช่วยเมืองที่เราอาศัยอยู่บ้าง

Start
427 views
14 mins read

“บริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด เริ่มต้นปี พ.ศ.​2505 ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ค่ะ เราเป็นบริษัทที่ได้สัมปทานเดินรถเส้นทางระหว่างอำเภอหาดใหญ่ไปยังอำเภอเมืองสงขลา เริ่มมาตั้งแต่ยังเป็นรถบัสความยาว 12 เมตร ก่อนจะปรับชนิดของรถไปตามยุคสมัย โดยวิ่งอยู่สองเส้นทางคือสายเก่าและสายใหม่


ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว สมัยนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่มีรถส่วนตัว กิจการเดินรถของเราจึงเฟื่องฟูมาก เพราะผู้คนต้องเดินทางไป-กลับสองเส้นทางนี้ตลอด เราทำรถบัสขนาดใหญ่ที่บางรอบจุคนเกือบร้อย ออกทุกๆะ 5 นาทีตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงหนึ่งทุ่ม แต่ทุกวันนี้เราไม่ใช้รถบัสแล้ว หันมาใช้รถตู้ปรับอากาศและรถสองแถวแทน รถตู้จะคิดราคา 34 บาท ตลอดสาย ส่วนรถสองแถวจะเริ่มที่ 10-24 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง โดยรถสองแถวก็ยังได้รับความนิยมอยู่ เพราะมีพ่อค้าแม่ค้าขนอาหารมาขายในหาดใหญ่ใช้เป็นประจำ หรือแรงงานต่างด้าวที่มีรายได้จำกัด พวกเขาก็จะเลือกใช้รถสองแถวที่ราคาถูกกว่า 


แม้จะเป็นการให้บริการการเดินรถตามเส้นทาง แต่เราก็พัฒนาการบริการมาตลอด ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างความปลอดภัย ความตรงเวลา และความสะอาด ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เช่น การใช้ GPS ระบุตำแหน่งรถเพื่อคำนวนระยะเวลาการรอรถของผู้โดยสาร ระบบสแกนจ่ายค่าโดยสาร และอื่นๆ รวมถึงแผนการเปลี่ยนมาใช้รถ EV แทนเครื่องยนต์กินน้ำมันในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทของเรายังร่วมเป็นเครือข่ายโครงการคลองเตยลิงก์ ซึ่งเป็นโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของหาดใหญ่ด้วย เราเข้าร่วมในฐานะภาคเอกชนพร้อมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อพัฒนาโครงการเส้นทางเดินรถประจำทางเส้นทางใหม่ของเมืองหาดใหญ่

แต่ไหนแต่ไร หาดใหญ่เราไม่มีรถประจำทางสาธารณะ มีก็แต่รถตุ๊กตุ๊กที่จะไม่มีเส้นทางประจำ อยู่ที่ผู้โดยสารจะโบกรถ ตกลงค่าโดยสาร และไปตามจุดหมายของผู้โดยสารแต่ละราย ขณะที่คนหาดใหญ่ส่วนใหญ่เลือกที่จะมีรถส่วนตัวมากกว่า และนั่นเป็นสาเหตุทำให้ช่วงเช้าและเย็น เมืองของเราจึงรถติดหนักไม่แพ้กรุงเทพฯ

ก็พอดีกับที่โครงการคลองเตยลิงก์ของอาจารย์เจี๊ยบ (สิทธิศักดิ์ ตันมงคล) มีแผนการจะปรับปรุงภูมิทัศน์รอบคลองเตยซึ่งตัดผ่านใจกลางเมือง โดยจะทำเส้นทางเดินรถเลียบคลองด้วย เราจึงเห็นตรงกันว่าน่าจะทำรถประจำทางสาธารณะมาวิ่งเส้นทางนั้น เพราะเส้นทางดังกล่าวเชื่อมจุดที่ผู้คนมีความต้องการใช้รถเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ โรงเรียน โรงพยาบาล และท่ารถ

เราก็เลยมาคุยกันถึงเรื่องรถที่จะมาวิ่ง ก็ไม่ต้องไปหาไหนไกลเลย ปัจจุบันหาดใหญ่เรามีรถตุ๊กตุ๊กวิ่งในเมืองอยู่ราว 2,000 คัน เรานำบางส่วนมาวิ่งประจำทางและเก็บค่าโดยสารแบบราคาเดียวได้ไหม ในเฟสแรกเราก็ทำเส้นทางและปรึกษากับผู้ประกอบการเดินรถ เขาก็เห็นด้วยที่ราคา 15 บาทตลอดสาย โดยนำร่องด้วยการนำตุ๊กตุ๊กมาวิ่งประจำทางที่ 15 คันต่อเส้นทาง เบื้องต้นเราตั้งไว้ที่ 2 เส้นทาง

เพราะถ้ามีตุ๊กตุ๊กวิ่งประจำเส้นทางด้วยค่าโดยสารที่แน่นอน นักเรียน นักศึกษา คนทั่วไป และนักท่องเที่ยวก็มาใช้ได้ ก็ช่วยลดความหนาแน่นของจราจรในชั่วโมงเร่งด้วนไปได้เยอะ และเราก็นำโครงการนี้ไปเสนอกับทางเทศบาล ซึ่งทางเทศบาลก็เห็นด้วยและรับไปดำเนินการต่อ

ที่เล่ามาเป็นโครงการในเฟสแรกที่อยู่ระหว่างการศึกษา โดยโครงการในเฟสสอง เรามีแผนจะเปลี่ยนเครื่องยนต์ของรถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งประจำเส้นทางให้กลายเป็นรถ EV ทั้งหมด ก็ได้แนวร่วมเป็นทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการทดลองอยู่ ซึ่งถ้าตรงนี้สำเร็จ และโครงการมีผู้โดยสารต่อเนื่องจนกลายเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางได้ ก็จะช่วยลดมลภาวะทางอากาศในเมืองหาดใหญ่ไปได้มาก  


นอกจากนี้ในฐานะที่เรามีความรู้และประสบการณ์ในการเดินรถ เราก็นำเทคโนโลยีอย่าง GPS คำนวณระยะเวลา การจัดการเรื่องจุดจอดรับ และการจ่ายเงินออนไลน์มาเสริมเพื่อทำให้การเดินทางในเมืองเป็นเรื่องสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น 

ถามว่าทำไมเราต้องมาทำงานตรงนี้ด้วยใช่ไหม? จริงอยู่ เราทำธุรกิจเดินรถประจำทางของเราก็ลงตัวดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเหนื่อยด้วย แต่ในอีกมุม บริษัทเราอยู่คู่กับคนหาดใหญ่มา 60 ปีแล้ว ถึงเวลาที่เราจะใช้ประสบการณ์และ know how ที่มีช่วยเมืองที่เราอาศัยอยู่บ้าง เพราะเราไม่ได้อยู่ที่นี่เพียงลำพัง และเราก็จะอยู่คนเดียวหรือเอาตัวรอดอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้แน่ๆ และถ้าสิ่งที่เราทำมันช่วยพัฒนาเมืองนี้ได้ ผลที่ตามมาก็คือการที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น สุดท้ายผลประโยชน์ก็ย้อนกลับเข้ามาที่ธุรกิจของเราอยู่ดี”  

ปิยาภรณ์ เลขะกุล
บริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย