ถึงจะบอกว่าเป็นบ้านหลังสุดท้าย แต่ทุกวันนี้ลุงโชแกก็ยังมีไอเดียจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้อีกเยอะ ท่าจะเหนื่อยน่าดู แต่นั่นล่ะ เห็นแกมีความสุข ป้าก็ดีใจ

Start
263 views
8 mins read

“ราว 30 ปีที่แล้ว ป้าตามลุงโช (โชฎึก คงสมของ) ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ลุงโชไปทำงานที่การบินไทย ส่วนป้าขายส้มตำและไก่ย่างด้วยรถเข็นคันเล็กๆ โดยเริ่มจากขายจากหน้าหมู่บ้าน อาศัยป้ายโฆษณาหมู่บ้านอันใหญ่เป็นที่วางรถเข็นและหลบแดด ช่วงแรกขายไม่ดี ท้อใจมาก ร้อนก็ร้อน ก็คิดจะเลิกขายแล้ว แต่พอผ่านไป 6 เดือน ลูกค้าบอกปากต่อปาก ทีนี้เลยมีคนมารุมซื้อเยอะมาก ก็เลยมีกำลังใจทำต่อ

ป้าขายบนรถเข็นจนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง และก็ไปกู้ธนาคารเพื่อจะซื้อตึกเปิดร้านเป็นหลักแหล่ง พอธนาคารอนุมัติก็ได้เปิดร้าน ป้าตั้งชื่อร้านว่า ‘เฮือนกาฬสินธุ์’ เพราะเราเป็นคนกาฬสินธุ์ เลยใช้ชื่อนั้น ตำรับอาหารก็มาจากบ้านเรา รสชาติเข้มข้นกลมกล่อม นอกจากส้มตำ ลาบเป็น และไก่ย่าง ก็มีแกงหวาย ลาบปลาตะเพียน ไส้กรอกอีสานและปลาร้าก็ทำกันเอง ไม่ใช่สารเจือปน ผลตอบรับดีมาก จนสามารถขยายสาขาได้ ก็ขายมา 20 ปี

จนวันหนึ่งเราสองคนเริ่มมีอายุ ลุงโชก็บอกกับป้าว่าถ้าแกจะตาย แกอยากไปตายที่กาฬสินธุ์บ้านเกิดดีกว่า ป้าก็เลยยกกิจการให้ญาติดูแล และย้ายกลับบ้าน

ที่ดินตรงนี้เราซื้อไว้ระหว่างที่ทำงานที่กรุงเทพฯ น่าจะ 18 ปีแล้ว ตอนนั้นราคาไม่แพง เป็นที่นาโนน แห้งแล้งและปลูกข้าวไม่ขึ้น ลุงโชก็กลับมาขุดบ่อ ขุดสระเอง ปลูกกล้วย ปลูกผัก ก็ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ โดยยังไม่มีแผนอะไร จนตัดสินใจกลับบ้านนี่แหละ ลุงโชก็ขึ้นอาคารเป็นเรือนอีสานแบบดั้งเดิม ทำเป็นร้านอาหารเฮือนกาฬสินธุ์อีกแห่ง แล้วก็ทำที่พักให้นักท่องเที่ยวมาเช่า รวมถึงพื้นที่จัดกิจกรรม เช่นจัดเลี้ยง งานสัมมนา ไปจนถึงจัดพิธีแต่งงานแบบประเพณีอีสาน

ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจากมหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และรอบๆ ในกาฬสินธุ์ก็มีบ้าง ส่วนใหญ่จะพาแขกมากินข้าว หรือมาจัดงาน ก่อนโควิด-19 นี่ดีมากค่ะ จองล่วงหน้าหลายเดือน มีหน่วยงานราชการต่างๆ มาใช้พื้นที่เราจัดกิจกรรม มีกลุ่มเขยฝรั่งในอีสานมาใช้เราเป็นสถานที่จัดงานแต่งงานหลายครั้งด้วย จนโควิดนี่หนัก ลูกค้าโรงแรมและจัดเลี้ยงไม่มีเลย พออยู่ได้จากร้านอาหาร จนมาช่วงนี้ก็ฟื้นขึ้นมาดีหน่อย สัมมนาเริ่มกลับมา ชมรมผู้สูงอายุในกาฬสินธุ์ก็ใช้สถานที่เราจัดกิจกรรม

จะบอกว่าเป็นบ้านผู้สูงอายุก็ได้ (หัวเราะ) เราสองคนอายุมากกันแล้ว มีคนวัยเดียวกันมาพูดคุยหรือทำกิจกรรมที่นี่ก็เพลินดี ลุงกับป้าไม่มีลูก แต่ก็ดีที่มีหลานมาช่วย เราคิดกันว่าที่นี่คือบ้านหลังสุดท้ายของเราแล้ว ก็อยากแบ่งปันให้คนอื่นๆ มาพักผ่อน หรือให้คนรุ่นใหม่มาใช้ประโยชน์กับพื้นที่ ได้ความรู้และความสุขกลับไป แต่ถึงจะบอกว่าเป็นบ้านหลังสุดท้าย แต่ทุกวันนี้ลุงโชแกก็ยังมีไอเดียจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้อีกเยอะเลยนะ ความที่แกทำและคุมก่อสร้างของแกคนเดียว ท่าจะเหนื่อยน่าดู แต่นั่นล่ะ เห็นแกมีความสุข ป้าก็ดีใจ”  

สมพร คงสมของ
เจ้าของร้านเฮือนกาฬสินธุ์ สวนดอนธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์

https://www.facebook.com/cowboylao/?locale=th_TH

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย