“บ้านผมอยู่แถวตลาดเหนือ ซึ่งอยู่บริเวณวัดใหญ่ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร) สมัยเด็กๆ ยังทันเห็นตลาดในสภาพดั้งเดิม ที่พ่อค้าแม่ค้าจับปลาในแม่น้ำน่านขึ้นมาขาย มีผู้คนจากทั่วสารทิศนำของป่าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาแบกะดินขาย เห็นวิถีชีวิตกึ่งชนบทกึ่งเมืองหมุนเวียนในตลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ตลาดแห่งนี้ก็เปลี่ยนตาม ทุกวันนี้ตลาดเหนือก็เป็นตลาดในแบบที่เราเห็นได้ทั่วไปจากที่อื่นๆ
ทั้งนี้ การได้มาเดินตลาดใต้ตอนเช้า จึงเป็นเหมือนได้เห็นตลาดใกล้บ้านที่ผมคุ้นเคยในอดีต เพราะตลาดแห่งนี้ยังคงรักษาความดั้งเดิมของตัวเองไว้ได้อย่างดีเยี่ยม และในฐานะที่ผมทำงานสำนักงานการท่องเที่ยวเทศบาลนครพิษณุโลก ซึ่งตลาดใต้ก็อยู่ในพื้นที่ดูแลของเราด้วย ผมจึงพร้อมประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ไปพร้อมกับฟื้นฟูตลาดใต้ เมืองพิษณุโลก ให้ยั่งยืนไปกับยุคสมัย
เพนพอยท์ (pain point) ที่สำคัญของตลาดใต้ คือมันมีบทบาทแค่เป็นตลาดเช้า นั่นทำให้พอตลาดวายตอนสายเรื่อยมาจนถึงตอนกลางคืน ตลาดแห่งนี้จึงเงียบเหงา จนดูเหมือนย่านเก่าที่ไร้ชีวิต ทางเทศบาลจึงสนับสนุนคณะนักวิจัยจากโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ขับเคลื่อนโครงการย่านเก่าเล่าเรื่อง ใช้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของผู้คนในย่านมาเป็นจุดขาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางวัฒนธรรมของพื้นที่
พร้อมกันนั้น ทางสำนักงานการท่องเที่ยวของเราก็จัดกิจกรรมสร้างสีสันให้ย่าน เช่นโครงการประกวดภาพถ่ายมนต์รักตลาดใต้ ที่ชักชวนให้คนพิษณุโลกถ่ายรูปมุมต่างๆ ของตลาดใต้ส่งมาประกวด และจัดแสดงร่วมกันที่หอสมุดเทศบาลฯ ก่อนจะย้ายมาจัดแสดงให้คนตลาดใต้ได้เห็นบริเวณโรงงิ้ว ชุดภาพถ่ายเหล่านี้บอกเล่าแง่มุมอันมีชีวิตชีวาของตลาดใต้ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งอาคารเก่าๆ วิถีของอากงอาม่าผู้ประกอบการในย่าน แผงขายอาหารที่หากินจากที่ไหนไม่ได้แล้ว ไปจนถึงสุนัขที่เป็นที่คุ้นเคยกับผู้คนในตลาด
และเมื่อโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรสิ้นสุดลง ทางเทศบาลก็ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรภายใต้งบประมาณของ บพท. เช่นกัน จัดทำตลาดวัฒนธรรม ในรูปแบบถนนคนเดินภายในย่านทุกเย็นวันอาทิตย์ ซึ่งไม่ใช่เพียงการออกร้านขายสินค้า แต่ยังรวมถึงเวทีจัดแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของคนในย่านและคนพิษณุโลกอีกด้วย
นอกจากนี้ เราพยายามประสานกับบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างแดนให้มาเยือนตลาดใต้ เพราะเราเชื่อว่าตลาดแห่งนี้ไม่เพียงมีรูปแบบที่หาจากที่ไหนไม่ได้แล้ว แต่ยังสะท้อนวิถีชีวิตแบบคนพิษณุโลกดั้งเดิมให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส ซึ่งนั่นล่ะ ถ้าคุณไปเที่ยวเมืองไหน การมาเดินตลาดเช้าที่มีความดั้งเดิมของเมืองนั้น ก็จะทำให้คุณรู้จักเมืองนั้นได้ลึกซึ้งที่สุด
โดยล่าสุดก็ได้มีการจัดทัวร์รถสามล้อถีบยามเช้า รับนักท่องเที่ยวจากโรงแรมท็อปแลนด์มาเยือนตลาดใต้แห่งนี้แล้วในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ โดยเราได้เสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวว่าชื่นชอบความเป็น authentic ของตลาดแห่งนี้มาก
ในภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของเมือง ภายหลังโควิด-19 พิษณุโลกเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามามากขึ้น โดยรูปแบบส่วนใหญ่คือพวกเขาจะแวะมาพักที่พิษณุโลกหนึ่งคืนเพื่อเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองพิษณุโลก ก่อนจะเดินทางขึ้นเหนือไปยังเชียงใหม่หรือเชียงราย อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อท้าทายที่เรากำลังพบคือ เมืองของเรายังขาดบุคลากรภาคบริการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพอยู่พอสมควร พนักงานโรงแรมหลายราย รวมถึงคนขับรถตุ๊กตุ๊กและสามล้อยังไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เท่าที่ควร โดยทางสำนักงานของเราก็พยายามจัดการฝึกอบรมด้านภาษาและการบริการเพื่อยกระดับบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวอยู่
ซึ่งควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะทางด้านภาษา ผมจึงเห็นว่าการขับเคลื่อนกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้ ด้วยการสร้างเครื่องมือที่ทำให้คนในเมืองเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองของตัวเอง ทำให้ทุกๆ คนสามารถบอกเล่าเรื่องราวหรือของดีของเมืองของได้ สิ่งนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการด้านการท่องเที่ยวของเมือง และทำให้พิษณุโลกกลายมาเป็นจุดหมายทางการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพต่อไปในอนาคต”
กฤษฎา มีพยุง
เจ้าหน้าที่สำนักงานการท่องเที่ยวเทศบาลนครพิษณุโลก