ถ้ารวมกันแบบนี้ได้ อาชีพประมงรวมไปถึงเกษตรกรจะกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงและน่าภูมิใจ ลูกหลานก็อยากกลับบ้านมาสานต่อ

Start
447 views
6 mins read

“กลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลปากพูนเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของบทเรียนที่ว่า หากทุกคนหันหน้าเข้าหากัน และคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ต่อให้มีวิกฤต เราก็จะเจอโอกาส

ผมเข้ารับราชการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชในปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ทางตำบลปากพูน และอีกหลายชุมชนที่ทำประมงพื้นบ้านในจังหวัด ประสบปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำขาดแคลนจากการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย

เลยมีการรณรงค์ให้เลิกทั้งหมด โดยทางหมู่ 4 ตำบลปากพูน ที่เป็นชุมชนเลียบคลองที่เชื่อมไปถึงปากอ่าวปากพูน เป็นตัวตั้งตัวตีในการยกเลิกอย่างจริงจัง


จำได้เลยว่าช่วงสามเดือนแรก ชาวประมงที่นี่เขาก็แทบจะยอมแพ้กัน จนเข้าเดือนที่ 4 เท่านั้นแหละ พอพวกลูกปลาเจริญวัย ชาวบ้านก็มีให้จับเต็มไปหมด รายได้พวกเขาก็กลับมาดีเหมือนเดิม

พอเลิกใช้เครื่องมือพร้อมกันได้ ชุมชนนี้ก็เป็นตัวอย่างให้ที่อื่นๆ ทำตาม ซึ่งต้องยกย่องผู้นำชุมชนเขาด้วย เพราะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรณรงค์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำกองทุนเครื่องมือประมงพื้นบ้าน และการก่อตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังเครื่องมือผิดกฎหมาย

ส่วนคำถามที่ว่าอยากให้ชาวประมงพื้นบ้านเรียนรู้อะไรเป็นพิเศษ ผมขอตอบแทนทั้งชาวประมงและเกษตรกรด้านอื่นๆ ในนครล่ะกัน อยากให้พวกเขาเรียนรู้ในการขายของครับ

ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เยอะ จนคุณไม่จำเป็นต้องพึ่งพา ‘ล้งหรือพ่อค้าคนกลาง’ ในการจำหน่ายสินค้าแค่ช่องทางเดียวอีกต่อไป

ดูอย่างที่กลุ่มวิสาหกิจอาหารทะเลแปรรูปของปากพูนทำก็ได้ เขามีเพจเฟซบุ๊คขายของเขาเอง จับอาหารทะเลมาแปรรูป พักไว้ที่กลุ่มแป๊บเดียว ก็มีออร์เดอร์มาเต็มไปหมด

ซึ่งเอาจริงๆ กุ้งแห้งที่ปากพูนมีราคาสูงกว่าท้องตลาดนะครับ แต่ก็เพราะคุณภาพของผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการผลิต คุณกินกุ้งแห้งที่ปากพูน คุณก็จะไม่อยากไปกินกุ้งแห้งที่ไหนอีก”

พรศักดิ์ ศักดิ์ธานี
ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย