ที่คนแก่ส่งสติ๊กเกอร์ไลน์หากันก็เพราะคิดถึงเพื่อน คิดถึงลูกหลาน บางครั้งหลายคนอาจลืมไปว่าคนชราก็ต้องการเพื่อน ต้องการเข้าสังคมเหมือนคนวัยอื่นๆ

Start
517 views
10 mins read

“ที่คนแก่ชอบส่งสติ๊กเกอร์ไลน์หากัน ก็เพราะคิดถึงเพื่อน คิดถึงลูกหลาน บางครั้งหลายคนอาจลืมไปว่าคนชราก็ต้องการเพื่อน ต้องการเข้าสังคมเหมือนคนวัยอื่นๆ

ถ้าไปดูสัดส่วนของสถิติประชากรในเขตเทศบาลเมืองพะเยา เรามีคนสูงวัยเกินกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด แต่ในขณะที่คนวัยอื่นๆ มีพื้นที่ให้ได้พบปะ หรือมีกิจกรรมให้ได้ทำร่วมกัน ในขณะที่พื้นที่ของผู้สูงอายุ พะเยากลับมีน้อย และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ได้แต่อยู่บ้าน ซึ่งก็ส่งผลให้พวกเขาเกิดอาการซึมเศร้า หรือพอไม่มีพื้นที่ได้ผ่อนคลาย ก็อาจทำให้ง่ายต่อการเจ็บป่วย ไม่นับรวมบางคนที่ต้องป่วยติดเตียงอยู่บ้านอีกไม่น้อย

ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพ เป็นพื้นที่ที่เทศบาลเมืองพะเยาตั้งขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมของผู้สูงอายุในเมือง โดยก่อนโควิด-19 เรามีสมาชิกที่อาศัยอยู่ใน 15 ชุมชนของเขตเทศบาลมากถึง 200 กว่าคน ก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาร่วมกิจกรรม ทั้งการออกกำลังกาย เต้นแอโรบิค รำวงมาตรฐานและรำวงประยุกต์ เล่นอังกะลุง ไปจนถึงรำไทเก็ก หรือการฝึกทักษะทางหัตถกรรม อย่างไรก็ตาม พอโควิด-19 มา พื้นที่นี้ก็ต้องหยุดทำการไปพักใหญ่ และเทศบาลก็จำต้องนำงบประมาณไปแก้วิกฤตเร่งด่วนของเมือง การดำเนินการของพื้นที่จึงชะงักไปพอสมควร


ดีที่ปี 2563 ที่ทางมหาวิทยาลัยพะเยาเริ่มดำเนินโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ และทางโครงการมองเห็นว่า การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้เข้าสังคมและคลายความเครียด ก็เลยมาสนับสนุนงบประมาณและเปิดคอร์สพัฒนาทักษะอาชีพ จากนั้นป้าก็ใช้กลุ่มไลน์ที่คุยกับเพื่อนผู้สูงอายุที่เคยมาร่วมกิจกรรมในพื้นที่นี้อยู่แล้ว ให้ทุกคนโหวตกันว่าอยากเรียนอะไร แล้วทางมหาวิทยาลัยพะเยาจะหาผู้เชี่ยวชาญมาสอนเราให้


จึงมีกิจกรรมหลากหลายเกิดขึ้น อาทิ เรียนทำตะกร้าเดคูพาจ หมอนพิงปักผ้าด้นมือ พวงกุญแจด้นมือ และสบู่สมุนไพร ที่เป็นแบบนี้เพราะส่วนใหญ่เราทำกันเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องจักร มาทำพร้อมกันที่นี่ หรือพอเรียนรู้จนเป็นแล้ว ก็สามารถนำกลับไปทำที่บ้านของตัวเองได้

จริงอยู่ที่โควิดทำให้เพื่อนสมาชิกหลายคนไม่กล้ามาร่วมงาน แต่กิจกรรมก็ช่วยฟื้นฟูชีวิตชีวาพื้นที่ของเราได้ไม่น้อย โดยเราจะจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละ 15-20 คน มาเจอกันที่นี่ทุกวันอังคาร เรียนรู้จนเป็น และใครอยากเรียนอย่างอื่น ก็รวมตัวกันมาใหม่

ส่วนผลงานที่เราทำ ทางเทศบาลก็รับไปช่วยจำหน่ายในตลาดสินค้า OTOP ตรงริมกว๊านพะเยา ในนามของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ‘สานใจฮัก’ ขายได้เขาก็แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ คนแก่ก็มีรายได้เสริม แต่ส่วนใหญ่พวกเราไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้หรอกค่ะ บางคนทำไว้ใช้เอง หรือแจกลูกหลาน คือคิดกันว่าขอแค่ได้มีอะไรให้ทำร่วมกัน มีพื้นที่ให้ได้คุยกัน เพราะทุกคนไม่อยากอยู่บ้านเหงาๆ หรือคิดว่าตัวเองเป็นภาระของลูกหลานหรอก

การได้มารวมกลุ่มกันตรงนี้ ก็เป็นเหมือนเป็นที่ที่ทำให้หลายคนพบว่าตัวเองยังมีคุณค่าต่อคนอื่นๆ อยู่ หลังจากได้เรียนกับโครงการแล้ว ก็นำทักษะที่เรียนหรือทักษะอื่นๆ มาสอนเพื่อนคนแก่ด้วยกันเพิ่มเติมอีก 

อย่างไรก็ตาม พวกตะกร้าเดคูพาจ หรือกระเป๋าผ้านี่ขายดีนะคะ คือทางเทศบาลกับทางโครงการเขาก็ช่วยหาตลาดให้ กลายเป็นว่าทุกวันนี้ทำตามออร์เดอร์กันไม่ทันแล้ว” (หัวเราะ) 

พิมพ์วิไล วงศ์เรือง
ประธานศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองพะเยา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย