/

ทุกอย่างมันอยู่ที่เรา เรียนรู้ได้ ความรู้มันเรียนไม่จบหรอก

Start
373 views
14 mins read

“ผมเป็นเกษตรกรโดยตรงเลย ทำสวนส้มมาก่อน แถวนี้เดิมก็สวนส้มทั้งนั้น พอไม่ค่อยดีก็ต้องแปลงอาชีพแล้วล่ะ ก็มาขายไม้ใบ ไม้ป่า พวกต้นสาละ แล้วก็ทำไม้ดัด (ไม้ประดับตัดแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ที่ดัดด้วยโครงเหล็ก) ขายควบคู่ ทำหลายอย่าง อันไหนเวิร์กสุดก็ทำอันนั้น ที่มาทำพืชเศรษฐกิจไม้ดัดกับไม้ต่อยอดก็ตามเพื่อน ตอนนั้นก็มีไม่กี่สวน เห็นต้นไทรเขาทิ้ง ต้นไทรไม่อยากให้ปลูกในบ้าน ชาวบ้านไม่เอา ก็ไปขอเขา แต่เดี๋ยวนี้ต้องซื้อกิ่งแล้วนะ ไม่มีให้ขอแล้ว ไทรมีตั้ง 5-60 กว่าชนิดที่เอามาทำได้ แต่ก่อนก็ใช้พวกต้นข่อย ตะโกด้วย เราก็เอามาเสียบต่อยอด มาเปลี่ยนใบใหม่ ตัดแต่งทรง ซ่อมกิ่ง เพิ่มหัว อย่างต้นนี้มีแค่เจ็ดหัว มีตาออกมาเราไม่ตัดมันก็งอกเป็นแปดหัว เพิ่มหัวก็เพิ่มตังค์ได้อีก

การทำสวนไม้ดัดต้องใช้เวลา ทุกอย่างต้องใช้เวลาหมด ลงทุนเวลา งานมือทั้งนั้น การทำก็เริ่มจากใช้ลวดชุบ มันอยู่ได้เป็นสิบปี ไม่ค่อยเป็นสนิม เอาลวดมาดัดให้ตรง ตอนแรกผมก็ใช้มือแหละ ตอนหลังถึงได้ดัดแปลงทำรางลูกล้อมาเป็นเครื่องรีดเส้นลวด แล้วก็ใช้ประแจมือเบอร์ 17 ดัดไปตามแบบ ทรงกลมมั่ง เหลี่ยมมั่ง ปิรามิดมั่ง แบบก็ดูเอารอบตัวนี่แหละ อย่างพวกสิงสาราสัตว์ ช้าง ม้า สิบสองนักษัตร ผมอยากได้ก็นั่งวาดแบบลงบนกระดาษก่อน หาสัดส่วน ไม่งั้นมันเข้าไม่ได้ เดี๋ยวเบี้ยว ถ้าไม่มีสัดส่วน สิบอันมันก็ไม่เหมือนกันเลย สมมติลูกค้าอยากได้ช้างร้อยตัวเราต้องทำทั้งชุดให้เหมือนกัน พอเราดัดลวดเป็นโครงแล้วก็เอามาปักลงกระถางปลูกต้นไม้ ส่วนใหญ่ก็ใช้ต้นชาฮกเกี้ยนปลูกลงไปแล้วก็รอโต ระหว่างนี้ก็คอยตัดแต่ง เอาเชือกล็อกกิ่ง ดัด ๆ ไปเดี๋ยวก็เนียน เดี๋ยวก็สวย ต้นพวกนี้เราซื้อมาจากคลอง 15 กระจายรายได้ไป ไม่ใช่ทำคนเดียวเหมาหมด กระถางก็ให้เพื่อนหล่อมาให้ เดิมผมจะคิดทำกระถางนะ แต่โหย เหนื่อยเหลือเกิน งานปูนเป็นงานที่เหนื่อยและหนัก บางอันไม่มีผมก็ทำเอง ตอนบ่ายนี่อย่าขึ้นปูนเชียวนะ เที่ยงคืนไม่ได้นอน กว่าปูนจะแห้ง กว่าจะปล่อยมือได้

ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 และเป็นส.ท. (สมาชิกสภาเทศบาล) หลายสมัย ก็เป็นคนในพื้นที่ สวนเราก็เป็นแหล่งผลิตด้วย ขายด้วย มีคนนั้นคนนี้มาเที่ยว เลยทำแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตั้งเป็นศูนย์อยู่ข้างเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ คนเข้ามา เราก็ขายของได้ คนแถวนี้มีขนม มีผัก ก็มานั่งขายอยู่กับเรา นักท่องเที่ยวมาก็ไปตามสวนในชุมชนเรา สวนที่คลอง 11 คลอง 12 หลัก ๆ ก็มาที่ผม เพราะผมต้องไปแอ็กชั่น ดัดลวดให้เขาดู ตอนเที่ยงเขากินอาหารเราก็นั่งดัด เอาไปรีด ดัดจนเสร็จตัวนึง นักท่องเที่ยวที่มาก็มาดู ๆ แล้วก็ไป ไม่ค่อยซื้อ เพราะจะซื้อทีก็ต้องคิดด้วยว่าจะเอาไปตั้งตรงไหน บางคนก็มาดูก่อน มองสถานที่ไว้ จะซื้อไม้ฟอร์มไหนไปตั้ง เราก็ต้องมีหลากหลาย อันไหนที่ตลาดไม่ต้องการผมก็ไม่ทำ ต้นทุนเราทั้งนั้น ทำอันที่ขายได้ คนซื้อก็หลากหลาย บางคนเจอสวยแล้วซื้อก็มี แต่เราไม่ได้รีบว่าคุณต้องซื้อผมนะ ไม่ซื้อไม่เป็นไร ขอให้มานั่งคุยกัน

โซนสนั่นรักษ์เป็นแหล่งความรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตร อยากรู้เรื่องเด็ดยอด ลวดดัด อยากรู้ว่าทำยังไง ? ผมก็บอกหมด ทำลวดดัดให้ดู เด็ดยอดต่อกิ่งให้ดู บางคนบอกเสียดายกิ่งหัก ผมบอกพี่จะเสียดายอะไรก็จับปักสิ เขาบอกได้ด้วยเหรอ ? เขาไม่รู้ไง ไม้นี้มาหักทิ้ง ปักไปมันก็ขึ้นแล้ว เราก็ไปใส่กระถาง เป็นไม้แคระ เป็นบอนไซ ได้ตังค์กลับมาอีกนะ บางทีเราตัดทิ้ง ๆ ว่าง ๆ ก็เอามาเสียบ ขายได้กระถางละยี่สิบบาทแล้ว ถ้าคุณทำสักร้อยกระถางเป็นเงินเท่าไหร่ล่ะ ? บางอันมันตีเป็นราคาได้ เราก็ให้ความรู้เขาไป เขาจะเอาไปทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่เขา บางคนบอกเราไปสอนเดี๋ยวเขาก็ทำแข่งกับเราสิ ผมไม่เคยกลัวเรื่องจะมีคู่แข่ง ต่างคนต่างขาย ทางใครทางมัน เหมือนเวลาคนจีนเขาอยู่ใกล้กันทำไมเขาขายได้ ยิ่งทำเยอะยิ่งดี ลูกค้าได้มีตัวเลือก แค่อย่ามาขัดกันแล้วกัน อย่างในหมู่บ้านบางคนอยากทำ ผมก็บอกให้เขาทำ เขาบอกพี่ต้องหาหน้าร้านให้หนูด้วย ผมบอกจะไปหาทำไม ? ทำรวมเป็นกลุ่ม เดี๋ยวนี้ขายออนไลน์กันเยอะแยะ ตั้งบ้านใครบ้านมัน บ้านนึงห้าต้นสิบต้น เราก็สอนให้ฟรี บางคนบอกผมว่าทำไม่ได้ ตังค์ไม่มี ต้องไปซื้อรถหกล้อ ไปหาเช่าที่ โน่นนี่นั่น ผมบอกผมมาทีแรกผมมีปิ๊กอัพคันเดียวเอง คุณไม่ต้องเริ่มใหญ่ แต่เขาเห็นเราเป็นรูปเป็นร่างแล้วไง เราทำสวนไม้ดัดมาประมาณ 22 ปีแล้ว แต่ตอนเริ่มต้นเขาไม่เห็น เราทำชักรอกรถพัง อาจารย์ก็ไม่มีมาสอนนะ ลองผิดลองถูกเอง ต้องลงมือทำจริง ๆ จัง ๆ เลย เอาให้ได้ จะมาทำเล่น ๆ ไม่ได้ อยากได้อะไรก็ไปหา ดูกระต่ายตัวนี้สิ ผมก็เอามาจากกระสอบปุ๋ย ตรามันเป็นลายกระต่าย ผมก็เอามาเป็นแบบ ทุกอย่างมันอยู่ที่เรา เรียนรู้ได้ ความรู้มันเรียนไม่จบหรอก”

ณรงค์ อู่ผลเจริญ

สวนผู้ใหญ่อ้วนไม้ดัด คลอง 12

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย