“นครสวรรค์มีศักยภาพในระดับครัวของภาคเหนือตอนล่าง ถ้าเราส่งเสริมเรื่องวัตถุดิบปลอดภัยเข้ามาอีก ครัวของเราจะมีมูลค่าเพิ่มได้อีกเยอะ”

Start
262 views
12 mins read

“เราลาออกจากงานประจำในบริษัทที่กรุงเทพฯ และกลับบ้านมาทำสวนผักและผลไม้ที่นครสวรรค์ราวปี 2560 ปลูกฝรั่ง มะม่วง ส้มโอ มะนาว กล้วย ฯลฯ ตั้งชื่อว่า ‘ไร่อุดมสุข’

ที่หันมาทำการเกษตร จะว่าเป็นเทรนด์ก็ใช่ และเราก็มีที่ดินที่บ้านเป็นต้นทุนอยู่แล้ว เราก็อยากอยู่บ้านด้วย จึงคิดว่าถ้าทำตรงนี้ได้ก็น่าจะมีความยั่งยืนกว่า ขณะเดียวกัน ก็มาคิดว่าถ้าเราสามารถทำฟาร์มเกษตรที่สามารถผลิตอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคได้ เมืองของเราก็น่าจะยั่งยืนไปด้วย ก็เลยศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ รวมถึงประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนการทำเกษตรปลอดภัยมาตั้งแต่เริ่มอาชีพใหม่

จนมาปี 2562 เราได้ยินข่าวจากเทศบาลนครนครสวรรค์ว่าจะมีการจัดตั้งกฎบัตรนครสวรรค์ เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้มันคืออะไร แต่ในรายละเอียดของกฎบัตร มีคำว่าอาหารปลอดภัย กับคำว่าพัฒนาเมืองอยู่ด้วย ก็เลยตัดสินใจไปร่วมประชุมกับเขาที่สำนักงานเทศบาล

พอไปประชุมก็ได้รู้จักอาจารย์ฐาปนา (ฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทย) คุยกับเขาว่าเราพอมีเครือข่ายที่สนใจการทำเกษตรปลอดภัย รวมถึงกลุ่มที่อยากทำเกษตรอินทรีย์อยู่ ในเมื่อกฎบัตรนครสวรรค์มีกิจกรรมการออกแบบสมาร์ทฟาร์มแล้ว เราจะขอขึ้นกลุ่มเกษตรและอาหารปลอดภัยด้วยได้ไหม อาจารย์ฐาปนาก็บอกว่าดีเลย เพราะคุณสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ เขาก็อยากให้มีสาขานี้ด้วย เพียงแต่ภายในเขตเทศบาลนครไม่มีกลุ่มเกษตรกรอยู่เลย

กฎบัตรนครสวรรค์เป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมให้กลุ่มของเราได้รู้จักหน่วยงานต่างๆ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เข้าถึงผู้ประกอบการที่กำลังมองหาพืชผักปลอดภัยไปใช้กับธุรกิจ เราก็รวมกลุ่มเกษตรปลอดภัยจาก 15 อำเภอทั่วจังหวัด นำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภัตตาคารอาหารจีนเล่งหงษ์ที่ทำคอร์สอาหารสุขภาพและอาหารคลีน ครัวของโรงพยาบาลศรีสวรรค์ที่ต้องการเสิร์ฟผักอินทรีย์แก่คนไข้ รวมถึงกิจการอื่นๆ เป็นต้น

นอกจากเกษตรกรอย่างพวกเราได้เจอตลาด กฎบัตรยังเชื่อมให้เราได้มีโอกาสบุกเบิกพื้นที่การเรียนรู้อีกด้วย

นั่นคือการร่วมมือกับ คุณตุ้ย-ธนาเทพ ถึงสุ เจ้าของโรงแรมแกรนด์ฮิลล์ ที่เขามีที่ดินเปล่าที่อยากพัฒนาเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในตัวเมือง เขาได้แบบการปรับปรุงพื้นที่เป็นสมาร์ทฟาร์มจากทางกฎบัตรมาแล้ว แต่เขาต้องการกลุ่มเกษตรกรเข้าไปจัดการพื้นที่ เพื่อปลูกผลผลิตออร์แกนิกส่งให้กับโรงแรม ขณะเดียวกันก็ใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ โดยตั้งชื่อว่า ‘ฟาร์มสุขสมใจ’

เราก็เลยใช้ฟาร์มสุขสมใจของคุณตุ้ยเป็นทั้งพื้นที่ที่เปิดให้คนมาเรียนรู้เรื่องการเกษตร และพื้นที่กึ่งๆ สำนักงานของกลุ่มกฎบัตรเกษตรและอาหารปลอดภัยของพวกเรา ซึ่งตอนนี้เรามีสมาชิกราว 20 กว่าคนทั่วจังหวัด

บทบาทของเราคือการรวมผลผลิตจากสมาชิกเพื่อส่งให้โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาลที่ต้องการวัตถุดิบปลอดภัย ส่วนที่เหลือ ก็แล้วแต่สมาชิกจะนำไปขายตามตลาดนัดต่างๆ ทั้งนี้เราไม่ได้ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางแต่อย่างใด ใบสั่งซื้อจากลูกค้ามาเท่าไหร่ ก็เท่านั้น เราไม่ได้กำไรอะไรจากตรงนี้ เพียงแค่อยากส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการขายให้พี่น้องเกษตรกร และกระตุ้นให้เกษตรกรรายอื่นๆ หันมาทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์กันมากๆ

นครสวรรค์เป็นเมืองอาหารการกินค่ะ เรามีทั้งแหล่งผลิตวัตถุดิบชั้นเลิศ และร้านอาหารท้องถิ่นที่เสิร์ฟแต่เมนูรสเลิศ เรามีศักยภาพในระดับครัวของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนได้ ถ้าเราส่งเสริมเรื่องวัตถุดิบปลอดภัยเข้ามาอีก ครัวของเราจะมีมูลค่าเพิ่มได้อีกเยอะ และที่สำคัญคือสุขภาพของผู้บริโภคก็จะดีขึ้น เพราะอาหารการกินที่ดีคือยาบำรุงสุขภาพกลายๆ นั่นเองค่ะ”

รัตนาภรณ์ ทองแฉล้ม
ประธานกฎบัตรสาขาเกษตรและอาหารปลอดภัย จังหวัดนครสวรรค์
เจ้าของไร่อุดมสุข

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย