“นครสวรรค์หลังจากนี้น่าจะมีการพัฒนาไปอีกมาก สิ่งสำคัญคือเราจะนำประโยชน์จากการพัฒนา ให้กระจายไปยังพี่น้องประชาชนทุกหย่อมย่านอย่างทั่วถึง”

Start
301 views
15 mins read

“ก่อนจะมีการจัดตั้ง บพท. หน่วยงานที่สนับสนุนการจัดทำกฎบัตรคือ สกสว. เขาให้งบการทำวิจัยกับ 6 เมืองนำร่อง ได้แก่ ขอนแก่น ระยอง เชียงใหม่ ป่าตอง (ภูเก็ต) สระบุรี และอุดรธานี ส่วนเมืองนครสวรรค์ไม่ได้อยู่ในแผนนี้ตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมทราบข่าวถึงเครื่องมือการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่นี้ ผมก็ติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการนำองค์ความรู้นี้มาช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ ผมมีโอกาสได้อ่านบทความของอาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตร เกี่ยวกับกฎบัตรและการพัฒนาเมืองสู่สมาร์ทซิตี้ เลยเชิญอาจารย์ฐาปนามาเป็นวิทยากรที่นครสวรรค์  จากนั้นพอมีสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองที่ไหน ผมก็ตามเขาไปหมด เพราะอยากเรียนรู้

กระทั่งขอนแก่น หนึ่งในเมืองที่ได้รับทุนงานวิจัยและมีการวางรากฐานการพัฒนาเมืองอย่างเข้มแข็งแล้ว เขาขอไม่รับทุนต่อ โดยอยากเปิดโอกาสให้เมืองอื่นๆ ที่ต้องการเครื่องมือหนุนเสริมนี้ อาจารย์ฐาปนาจึงโทรหาผม ผมก็บอกว่าดีเลย กฎบัตรนครสวรรค์จึงเริ่มต้นขึ้นในปี 2562

ในขณะที่เมืองอื่นๆ เขาอาจจะมีกลุ่มนักวิจัย หรือบริษัทพัฒนาเมืองเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อน นครสวรรค์เป็นเมืองที่มีภาครัฐอย่างเทศบาลนครนครสวรรค์เป็นเจ้าภาพ แต่นั่นล่ะ จะบอกว่าเทศบาลฯ เราขับเคลื่อนเองก็ไม่ถูกนัก เพราะเราร่วมมือกับนักวิจัยและชาวนครสวรรค์ในทุกภาคส่วนมาทำตรงนี้

ร่วมงานกันอย่างไร? สิ่งแรกที่เราคุยคือเราจะทำอะไรก่อน ผมก็ให้ตัวแทนทุกฝ่ายมาคุยกันให้ได้มากที่สุด มาสะท้อนปัญหาของเมือง ความต้องการ และทิศทางที่แต่ละคนมองไปยังอนาคต รวมถึงการนำเสนอโมเดลการพัฒนาเมืองจากที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศให้ทุกคนเข้าใจ เพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทของเมืองเรา  

แน่นอน คนนครสวรรค์มีหลายภาคส่วนมาก ก่อนอื่นเราต้องทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่ากฎบัตรคืออะไร และมันช่วยพวกเราได้อย่างไร รวมถึงเกณฑ์การชี้วัดต่างๆ ศัพท์แสงด้านการพัฒนาเมือง ผมก็ร่วมเรียนรู้ไปกับพี่น้องประชาชนนี่แหละ ตลอด 2 ปีแรก เราชวนภาคส่วนต่างๆ มาประชุมกันกว่า 40 ครั้ง แต่ละครั้งคนฟังไม่ต่ำกว่า 200 คน 

พอประชุมกันจนคิดว่าเรากระจายข้อมูลไปได้ทั่วแล้ว ก็เริ่มขับเคลื่อน ซึ่งจริงๆ แล้วนายกเทศมนตรี (จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ) เขาวางพื้นฐานไว้ดีแล้วนะ มีการก่อสร้าง ‘พาสาน’ มีการทำคลองบำบัดน้ำเสีย ‘คลองญวนชวนรักษ์’ หรือการที่เทศบาลผลิตน้ำประปาเองจำหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อลดต้นทุนค่าครองชีพให้ผู้คนในเขตเทศบาล จนเราได้รางวัลชนะเลิศการจัดการระบบน้ำสะอาดและน้ำประปาของอาเซียน (โครงการรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน)

เราก็ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ โดยเริ่มจากการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าบริเวณถนนโกสีย์ซึ่งมันซบเซาลงไปมากให้กลายเป็นย่านที่เอื้ออำนวยต่อการเดินเท้า อ้างอิงโมเดลมาจาก Smart Block ของบาร์เซโลนา ด้วยเชื่อว่าถ้าเมืองมันเอื้อให้คนเดิน ลดการใช้รถส่วนตัว มีขนส่งมวลชนที่ได้ประสิทธิภาพและมีราคาย่อมเยา รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้คน ร้านค้าก็จะขายของได้มากขึ้น เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัว

ทั้งนี้ เมื่อ บพท. ได้มอบทุนสนับสนุนโครงการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ แก่อาจารย์ฐาปนา จึงมีการต่อยอดแนวคิด Smart Block ในพื้นที่บริเวณศูนย์ท่ารถให้กลายเป็นย่านนวัตกรรม รองรับการลงทุนของศูนย์การค้าและโรงพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ และทำให้ผู้ประกอบการเดิมในย่านได้ประโยชน์สูงสุดด้วย

นอกจากการฟื้นฟูย่านด้วยสมาร์ทซิตี้ เรายังตั้งคณะกรรมการกฎบัตรนครสวรรค์ขึ้น โดยครอบคลุมกรอบการพัฒนาเมือง 10 สาขา อาทิ MICE และเศรษฐกิจสีเขียว, อุตสาหกรรมสีเขียว, เกษตรและอาหารปลอดภัย, ที่อยู่อาศัย, สวนสาธารณะ, สุขภาพและสุขภาวะ ฯลฯ แต่ละสาขาก็มีการตั้งกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนไปยังเป้าหมายของสาขานั้นๆ ซึ่งพอมีกรอบที่ชัดเจนแบบนี้ เวลาจะขับเคลื่อนมันก็ง่าย ผู้ประกอบการหรือบุคคลที่สนใจเรื่องใดเป็นพิเศษก็สามารถหาแนวร่วมช่วยกันขับเคลื่อนต่อไปได้

และถึงแม้เทศบาลจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของกฎบัตร แต่สุดท้าย การขับเคลื่อนกรอบของทั้ง 10 สาขา จะเป็นหน้าที่ของสมาชิกในกรอบนั้นๆ ซึ่งก็คือตัวแทนจากภาคประชาชนในนครสวรรค์เอง เพราะบทบาทของเทศบาลคือการอำนวยความสะดวกให้ภาคประชาชน พร้อมไปกับการหาวิธีลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาเมือง ส่วนการกำหนดทิศทางหรือวาง Roadmap ของเมือง คือหน้าที่ของพวกเราทุกคน 

ผมทำงานเทศบาลมาหลายสิบปี และปีนี้ผมอายุ 70 แล้ว ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพอรถไฟฟ้าสายใหม่ตัดผ่านนครสวรรค์อีก 10 ปีข้างหน้า จะทันเห็นหรือเปล่า แต่นั่นแหละ สิ่งที่พอจะทำได้คือการวางรากฐานและเตรียมเมืองให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด นครสวรรค์หลังจากนี้น่าจะมีการพัฒนาไปอีกมาก แต่สิ่งสำคัญคือเราจะนำประโยชน์จากการพัฒนาให้กระจายไปยังพี่น้องประชาชนทุกหย่อมย่านอย่างทั่วถึง ไม่ใช่แค่การกระจุกอยู่แค่กลุ่มคนหรือกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม”

สมศักดิ์ อรุณสุรัตน์
ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์
รองประธานกฎบัตรไทย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย