“นครสวรรค์ไม่จำเป็นเมืองโดดเด่นหรือหวือหวาใดๆ ในอีกมุมผมมองว่าดีไม่ดี เมืองแห่งนี้มีความพร้อมเป็นต้นแบบของเมืองเกษตรสมัยใหม่ก็ได้”   

Start
318 views
11 mins read

ในฐานะตัวแทนสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ผมจึงได้รับเชิญจากทางกฎบัตรนครสวรรค์ให้เป็นที่ปรึกษาเรื่องการขับเคลื่อนเมืองในกรอบของสมาร์ทซิตี้ รวมถึงได้ไปบรรยายองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับทางเทศบาลและเครือข่ายภาคประชาชน

เมื่อเรามองเห็นความตั้งใจของผู้นำเมืองสักแห่งในการเป็นสมาร์ทซิตี้ สิ่งแรกที่ผู้นำหรือภาคส่วนต่างๆ ในเมืองต้องตอบให้ได้คือ แล้วประชาชนจะได้อะไรจากสิ่งนี้ ซึ่งคำตอบของผู้คนในแต่ละเมืองอาจจะคล้ายกันบ้าง แต่ด้วยบริบทหรือข้อท้าทายของแต่ละเมือง ความต้องการจึงไม่มีทางเหมือนกัน

ผมอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีทางรู้หรอกว่าคนนครสวรรค์กำลังเผชิญกับปัญหาอะไร คนที่รู้ดีคือผู้บริหารเมือง ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับฟังเสียงของประชาชน และหาแนวทางในการแก้ปัญหา โดยทาง DEPA จะเข้าไปหนุนเสริมเรื่องการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ผมก็ไปพูดเรื่องการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) การออกแบบ solution นำเทคโนโลยีที่มีมาระบุปัญหา (problem statement) ที่เมืองกำลังเจอให้ได้


หนึ่งในแนวทางที่ผมเสนอคือการให้ผู้บริหารเมืองใช้แอปพลิเคชั่น Traffy Fondue แอปพลิเคชั่นสำหรับรับแจ้งปัญหา ข้อเสนอแนะจากผู้แจ้ง และระบบสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมกันนั้นก็เสนอกระบวนการให้ประชาชนเข้าถึงแอปพลิเคชั่นนี้ได้อย่างทั่วถึง จุดไหนเจอน้ำท่วม จุดไหนมีปริมาณ PM2.5 หนาแน่น ก็ให้ประชาชนแจ้งมา เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ถึงไม่มีโครงการสมาร์ทซิตี้ เมืองสร้างสรรค์ หรือกระทั่งเมืองแห่งการเรียนรู้ ผมมองว่านครสวรรค์ก็เติบโตไปตามทิศทางที่ดีอยู่แล้ว แต่นั่นล่ะ ถ้ามีเครื่องมือเหล่านี้ มันจะช่วยหนุนเสริมทำให้เมืองเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างแพลทฟอร์มใหม่ๆ กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิดมาช่วยกันพัฒนาเมือง เพราะเหตุผลหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่กลับบ้าน เพราะเขาไม่เห็นโอกาส หรือไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขาสามารถริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ได้

พร้อมกันนั้น DEPA ยังได้จัดทำโครงการ Smart City Ambassador หรือโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ ตามหาคนรุ่นใหม่ในนครสวรรค์มาเรียนรู้ และร่วมกันหาเทคโนโลยีเพื่อสร้าง solution ให้กับเมือง โดยนครสวรรค์ยังเป็นเมืองที่ได้ตราสัญลักษณ์นี้เป็นรุ่นแรกเมื่อปี 2564

นครสวรรค์เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มเปี่ยม เพราะเมืองมีจุดเชื่อมโยงทั้งทางรถและทางรางไปถึงพม่า ไปถึงอินโดจีนได้ มีโรงเรียนการแพทย์ มีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานครบครัน สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานเมืองมาตั้งแต่ต้น เราก็ชวนภาคส่วนต่างๆ หารือกันว่าเราจะวางวิสัยทัศน์เมืองเป็นแบบไหน เป็นเมืองสุขภาวะไหม หรือเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภาคเหนือตอนล่าง เพราะลูกหลานของคนที่นี่จบออกมาเป็นหมอกันเยอะมาก ก็ค่อยๆ ประเมิน หาตัวตน และสร้างกระบวนการให้เมืองเดินหน้าไปยังทิศทางแบบนั้นกันต่อไป

ในอีกมุมมองหนึ่ง ผมมองว่านครสวรรค์เป็นเมืองรอง ไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่น อย่างไรก็ตาม ผมว่าสิ่งนี้เป็นจุดขาย เพราะกายภาพของเมืองมีทุกอย่างครบและที่สำคัญคือมีความปลอดภัย ผมเคยไปบรรยายที่ชะอำ ก็ไปถามผู้คนที่นั่นว่าเขาอยากเป็นอะไร ตอนแรกก็คิดว่าเขาคงอยากเป็นเมืองท่องเที่ยวให้ผู้คนแวะเยือนก่อนไปหัวหิน แต่เปล่าเลย หลายภาคส่วนมองว่าชะอำควรเป็นเมืองการเกษตรที่เงียบสงบ ปลอดภัย และมีความยั่งยืนในด้านธุรกิจ

นั่นล่ะครับ นครสวรรค์ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองโดดเด่นหรือหวือหวาใดๆ หากเป็นเมืองที่มีความปลอดภัย ผู้คนมีสุขภาพดี มีเทคโนโลยีที่มาช่วยหนุนเสริมเรื่องการเกษตรและอุตสาหกรรม ในอีกมุมผมมองว่าดีไม่ดี เมืองแห่งนี้มีความพร้อมเป็นต้นแบบของเมืองเกษตรสมัยใหม่ก็ได้”   

ดร. ภาสกร ประถมบุตร
รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEPA)
https://www.depa.or.th/th/home

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย