/

นี่คือเมืองเล็กๆ ที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย วิถีชีวิตผู้คนค่อนข้างแตกต่างกันมาก แต่ทุกคนกลับเป็นมิตร

Start
359 views
9 mins read

“หนูเป็นคนอำเภอรามัน ย้ายมาอยู่ในตัวเมืองยะลา เพราะเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ หนูเรียนคณะวิทยาการจัดการ สาขานิเทศศาสตร์ เพราะชอบทำสื่อ และอยากทำภาพยนตร์ค่ะ

ระหว่างเรียน หนูก็มีโอกาสทำหนังสั้นและสารคดีส่งประกวดตามเวทีต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะทำตามโจทย์ของการประกวด เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างหลังที่หนูสนใจเป็นพิเศษ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองยะลาเพื่อจะนำมาพัฒนาเป็นบทสารคดี หนูกลับพบว่ามีข้อมูลเชิงเอกสารที่ถูกเผยแพร่ค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่มีเรื่องน่าสนใจตั้งเยอะ


ที่ผ่านมา หนูแทบไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิชาสังคมศึกษาที่สอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนส่วนใหญ่ก็จะสอนแต่ประวัติศาสตร์ส่วนกลาง อาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ จะมีครูบางท่านที่สอดแทรกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างเรื่องราวของอาณาจักรปัตตานีเข้ามาในบทเรียนบ้าง แต่ก็เป็นในระดับผิวเผิน อาจเพราะเวลาในชั้นเรียนจำกัด หรือหลักสูตรไม่เอื้ออำนวย

เพราะเรียนมาแต่ประวัติศาสตร์ที่อยู่ไกลตัว เรื่องใกล้ตัวเรากลับไม่ค่อยรู้เลย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนูพยายามค้นคว้าข้อมูลของท้องถิ่น เพราะฝันไว้ว่าอยากทำหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของเมือง เรื่องของผู้คนยะลา และในสามจังหวัดชายแดนใต้

การได้ร่วมเป็นอาสาสมัครงานยะลาสตอรี่ของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ช่วยเปิดโลก และทำให้หนูได้ทราบเรื่องราวที่ไม่เคยรู้เกี่ยวกับเมืองยะลามาก่อนหลายเรื่องมาก งานนี้เกิดขึ้นจากที่กลุ่มนักวิจัยจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฟอร์มทีมเยาวชนในยะลามาร่วมกันคัดสรรเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมือง ก่อนจะจัดทำเป็นนิทรรศการเปิดให้เข้าชม

ลำพังแค่สถานที่จัดงานอย่างโรงแรมเมโทร ซึ่งหนูขี่รถผ่านบ่อยๆ แต่ไม่เคยสนใจมาก่อน ก็มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ของเมือง โดยเฉพาะการเป็นที่พักสำคัญของเกษตรกรยางพาราที่เข้ามาพักที่นี่เพื่อรอขายยางตอนเช้า เป็นต้น ขณะเดียวกันนิทรรศการที่นำเสนอภายในอาคารโรงแรมแห่งนี้ อย่างที่มาของไก่เบตง แบบอักษรจากป้ายร้านค้าในเมือง หรือสื่อศิลปะที่สะท้อนความรุนแรงของสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็ทำได้อย่างสร้างสรรค์ในแบบที่ไม่เคยได้เห็นอะไรแบบนี้มาก่อน อันนี้ไม่ได้อวยเพราะหนูเป็นทีมงานนะ แต่ดูจากผลตอบรับของผู้ที่เข้ามาชมในงาน ก็เป็นแบบเดียวกับหนูเช่นกัน (ยิ้ม)

หนูคิดว่างานงานนี้เหมือนย่อส่วนยะลาในรอบหลายปีหลังมานี้ไว้ในอาคารหนึ่งหลังและถนนหน้าอาคารอีกหนึ่งเส้น มันสะท้อนภาพยะลาที่หนูคุ้นเคยและรู้สึกผูกพันดี นี่คือเมืองเล็กๆ ที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย วิถีชีวิตผู้คนค่อนข้างแตกต่างกันมาก แต่ทุกคนกลับเป็นมิตร และพร้อมเปิดใจอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว และสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เกิดประวัติศาสตร์เฉพาะตัว ที่หนูคิดว่ามีคุณค่ามากพอให้เราต้องบอกเล่าต่อไป”  

การีม๊ะ กูนิง

นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา


กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย