ประสบการณ์และภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่มีค่า แต่สิ่งเหล่านี้จะมีค่ามากขึ้นถ้ามันถูกแบ่งปัน

Start
489 views
11 mins read

“ไอ้เฒ่า เป็นภาษาใต้ หมายถึงคนที่คงแก่เรียน หรือในบางพื้นที่ยังแปลได้ว่าเพื่อน ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร หรืออยู่ในสังคมไหน ทุกพื้นที่จะมีไอ้เฒ่าที่เป็นเหมือนหัวเรี่ยวหัวแรง เป็นมันสมอง หรือเจ้าของภูมิปัญญาของกลุ่มนั้นๆ อยู่เสมอ

ในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของตำบลปากพูน ผมรับผิดชอบโครงการที่ 2 ที่ชื่อ เกลอปากพูน: การสร้างกลไกความร่วมมือและเครือข่ายพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ภายในตำบลปากพูน โดยหน้าที่ก็คือการตามหาไอ้เฒ่าจากพื้นที่ต่างๆ ยึดตามโครงการย่อยที่มี ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่ขับเคลื่อนกิจกรรมอุโมงค์ป่าโกงกาง เจ้าของสวนมะพร้าว คนเฒ่าคนแก่ที่มีประสบการณ์ร่วมในประวัติศาสตร์ของชุมชน เป็นต้น ทุกโครงการล้วนมี key performance และผมต้องหาวิธีให้ key performance เหล่านั้นมาทำงานร่วมกัน ซึ่งยังรวมถึงภาครัฐอย่างเจ้าหน้าที่จากเทศบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และเพื่อทำให้กลไกของความร่วมมือเกิดเป็นรูปธรรม การจัดตั้งพื้นที่กลางของชุมชนขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะเป็นพื้นที่สำหรับปรึกษาหารืออย่างเดียวก็น่าเสียดาย ในเมื่อชุมชนเรามีของดี เราก็ควรนำมาขาย ด้วยเหตุนี้ ‘ตลาดความสุขชาวเล’ จึงเกิดขึ้นบริเวณแพของคุณทักษิณ แสนเสนาะ ในหมู่ที่ 4 ซึ่งเป็นจุดขึ้นสินค้าของชาวประมงในพื้นที่อยู่แล้ว ตลาดแห่งนี้จำหน่ายอาหารทะเลจากปากพูน อาหารทะเลแปรรูปโดยกลุ่มแม่บ้านในชุมชน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ของชาวสวนอย่างน้ำตาลมะพร้าว น้ำผึ้งป่าโกงกาง และอื่นๆ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของปากพูน

นอกจากนี้ตัวตลาดเองก็ยังเป็นจุดเช็คอินเริ่มต้นท่องเที่ยวชุมชนปากพูน และจุดขึ้นเรือชมอุโมงค์ป่าโกงกาง เรียกได้ว่าถ้านักท่องเที่ยวลงจากสนามบินมา ก็สามารถพุ่งตรงมาเช็คอินที่นี่ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนได้ โดยทางโครงการกำลังประสานกับทางสนามบินในการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ให้พื้นที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ให้นักท่องเที่ยวได้รู้ว่ามานครแล้ว นอกจากวัดเจดีย์ วัดพระธาตุ หรือบ้านคีรีวงศ์ ตำบลปากพูนของเราก็มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ดีงามไม่แพ้กัน

ปัจจุบันตลาดความสุขชาวเลได้รับการบริหารจัดการโดยชุมชนหมู่ 4 มีผู้ใหญ่บ้านกระจาย ชวาสิทธิ์ เป็นประธาน มีคุณทักษิณเจ้าของพื้นที่เป็นรองประธาน และมีคณะกรรมการคอยขับเคลื่อนกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นตลาดชุมชนที่มีส่วนผสมแบบบริษัทที่มีระเบียบการทำงานอย่างเป็นทางการ แต่ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนบ้าน พี่น้อง หรือคนในครอบครัว ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของผู้คนในหมู่ 4 แห่งนี้อยู่แล้ว เราตั้งชื่อพื้นที่ว่าตลาดความสุขชาวเล ซึ่งหาได้มาจากแค่ว่าเมื่อตลาดค้าขายดี ชาวเลหรือผู้ประกอบการจะมีความสุข แต่ยังหมายรวมถึงผู้ที่มาเยือนก็จะได้ความสุขกลับไปด้วย

ย้อนกลับมาที่ไอ้เฒ่า สำหรับคำถามที่ว่าผมมีวิธีการโน้มน้าวไอ้เฒ่าและผู้คนในชุมชนให้มาร่วมกันอย่างไร ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ๆ นี่เขาพร้อมจะร่วมกับเราอยู่แล้วครับ ส่วนถ้าเป็นผู้สูงอายุ ผมจะอธิบายว่าประสบการณ์และภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่มีค่าครับ แต่สิ่งเหล่านี้จะมีค่ามากขึ้นถ้ามันถูกแบ่งปัน ถ้าภูมิปัญญาได้รับการแบ่งปัน และมีเครื่องมือถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อๆ ไป มันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ ซึ่งก็ย้อนกลับมาที่ตลาดความสุขชาวเลนั่นล่ะครับ ถ้าเศรษฐกิจดี ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดี ชุมชนของเราก็มีทั้งความยั่งยืนและความสุขครับ”   

ผศ.ดร. เชษฐา มุหะหมัด
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และนักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ปากพูน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย