/

“ป้าภูมิใจและมีความสุขทุกครั้งที่ได้บรรยายเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ เพราะได้เผยแพร่ความรู้ให้คนที่สนใจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่”

Start
173 views
14 mins read

“ป้าย้ายมาอยู่ระยองตอนอายุ 17 ปี มาทำงานเป็นเด็กเดินตั๋วโรงหนังให้โรงหนังวิกศรีอุดมในย่านยมจินดานี่ สมัยนั้นคือเมื่อเกือบๆ 50 ปีที่แล้ว ถนนยมจินดาที่มีระยะทางไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตรสายนี้นี่คึกคักมากเลยนะ มีโรงฝิ่น โรงแรม ร้านขายทอง ร้านรวง ร้านนั่งดื่ม มีที่ขึ้นสินค้าทางเรือ และโรงหนังตั้งอยู่ถึง 2 โรง คนระยองคิดอะไรไม่ออกก็มาพักผ่อน มาจับจ่ายใช้สอยบนถนนสายนี้

จุดเปลี่ยนน่าจะช่วงราวปี พ.ศ. 2527 ที่บ้านในย่านเริ่มเสื่อมโทรม และคนรุ่นหลังก็เลือกที่จะย้ายครอบครัวไปอยู่ที่อื่น โรงหนังก็ทยอยกันปิดตัว บ้านเรือนในย่านจากที่เปิดทำการค้ากันส่วนใหญ่ ก็ปล่อยให้เขาเช่า หรือไม่ก็ปิดไว้เฉยๆ 

ถึงจะซบเซา แต่ย่านยมจินดาก็ไม่ได้ตาย ยังพอมีธุรกิจดั้งเดิมที่ส่งต่อให้รุ่นลูกเปิดทำการอยู่ รวมถึงมีคนจากที่อื่นมาเช่าทำธุรกิจบ้าง ศาลเจ้าแม่ทับทิมในย่านก็ยังคงเป็นที่ยึดเหนี่ยวศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นประชากรหลักของย่านนี้ รวมถึงย่านอื่นๆ ในจังหวัด บ้านเก่าหลายๆ หลังก็มีคนมาอนุรักษ์ กระทั่งมีกระแสของการฟื้นฟูย่านเก่าเมื่อราว 10 ปีก่อน ที่ทำให้ยมจินดาซึ่งเป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่สุดของเมืองระยองเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

ป้าคิดว่าคนที่นี่เขาก็ตระหนักถึงคุณค่าของย่านนี้ดีแหละ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ก็เหมือนกับย่านเก่าอื่นๆ ที่เมื่อคนในชุมชนเริ่มหันมาพูดคุยกัน จนเกิดการตั้งกลุ่มชาวบ้านที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำเสนอคุณค่าของพื้นที่ออกมาเป็นรูปธรรม

ชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่าระยอง ถนนยมจินดา เป็นผลลัพธ์จากการที่คนในย่านยมจินดาเริ่มพูดคุยกัน และเห็นตรงกันว่าเราควรจะทำอะไรสักอย่างให้ย่านกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เราเริ่มจากประสานงานหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนในพื้นที่ เพื่อจัดกิจกรรมในย่าน มีการจัดถนนคนเดิน มีการปรึกษาหารือในการเปิดบ้านเก่าให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ไปจนถึงเกิดการจัดตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์เมืองระยอง’ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ของย่านและเมืองระยอง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดทำการเมื่อราว 6-7 ปีก่อน โดยใช้พื้นที่ภายใน ‘บ้านสัตย์อุดม’ บ้านของขุนศรีอุทัยเขตร์ (โป๊ง สัตย์อุดม) อดีตขุนนางและคหบดีในย่านแห่งนี้ ซึ่งลูกหลานของเจ้าของบ้านเปิดให้ชมรมอนุรักษ์ฯ ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เมือง โดยทางชมรมก็เป็นฝ่ายระดมทุนมาปรับปรุงพื้นที่ และได้ความร่วมมือจากชาวระยองในการรวบรวมสิ่งของมาจัดแสดง เช่น ภาพถ่ายเก่าๆ ของเมือง ภาพถ่ายเจ้าเมืองระยองในอดีต ข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อน และอื่นๆ รวมถึงเป็นร้านขายสินค้าที่ระลึกที่ผลิตโดยคนในชุมชนเรา

ป้าเป็นคนดูแลที่นี่ค่ะ ก็มีทีมงานสลับกันมาดูแล เราไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ ทุกคนจึงเป็นจิตอาสามาช่วยกันทำ ขณะเดียวกัน ถ้าช่วงไหนถนนเราจัดงานถนนคนเดิน ป้าก็จะทำก๋วยจั๊บโบราณมาขาย แต่ถ้าไม่มีงาน ป้าก็เอาสบู่ออร์แกนิก และน้ำยาอเนกประสงค์มาขายด้วย

ป้าไม่ใช่แค่คนดูแลเฉยๆ นะ เพราะถ้ามีคณะมาเยี่ยมชม ป้าก็จะเป็นคนนำชม บอกเล่าเรื่องราวที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเอง ป้าภูมิใจและมีความสุขทุกครั้งที่ได้บรรยาย เพราะได้เผยแพร่ความรู้ให้คนที่สนใจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

ทุกวันนี้ทางชมรมอนุรักษ์ฯ​ ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการบริหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ ป้าภูมิใจที่เห็นทุกคนทำงานร่วมกันอย่างโปร่งใส ถ้าหน่วยงานไหนมอบทุนมาพัฒนาพิพิธภัณฑ์หรือจัดกิจกรรม เราก็ใช้เงินนั้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทุกครั้ง ไม่มีกระเด็นเข้ากระเป๋าใคร เก็บบิลครบ และทำบัญชีไว้ตลอด ใครว่าเราไม่ได้ เพราะเรายึดมั่นหลักการ ซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม และเที่ยงตรง

แต่ถึงแม้การบริหารจัดการของพิพิธภัณฑ์จะราบรื่นดี ใช่ว่าย่านยมจินดาของเราจะไม่เจอเรื่องท้าทายหรือความขัดแย้งอะไรนะ เพราะความที่ผู้คนในย่านมีความหลากหลาย และส่วนหนึ่งก็เป็นคนชราที่อยู่ติดบ้าน พอจัดงานในย่านทีก็มีเสียงสะท้อนว่าหนวกหูรำคาญ หรือไปปิดทางเข้าบ้านเขาบ้าง หรือการจะขอความร่วมมือกับบ้านบางหลัง ถ้าเขาเห็นว่าไม่ได้เงินอะไร เขาก็ไม่เต็มใจจะร่วมกับเรา ซึ่งก็อย่างว่าแหละ บางคนเขาก็ไม่ได้เห็นคุณค่าแบบที่เราเห็น ว่ากันไม่ได้

อย่างไรก็ดี ด้วยกำลังคนที่เรามีอยู่ ก็พยายามจะประสานงานให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด ซึ่งป้าก็คิดว่าพอได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาอย่างเป็นทางการแล้ว ป้าก็พบว่าถนนยมจินดาก็เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมาได้ไกลขึ้นกว่าเดิมเยอะ”

รัตนา แก้วดาม
ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เมืองระยอง
และตัวแทนจากชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่าระยอง ถนนยมจินดา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย