/

ผมถือคติทำงานที่ได้เงินเยอะๆ เพื่อแบ่งรายได้มาทำในสิ่งที่เราอยากทำ เป็นการหล่อเลี้ยงหัวใจ

Start
1039 views
15 mins read

“ปี 2565 นี้ a.e.y.space จะมีอายุครบ 10 ปี เรียกได้ว่าอาร์ทสเปซแห่งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สมดุลชีวิตของผมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ลงตัวก็ไม่ผิดนัก

ผมออกจากงานประจำในฐานะอาร์ทไดเรคเตอร์ของค่ายเพลงแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ เพื่อกลับมาสงขลาเมื่อราว 15 ปีก่อน ความที่ครอบครัวมีธุรกิจทำประมงและส่งออกอาหารทะเลจึงต้องมาช่วยเขา แต่ทำไปได้สักพักก็พบว่านี่ไม่ใช่ทาง เลยหาเวลาไปรับงานกราฟิกดีไซน์ที่หาดใหญ่มาทำบ้าง เพราะเป็นงานที่ผมถนัดและสนุกกับมันมากกว่า

พอรับจ๊อบกราฟิกดีไซน์มากเข้าก็อยากเปิดสตูดิโอออกแบบที่นี่ แต่ก็รู้กันว่าผู้ประกอบการต่างจังหวัดมักไม่ลงทุนกับค่าออกแบบ ผมจึงตัดสินใจเปิดโรงพิมพ์ครบวงจรชื่อ Print Up ซึ่งทำให้ผมยังคงทำงานที่ตัวเองถนัด โดยสามารถนำมูลค่าของงานออกแบบไปรวมอยู่กับสิ่งพิมพ์ที่ผลิตได้

ธุรกิจโรงพิมพ์เป็นไปด้วยดี เรามีลูกค้าทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษาในสงขลาและใกล้เคียง ทำไปได้สักพัก ก็พอดีกับที่ผมไปเห็นว่ามีตึกเก่าบนถนนนางงามในย่านเมืองเก่าสงขลาประกาศขาย อาคารหลังนี้เคยเป็นภัตตาคารขึ้นชื่อซึ่งผ่านช่วงรุ่งเรืองมาหลายปีแล้ว ผมตัดสินใจซื้อมัน เพื่อไปบูรณะเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองเมืองนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ย่านเมืองเก่าสงขลาไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความคึกคักเหมือนทุกวันนี้ ที่นี่เป็นชุมชนชาวประมงที่มีหอพักราคาถูก คาราโอเกะ และซ่อง แต่อาคารเก่าในย่านนี้สวยงามและมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมมาก โดยผู้ที่มีส่วนจุดประกายให้ผมบูรณะตึกในย่านคือ พี่โก๋-นพดล ขาวสำอางค์ ที่มาซื้อตึกและรีโนเวทก่อนหน้า ผมไปปรึกษาพี่โก๋เรื่องตึก และชวนให้เขามาเป็นศิลปินที่มาแสดงงานคนแรกในตึกหลังนี้เสียด้วยเลย

a.e.y.space แตกต่างจากที่อื่นตรงเราไม่ใช่แกลเลอรี่เชิงพาณิชย์ กล่าวคือผมไม่ได้เปิดที่นี่มาเพื่อขายงานศิลปะเป็นหลัก หากเป็นการชักชวนศิลปินที่ผมสนใจและเขาก็สนใจที่อยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลามาทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันก็มีการจัดฉายภาพยนตร์ เวิร์คช็อป และเสวนาต่างๆ หวังให้กิจกรรมทางศิลปะที่เกิดในพื้นที่เล็กๆ ของเราจะมีส่วนสร้างชีวิตชีวาให้กับเมือง ก็ค่อยๆ ทำไป เราขยับเข้าหาผู้คน และผู้คนขยับเข้าหาเรา ให้ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของย่าน และไม่มากก็น้อย เป็นส่วนส่งเสริมให้เมืองแห่งนี้น่าอยู่ 

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ผมสามารถทำแกลเลอรี่ที่ไม่เคยสร้างรายได้อะไรมาได้ตั้ง 10 ปี คือการที่ผมมีธุรกิจโรงพิมพ์ซึ่งเป็นอาชีพหลักของผมนั่นแหละครับ ผมถือคติทำงานที่ได้เงินมาเยอะๆ เพื่อแบ่งรายได้มาทำในสิ่งที่เราอยากทำ เป็นการหล่อเลี้ยงหัวใจ ขณะเดียวกันการทำโรงพิมพ์ก็ช่วยสนับสนุนการปริ้นท์ภาพถ่าย ป้าย สติ๊กเกอร์ ใบปลิว หรือเอกสารประกอบนิทรรศการในแต่ละครั้งด้วย ก็เป็นธุรกิจที่ช่วยประหยัดต้นทุนโครงการที่ผมทำด้วยใจรักนี้ไปในตัว

นอกจากการได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายคนทำงานสร้างสรรค์และกลุ่มนักพัฒนาเมืองหลายต่อหลายรุ่น การมีอยู่ของ a.e.y.space ยังเป็นเหมือนพื้นที่กลางที่พร้อมร่วมงานกับหน่วยงานที่ประสงค์เข้ามาทำงานเชิงสร้างสรรค์ในเมืองเก่าสงขลา เช่นที่เคยร่วมงานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ทำนิทรรศการภาพถ่ายบุคคลในย่านเมืองเก่า Portrait of Songkhla (2020) ตามมาด้วย Made in Songkhla (2021) ที่ชวนนักออกแบบรุ่นใหม่มาจับคู่ผู้ประกอบการในย่านเพื่อพัฒนาสินค้าร่วมกัน

หรือที่ทางเราเป็นเจ้าภาพนอกพื้นที่ของตัวเอง อย่างที่เพิ่งจัดไปคือการฉายภาพยนตร์กลางแปลง ‘Singorama สงขลาภาพยนตร์’ ซึ่งเปลี่ยนโรงงิ้วภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ให้กลายมาเป็นที่ฉายหนัง และชวนทุกคนล้อมวงนั่งชมด้วยกัน

ด้วยเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากคนสงขลา เราจึงมีแผนจะจัดงานซิงโกรามาอย่างต่อเนื่อง โดยจะหมุนเวียนจัดตามสถานที่ต่างๆ ของเมือง ไม่ว่าจะริมทะเลสาบ ริมชายหาด หรือภายในป่าสน เราอยากให้บรรยากาศของการฉายหนังทำให้เมืองแห่งนี้มีสีสัน และเปิดให้ผู้คนคิดถึงการใช้พื้นที่ของเมืองอย่างสร้างสรรค์ต่อๆ ไปด้วย

แม้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ผมก็ยังตื่นเต้นกับการได้ทำอาร์ทสเปซแห่งนี้เหมือนในขวบปีแรกอยู่เลยนะ ตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับศิลปิน ได้ทำกิจกรรมหรือเปิดพื้นที่ให้หน่วยงานต่างๆ มาทำกิจกรรมเพื่อคนสงขลา และที่สำคัญคือดีใจที่เรามีส่วนในการจุดประกายให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิด เพื่อเริ่มธุรกิจหรือโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจในย่าน

อย่างที่บอกว่าพื้นที่แห่งนี้ทำให้ชีวิตผมมีสมดุล ได้ทำงานที่มีรายได้แน่นอน เพื่อนำรายได้มาทำโครงการศิลปะที่เรารัก ขณะเดียวกัน แม้สิ่งที่เราทำไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่ความที่สงขลาเป็นเมืองราชการ ที่ผ่านมาอีเวนท์ในเมืองทั้งหมดก็ล้วนเป็นอีเวนท์แบบข้าราชการ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำ สงขลาก็อาจเป็นแบบนั้นต่อไป ผมจึงคิดว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้ ก็มีส่วนสร้างสมดุลให้เมืองเมืองนี้ และทำให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าสงขลาก็เป็นเมืองของพวกเขาด้วยเช่นกัน”  

ปกรณ์ รุจิระวิไล
นักออกแบบและเจ้าของ
a.e.y.space สงขลา
https://www.facebook.com/Aeyspace/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย