ผมมองยะลาเหมือนคนรักน่ะ อาจไม่ใช่ผู้หญิงที่สวยอะไรมาก แต่เรารักที่จะอยู่ร่วมกันกับเขาอย่างนี้เรื่อยไป

Start
449 views
11 mins read

“ยะลาเป็นเมืองตักศิลาของการศึกษา เราเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาในระดับภูมิภาคที่มีสถาบันการศึกษาในทุกระดับ ขนาดมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตภาคใต้ตอนล่าง ก็ยังตั้งอยู่ที่นี่ ผมตระหนักถึงเรื่องนี้ดี และนั่นทำให้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานในเทศบาลนครยะลา จึงมีวิสัยทัศน์อันเด่นชัด โดยวาง motto ไว้ว่า ‘สร้างเมืองให้น่าอยู่ สร้างความรู้สู่มวลชน’  

และเพราะเหตุนี้ เทศบาลนครยะลาจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ของเมืองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ เพราะเราเห็นว่าพื้นที่ของการใช้ชีวิตและพื้นที่ของการเรียนรู้คือพื้นที่เดียวกัน


เรามีอุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่เปิดเป็นสาขาแรกในต่างจังหวัดอยู่ภายในศูนย์เยาวชนของเทศบาล ซึ่งเป็นทั้งสวนสาธารณะและที่ออกกำลังกายของเมือง ขณะเดียวกันเรายังทำ exploring garden หรือสวนสร้างสรรค์ทางการศึกษาในพื้นที่ และทำมินิทีเคพาร์ค หรืออุทยานการเรียนรู้ขนาดย่อมกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เทศบาล เพื่อส่งเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เกิดขึ้นทั่วเมือง

ถึงเราจะเป็นเจ้าของพื้นที่และส่งเสริมให้มีศูนย์การเรียนรู้เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เทศบาลก็ตระหนักดีว่ากับการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง เราหาใช่ผู้เล่นหลัก (key player) แต่แท้จริงเราเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือ facilitator คอยเชื่อมประสานให้เกิดการร่วมงานหรือกิจกรรมในการพัฒนาเมือง เราจึงไม่ใช่ผู้นำการพัฒนา แต่เป็นผู้อำนวยสะดวกให้ภาคประชาชนและองค์กรต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองยะลาอย่างที่ทุกคนอยากให้เป็นมากที่สุด

เช่นที่งานยะลาสตอรี่ (Yala Stories) ซึ่งเกิดจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกับกลุ่มเยาวชน ชาวเมืองยะลา และเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ นี่เป็นงานที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งไม่เพียงนำเสนอแง่มุมอันหลากหลายของยะลา และศักยภาพของกลุ่มต่างๆ ในเมือง แต่ที่น่าภูมิใจคือเป็นงานที่ทำให้คนรุ่นใหม่มี sense of belonging หรือความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของเมือง รวมถึงการมีจิตสาธารณะ และการมองเห็นถึงอนาคตของเมืองร่วมกัน ซึ่งตรงนี้แหละคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง เพราะเมืองจะไม่มีทางเจริญ หากคนในเมืองเอาแต่จะคิดว่าปัญหาที่เกิดไม่ใช่เรื่องของกู แต่เมื่อผมเห็นคนรุ่นใหม่ที่มาในงานไม่ได้คิดแบบนี้ นี่แหละที่ทำให้ผมมีความหวัง

ในฐานะตัวแทนของเทศบาลนครยะลา เรายินดีสนับสนุนโครงการเพื่อการเรียนรู้ของเมืองอย่างเต็มที่ ถ้าโครงการนั้นเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและผู้คนในเมือง ขณะเดียวกันเราก็มุ่งพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ในความดูแลของเราต่อไป ซึ่งไม่ใช่แค่การอำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้พื้นที่ แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่การเรียนรู้จะมีประโยชน์สูงสุด พื้นที่การเรียนรู้นั้นต้องมีชีวิต และชีวิตที่ว่าจะมีได้ก็ต้องมาจากการจัดกิจกรรมที่ดึงดูดคนทุกกลุ่มให้มาร่วมงานอยู่เสมอ

ถามว่าผมภูมิใจอะไรในยะลา? (นิ่งคิด) ไม่รู้สิ ผมตอบไม่ได้ ผมคิดว่าความภูมิใจไม่ได้เกิดเพราะเห็นอะไรในเมืองแล้วมีความภาคภูมิใจ แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุด สิ่งที่ทำให้เรามีลมหายใจอยู่ในเมืองอย่างทุกวันนี้ อาจเป็นความรู้สึกสบายใจ หรืออาจเป็นความรัก ผมมองยะลาเหมือนคนรักน่ะ อาจไม่ใช่ผู้หญิงที่สวยอะไรมาก แต่เรารักที่จะอยู่ร่วมกันกับเขาอย่างนี้เรื่อยไป

วันนี้ผมในฐานะเด็กที่เกิดยะลา ผมก็ภูมิใจของผม ภูมิใจในผังเมืองที่เป็นแบบนี้ ภูมิใจในสภาพอากาศ ภูมิใจในวิถีชีวิตของผู้คน สิ่งที่เมืองยะลาเป็นตอนนี้ดีอยู่แล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ผมต้องหยุดพัฒนาเมืองของพวกเราเอง ยะลาดีอยู่แล้วครับ แต่ถ้าเรารวมพลังกัน เราทำให้เมืองที่เรารักดีขึ้นกว่านี้อีกได้”   


พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ
นายกเทศมนตรีนครยะลา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย