ผมมองว่าที่นี่มีศักยภาพเมืองแห่งการเรียนรู้นะ มีแลนด์มาร์กน่าสนใจหลายแห่ง บึงยี่โถผมก็เห็นท้องถิ่นเขาโอเคนะ แอ็กทีฟมาก

Start
679 views
7 mins read

“บ้านเกิดผมอยู่กำแพงเพชร ใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่หลายปี เพราะไปเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต่อปริญญาโทที่มช. พอจบก็เป็นอาจารย์พิเศษที่มช. แล้วผมก็ย้ายมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพนี่ สอนคณะนิเทศศาสตร์ วิชาการรีทัชภาพ และสื่อสารการตลาด กับสอนคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมกับเรียนต่อปริญญาเอกที่ม.รังสิตด้วย เหตุผลหนึ่งที่เลือกมาทำงานอยู่โซนชานเมืองเพราะไม่หนาแน่น บรรยากาศไม่แออัด คมนาคมยังโอเค เดินทางสะดวก เหมือนใช้ชีวิตตอนอยู่เชียงใหม่ ค่าครองชีพก็โอเค ผมพักอยู่หอในของมหาวิทยาลัย ใช้ชีวิตอยู่ในนี้ ยังไม่ได้ขยับขยายไปไหน มันร่มรื่น ไม่แออัด ช่วงโควิดนี่จัดว่าเคว้งคว้างเลยครับ แต่ตอนนี้เด็ก ๆ มาเรียนกันแล้วก็เริ่มอบอุ่นหน่อย

ภาพรวมเด็กที่นี่ก็สนุกสนาน เดี๋ยวนี้เด็กมีโอกาสเยอะ เขาหาโอกาส เสิร์ชอินเทอร์เน็ตแป๊บเดียวก็ได้ข้อมูล สะสมดีกรีกัน ทำกิจกรรมกัน หอในนี่ครึกครื้นนะ ในแง่วิถีชีวิตส่วนตัวก็ไม่ได้กระทบตัวเรา ผมกินง่ายอยู่ง่าย อยู่กับท้องถิ่นได้ ไม่ต้องปรับเยอะ โซนรังสิตก็มีพวกก๋วยเตี๋ยวเรือ ถ้าเทียบในเมืองปทุมกับเชียงใหม่ การคมนาคมที่นี่ยังดีกว่า ยังมีขนส่ง การจราจรติดเฉพาะช่วงเช้าเย็นเวลาทำงาน สาย ๆ ก็ชะลอ ๆ เขาสร้างถนนเยอะด้วย ผมมาอยู่ปีนึงยังสร้างไม่เสร็จเลย แต่ก็ดีขึ้น เริ่มเสร็จตามโซนไปเยอะแล้ว แต่ภาพรวมก็โอเค

มหาวิทยาลัยนอร์ทก็ร่วมงานกับเทศบาลบึงยี่โถหลายโครงการ ของคณะนิเทศฯ เป็นเรื่องการทำสื่อให้ชุมชน เช่น ผลิตสื่อโปสเตอร์เกี่ยวกับสุขภาพ การดูแลมาตรการโควิด ผลิตพอดแคสต์สื่อให้ศูนย์การแพทย์ เป็นการบูรณาการร่วมกับรายวิชา เช่น รายวิชา CSR ก็ลงพื้นที่ไปเก็บขยะ แจกแมสก์ ทำสื่อรณรงค์ให้ เขาขอความร่วมมือเราบ้าง เรายื่นมือเสนอไปทำบ้าง ผมมองว่าที่นี่มีศักยภาพเมืองแห่งการเรียนรู้นะ มีแลนด์มาร์กน่าสนใจหลายแห่ง บึงยี่โถผมก็เห็นท้องถิ่นเขาโอเคนะ แอ็กทีฟมาก มีผลิตภัณฑ์โอทอปของกลุ่มชุมชน แต่อาจจะยังขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ ระหว่างหน่วยงาน ถ้าบูรณาการกันทำก็น่าจะเวิร์ก ทางเทศบาลนครรังสิตเขาก็มีโครงการต่าง ๆ มีแนวคิดที่ดีเรื่องการเชื่อมโยงคมนาคม จุดแลนด์มาร์ก มีโครงการเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงไปถึงชุมชนท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวได้ ถ้าทำสำเร็จตามแผนได้เร็ววัน ก็ดีเลย”

ปุริมปรัชญ์ อำพัน

อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย