/

“ผมอยากให้สวนดอนธรรมเป็นสมบัติของคนอีสาน เป็นสมบัติของแผ่นดิน”

Start
303 views
13 mins read

“ผมเกิดปี พ.ศ. 2493 ที่กาฬสินธุ์ ก็เหมือนคนอีสานส่วนใหญ่ในสมัยนั้นที่ต้องจากบ้านไปแสวงหาความร่ำรวยที่กรุงเทพฯ บางคนไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องกลับบ้าน บางคนอาจเสียชีวิตก่อนได้กลับบ้าน ส่วนผมประสบความสำเร็จหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ แต่คิดว่าการได้โอกาสกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้าน ถือเป็นโชคดี

ผมเริ่มงานในตำแหน่งพนักงานขนถ่ายพัสดุที่การบินไทยในวันที่ 23 สิงหาคม 2523 ทำมา 25 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือเจ้าหน้าที่สำนักงาน คิดว่าก่อนร่างกายเราจะทำอะไรต่อไปไม่ไหว น่าจะกลับไปทำอะไรสักอย่างที่บ้าน เลยขอเออร์ลี่รีไทร์ออกมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2548 

ก่อนจะลาออกมา ภรรยาผม (คุณสมพร คงสมของ) ทำร้านอาหารอีสาน ก็คุยกับเขาว่าอยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดแล้ว ตอนแรกภรรยาผมเขาก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะธุรกิจเขากำลังไปได้สวย แต่ผมก็บอกว่ากรุงเทพฯ ไม่เหมาะให้เราใช้ชีวิตตอนแก่หรอก เรากลับบ้านไปทำสวนของเราดีกว่า สุดท้ายเขาก็ยอม กลับมาที่นี่ด้วยกันปี 2549

ผมเริ่มซื้อที่ดินตรงนี้เก็บไว้เมื่อปี 2541 ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ คิดอยากทำให้ที่ดินตรงนี้เป็นป่าแบบที่เราเคยใช้ชีวิตสมัยยังเด็ก สมัยนั้นป่าเคยอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น และมีผลหมากรากไม้ให้เรากินไม่จบสิ้น อีกสิ่งที่ผมสนใจคือวัฒนธรรมคาวบอย ก็คิดอยากมาเป็นคาวบอยอีสานที่นี่ แต่ความที่ที่ดินตรงนี้ค่อนข้างแล้ง เลยฟื้นฟูยาก ผมก็ขุดสระ เอาต้นไม้มาลงค่อยๆ ปลูกกันไป และก็ไปศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรมอีสาน เพื่อคุมช่างปลูกเรือนพื้นถิ่นทีละหลังทีละหลัง อย่างที่บอก ผมทำงานสายการบินมาทั้งชีวิต เรื่องพวกนี้ต้องมาเรียนรู้ใหม่เอาตอนแก่หมด เหนื่อยหน่อย แต่ก็เป็นได้ตามที่หวัง  

ผมตั้งชื่อที่นี่ว่าสวนดอนธรรม โดยเริ่มจากเปิดร้านอาหารให้ภรรยาก่อนชื่อ ‘เฮือนกาฬสินธุ์’ ชื่อเดียวกับที่เธอเคยเปิดที่กรุงเทพฯ เปิดเมื่อราวปี 2552-2553 แล้วก็ค่อยๆ ขยายพื้นที่เอา ตอนนั้นกาฬสินธุ์ยังไม่มีโรงแรมที่นำวัฒนธรรมพื้นถิ่นมานำเสนอ ผมก็เลยเอาเรือนอีสานที่ปลูกมาทำเป็นบ้านพักแบบโฮมสเตย์ มีเรือนขนาดใหญ่ที่รองรับการจัดประชุมหรืองานแต่งงาน โดยเรือนไม้ในพื้นที่ของผมทั้งหมด ปลูกใหม่ตามรูปแบบดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมอีสาน ก็หวังไว้ไม่ใช่แค่ให้คนมาใช้พื้นที่และถ่ายรูปสวยๆ กลับไป แต่ผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จะสามารถเข้ามาเรียนรู้สถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานได้ด้วย

ผมฝันเอาไว้ว่าอยากให้สวนดอนธรรมเป็นพื้นที่เรียนรู้ ผมมีกำลังสร้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าผมไม่ถนัดและมีพลังมากพอจะบริหารจัดการ ถ้ามีบุคลากรหรือหน่วยงานมาช่วย ก็คงจะดีมากๆ ผมวาดเอาไว้ว่าอยากทำพิพิธภัณฑ์ เพราะผมสะสมประติมากรรมดินเผาไว้พอสมควร และมีเพื่อนศิลปินที่ทำงานศิลปะอยู่หลายคน เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักบรรพบุรุษคนอีสานที่มีส่วนสร้างบ้านแปงเมือง ทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดิน หรือสร้างแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นหลัง

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของนายฮ้อย พ่อค้าเร่ขายวัว-ควายให้ชาวนาตามหมู่บ้านต่างๆ ในอีสาน ไม่เพียงเรื่องความอุตสาหะ มานะ และความซื่อสัตย์ของนายฮ้อยที่เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลัง แต่เรายังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรกรอีสานสมัยก่อน เห็นถึงวิถีชีวิตอันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของชาวบ้าน ซึ่งสมัยนี้ด้วยสังคมที่บีบให้เราต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ภาพแบบนายฮ้อยจึงค่อยๆ เลือนหายไป เป็นต้น

เรื่องของนายฮ้อยยังผูกโยงกับวัฒนธรรมคาวบอยอีสาน วัฒนธรรมผสมที่ผมหลงใหลอีก ซึ่งก่อนที่ผมจะผลักดันให้สวนดอนธรรมเป็นศูนย์เรียนรู้ ขณะนี้ผมก็มีแผนจะทำลานคาวบอย สนองความชอบส่วนตัวไปก่อน (ยิ้ม)

ล่าสุด เราเพิ่งร่วมมือกับทางคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ทางนั้นเขามีโครงการเรื่องการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ มีทั้งบุคลากร องค์ความรู้ และกระบวนการ ผมก็ยินดีให้เขาเข้ามาใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ ถ้ามันจะสร้างประโยชน์อะไรต่อคนอื่น

เราสองคนไม่มีลูก แต่ก็มีหลานมาช่วยดูแลกิจการ ผมกำชับเขาว่าขอไม่ให้หลานขายสมบัติชิ้นนี้ ถ้ากิจการที่ทำอยู่ไม่เหมาะกับยุคสมัยก็ให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ขอไว้อย่างเดียวคือขอให้คนอื่นๆ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ของเรา มาเรียนรู้ หรือมาจัดกิจกรรมอะไรก็ตามที่ช่วยพัฒนาทักษะหรือชีวิตพวกเขาได้ ผมอยากให้ที่นี่เป็นสมบัติของคนอีสาน เป็นสมบัติของแผ่นดิน”  


 โชฎึก คงสมของ
ผู้ก่อตั้งสวนดอนธรรม

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย