“ผมเชื่อว่าในอนาคต ลูกหลานชาวนครสวรรค์จะเลือกไม่โยกย้ายไปไหน เพราะเมืองมีความพร้อมให้พวกเขาวางใจฝากอนาคตไว้ได้”

Start
278 views
14 mins read

“หจก. ลิ่มเชียงเส็ง เริ่มต้นมาจากรุ่นอากงผมช่วงก่อน พ.ศ. 2500 โดยเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ในนครสวรรค์ที่ได้รับใบอนุญาตทำโรงงานตอนปี 2507 อากงเริ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตร พวกบัวรดน้ำ จอบ เสียม และอื่นๆ พ่อผมเป็นรุ่นที่สอง เริ่มมาทำแทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ก่อนจะมาถึงรุ่นผมที่สานต่อพ่อทำโรงงานผลิตเครื่องมือและเครื่องจักรกลทางการเกษตรครบวงจร

ผมโชคดีที่เกิดและเติบโตมาในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และความที่อากงและพ่อปูพื้นกิจการ รวมถึงสร้างเครือข่ายลูกค้ามาไว้อย่างดี จึงเป็นเรื่องง่ายที่ผมจะนำต้นทุนนี้มาเสริมด้วยการวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจ

โดยแรกเริ่มก็ผลิตสินค้าจำพวกอุปกรณ์ต่อพ่วง อุปกรณ์หว่านไถ เครื่องเตรียมดิน และเครื่องตัดหญ้าเหมือนทั่วไป แต่เผอิญผมมาสังเกตเห็นว่ากระบวนการของการเกี่ยวข้าวของเรามีข้อจำกัดหลายประการ  ผมจึงออกแบบเครื่องตีตอกข้าว เพื่อทำให้เวลาปลูกข้าวไป ตีตอกแล้ว มันจะแตกใหม่โดยเกษตรกรไม่ต้องไถดินเพื่อปลูกใหม่ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีกำไรเพิ่มขึ้น 20-25% โดยเครื่องนี้ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นแห่งชาติเมื่อสองปีที่แล้ว  

หรือผลิตภัณฑ์อีกตัวที่ผมวิจัยร่วมกับน้องชายที่เขาเปิดโรงานเหมือนกัน เป็นรถพ่นยาบังคับวิทยุขับเคลื่อนด้วยระบบไฮบริด เป็นโซลาร์เซลล์กับน้ำมัน ก็ช่วยทุ่นแรงเกษตรกรได้เยอะ ปลอดภัย แถมยังลดต้นทุนอีกต่างหาก 

ปัจจุบันโรงงานลิ่มเชียงเส็งผลิตเครื่องจักรทางการเกษตรจำหน่ายภายใต้แบรนด์ LCS ของเราเอง และก็ทำ OEM ให้บริษัท ยันม่าร์ ประเทศไทยด้วย แบรนด์ของเราส่งออกในอาเซียน มีลาวเป็นลูกค้าหลัก ส่วนเมียนมาร์รองลงมา ขณะที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา จะใช้สินค้าที่เราผลิตให้ยันม่าร์

ทั้งนี้ในอีกบทบาทหนึ่ง ผมเป็นประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดนครสวรรค์ มีบทบาทในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัด เพื่อแสวงหาโอกาสและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งทางด้านเสริมความรู้ การสร้างเครือข่าย และการหาแหล่งเงินทุน

ตอนนี้ที่หนักสุดคือธุรกิจขนาดไมโครครับ เช่น หาบเร่แผงลอย ร้านค้าขนาดเล็ก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยปัญหาที่เขาประสบก็ทั้งทางด้านปัญหาการเงินและการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนา ซึ่งแม้ทางภาครัฐจะมีโครงการช่วยเหลืออย่าง SME Bank แต่ผู้ประกอบการหลายรายก็อาจไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล รวมถึงมีปัญหาเรื่องเครดิตบูโร เป็นต้น

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ หรือธุรกิจไซส์ L ในนครสวรรค์ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ส่วนมากจะเป็นธุรกิจค้าส่ง โรงงาน ฟาร์ม ไปจนถึงอุตสาหกรรมเกษตร เพราะเขามีตลาดที่ชัดเจนและเหนียวแน่น สมาพันธ์ก็พยายามประสานวิธีให้ไซส์ L มาช่วยอุ้มไซส์ S ไปจนถึงไมโคร

อย่างไรก็ดี ด้วยเงื่อนไขบางอย่างของเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็ทำให้การลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นน้อยมาก อย่างเห็นได้ชัดคือผังเมืองรวมที่ทำให้ราคาที่ดินมันสูง ค่าเช่าก็สูงตาม ผู้ประกอบการจึงไม่กล้าลงทุน หรือธุรกิจบางตัวที่ต้องการสร้างอาคารสูงก็ไม่สามารถผุดขึ้นในพื้นที่เศรษฐกิจได้

ซึ่งก็ต้องชื่นชมกฎบัตรนครสวรรค์ที่ใช้เวลาตลอด 2 ปีมานี้ในการแก้ผังเมืองบางส่วน ผมหวังว่าถ้าแก้ได้ครอบคลุมกว่านี้ จะมีการลงทุนมากขึ้น สอดรับไปกับการที่เมืองจะขยับขึ้นไปเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทั้งทางรถและทางราง 

นอกจากนี้ ผมเสนอว่าเราควรใช้ทำเลที่เป็น hub ของการคมนาคมและขนส่งของเราให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการมาถึงของเทคโนโลยี EV และพลังงานทางเลือก เช่นการเป็นจุดชาร์จพลังงาน การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์สมัยใหม่และบำบัดด้านสุขภาพ หรือการผลักดัน BCG ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่นที่กลุ่มน้ำตาล KTIS จับมือกับ ปตท. มาทำวิจัยเรื่องไบโอดีเซลจากของเหลือต่างๆ ของโรงงาน

ผมเชื่อว่าในอนาคต ลูกหลานชาวนครสวรรค์ส่วนใหญ่จะเลือกไม่โยกย้ายไปไหน เพราะเมืองมีความพร้อมให้พวกเขาวางใจฝากอนาคตไว้ได้ สิ่งสำคัญจากวันนี้คือผู้ใหญ่รุ่นเราต้องมีส่วนในการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเติบโต หรือผู้ประกอบการบางรายก็ควรไว้ใจให้ลูกหลานหรือคนรุ่นใหม่ๆ มาสานต่อกิจการมากขึ้น ผมยังเห็นรุ่นพ่อรุ่นแม่หลายเจ้าที่ไม่กล้ารามือ รุ่นลูกเขาก็พร้อมจะนำเทคโนโลยีและมุมมองใหม่ๆ มาสานต่อ มาช่วยเพิ่มมูลค่าแล้ว เพียงแต่พอผู้ใหญ่ยังเชื่อในความคิดเดิมๆ ไม่ยอมปล่อย บางทีเขาก็คิดว่าการเข้าไปทำงานบริษัทในกรุงเทพฯ อาจเป็นทางออกที่ดีกว่า”

วีรวุฒิ บำรุงไทย
ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลิ่มเชียงเส็ง นครสวรรค์
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดนครสวรรค์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย