/

“ผมเป็นเด็กเกิดในอุทยานฯ เลยรักเหมือนบ้าน คือถ้าเรารู้สึกเหมือนบ้าน เราก็ดูแลไง เรารักมัน เจ้าหน้าที่ก็จะเป็นอย่างนี้ ปลูกฝังกันมา”

Start
190 views
16 mins read

“ผมเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายนันทนาการ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ งานที่ทำคือการประชาสัมพันธ์เรื่องการอนุรักษ์โดยรอบพื้นที่อาณาเขตที่ชาวบ้านกับอุทยานฯ อยู่ติดกัน เป็นงานที่เข้าไปให้ความรู้กับเด็กและชุมชน การอนุรักษ์ การอยู่ร่วมกันของชุมชนกับอุทยานฯ บางทีชุมชนก็ไม่รู้ว่าอุทยานฯ มีข้อปฏิบัติอะไรบ้าง การเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตมันผิดอยู่แล้ว เช่นเข้ามาเก็บของเก็บผลไม้ เราก็ไปคุยให้เขาได้รู้ ได้เข้ามามีส่วนร่วม

ผมเริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2542 ก็นานแล้ว คุณพ่อคุณแม่อยู่ที่นี่อยู่แล้ว เรียกว่าผมเป็นเด็กอยู่ในพื้นที่ เกิดในอุทยานฯ เลย รักเหมือนบ้าน ซึ่งก็เป็นแนวคิดในการทำงานนี่แหละ คือถ้าเรารู้สึกเหมือนบ้าน เราก็ดูแลไง เรารักมัน เจ้าหน้าที่ก็จะเป็นอย่างนี้ ปลูกฝังกันมา เขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย พื้นที่ประมาณ 1,350,000 ไร่ ครอบคลุม 11 อำเภอ ของ 4 จังหวัด คือ สระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก มีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ 24 หน่วย มีหน่วยย่อยรอบๆ ราว 400 หน่วย กระจายกันอยู่ใน 4 จังหวัด โดยการทำงานของอุทยานฯ มี 3 งาน หนึ่งคืองานป้องกันและปราบปราม ก็มีทีมเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ระวังภัย สองคืองานวิจัย มีทีมวิชาการ สามคืองานนันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนใหญ่ในงานฝ่ายท่องเที่ยวพักผ่อน ก็เน้นให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่า มาเที่ยวต้องแบบไหนบ้าง ขับเร็วไม่ดีนะ อาจจะชนสัตว์ได้ ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ทิ้งขยะ ถ้านำขยะกลับไปด้วยยิ่งดี ขยะคือปัญหาของทุกคน ขยะจากข้างนอกเข้ามา สุดท้ายก็กลับไปสู่ข้างนอกแหละ คือเราก็ควบคุม ช่วงหลังปัญหาขยะก็น้อยลง

ผมมองว่าการเที่ยวแบบได้ความรู้มันดีนะ อยากให้มาเที่ยวโดยไม่ใช่มองแค่สวย ต้องเข้าใจ มีอะไรน่าสนใจมากกว่าแค่ความสวยงาม อาจจะเป็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นเมื่อก่อนเขาใหญ่เคยมีหมู่บ้าน แล้วช่วงหลังก็กลายเป็นที่ซ่องสุมของโจรผู้ร้ายที่หนีคดีมาหลบซ่อนตัว เพราะการคมนาคมยากลำบาก ทางราชการในสมัยนั้นให้ยุบหมู่บ้านแล้วให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ป่าเขาใหญ่ถูกทิ้งร้างไว้ตั้งนานนะกว่าจะมาประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตอนปี 2505 ทุ่งหญ้าที่เราเห็นตอนนี้ อย่างตรงหนองผักชี ก็คือหมู่บ้านเก่านั่นแหละ ต้องมองว่า ถ้าในอดีตคือมีการบุกรุกเข้ามา พวกท่องเที่ยว รีสอร์ตเข้ามา แต่ตอนนี้เขาใหญ่มีพื้นที่ชัดเจนแล้ว มีถนนรอบอาณาเขต ซึ่งมีแนวเขตแบ่งชัดเลย ข้ามถนนมาก็เป็นของอุทยานฯ ข้ามไปเป็นเขตชาวบ้าน ถ้าถามว่าสภาพความเป็นป่าเปลี่ยนแปลงไปยังไง สังเกตถนนเส้นธนะรัชต์ที่เราขึ้นมา เดี๋ยวนี้จุดขายของโรงแรม รีสอร์ต คือธรรมชาติ มีลำห้วยลำคลองไหลผ่าน เขารู้ว่าต้องทำให้ธรรมชาติดี คนจะได้มาเที่ยว ร้านเขาก็มีวิวธรรมชาติ เหมือนเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าไปในตัว เขาทำรีสอร์ตก็คือการถางที่แต่เขาก็ทดแทน ทำให้เหมือนสภาพป่า ก็ดูร่มรื่น ร่มเย็น คราวนี้สัตว์ก็ออกมาเดิน มันคิดว่าเป็นป่า เราใช้สัตว์เป็นตัวบ่งชี้ว่าเขายังอยู่ได้

คือต้องเข้าใจว่า เรื่องสัตว์ออกไปนอกพื้นที่ เกิดมานานแล้ว เราก็เข้าใจว่าชาวบ้านก็เข้าใจ สิ่งที่ทำได้คือการเข้าใจว่า ช้างเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของเขาใหญ่ คือทรัพยากรธรรมชาติ คุณเป็นเจ้าของเหมือนกัน ป่าก็ของทุกคน เป็นเจ้าของป่าไม้ร่วมกัน ซึ่งเขาก็เข้าใจล่ะ ช่วงหลังๆ ที่เรามีการพูดคุยกัน ก็เกิดความร่วมมือกัน ช่วยกันระมัดระวัง มีมาตรการเฝ้าระวัง มีเจ้าหน้าที่กับกลุ่มอาสาออกไปช่วยกัน บางครั้งมีปัญหาเรื่องสัตว์ที่ออกไปแล้วไปทำลายพืชไร่ ไปกินของเขาอีก เราก็ต้องคุยกับฝ่ายปกครอง อบต. เขามีมาตรการช่วยลูกบ้าน ทางเรามีมาตรการที่ทำให้สัตว์ไม่ลงไปอยู่หลายอย่าง เช่น ปลูกไผ่หนามเป็นรั้วธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ติดๆ กัน พอโตก็จะเป็นเพนียด อันนี้ก็เป็นแนวทางระยะยาวที่ทำกันอยู่ อย่างโครงการปลูกป่าที่มาทำกันก็ดีแหละ แต่ถ้าคงสภาพป่าไว้ ป่ามันขยายเองอยู่แล้ว

นักท่องเที่ยวก็มาเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เดี๋ยวนี้ นักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมดีขึ้น ส่วนใหญ่เป็นนักอนุรักษ์ เขาจะทำอะไรไม่ให้รบกวนธรรมชาติมาก เราสังเกตว่าเวลาเขามาพัก ก็ช่วยกันเก็บขยะ มีโครงการนำขยะคืนถิ่น คนที่มาเที่ยวเริ่มเข้าใจ ซึ่งก็น่าจะมาจากการประชาสัมพันธ์ด้วย เดี๋ยวนี้มันไว การสื่อสารค่อนข้างชัดเจน มีหลายช่องทาง กระแสไวด้วย บางทีมาเฮฮาปาร์ตี้ ภาพออกไป ดูไม่ดี เขาก็แพ้ภัยไปเอง ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวมีการศึกษาข้อมูลที่ดีมาก่อน เขารู้ว่าต้องทำตัวยังไง ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่มาครั้งเดียวด้วย คนนึงมาหลายรอบ เพราะฉะนั้น เขาเข้าใจระบบของทางอุทยานฯ และเราอยากให้นักท่องเที่ยวเที่ยวแบบมีความรู้ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติให้มีเจ้าหน้าที่นำทาง คือเราใช้คนในการสื่อสาร มีป้ายสื่อความหมาย คุณอ่านได้เองตามจุดต่างๆ และมีแอปพลิเคชันให้สแกนดูข้อมูลได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่นี่แหละ อธิบายได้ครอบคลุม บางครั้งประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เด็กไม่รู้ แล้วการเข้าสู่ระบบท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยจัดการให้ อย่างนี้ดีนะ เป็นรูปแบบการเรียนรู้ไปด้วย ทั้งนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวเก่ง บางคนที่เที่ยวป่าบ่อยๆ เขาเก่งกว่าเราอีกนะ มีความรู้ดีๆ ได้แลกเปลี่ยนกัน”

ดุสิต รักษาชาติ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายนันทนาการ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย