ผมเหมือนคนที่ตกค้างอยู่ในกระแสของกาลเวลานะ อาชีพที่ดูเหมือนจะสูญหายไปจากสังคมแล้ว แต่ก็ยังมีผมที่หลงเหลืออยู่

Start
1397 views
13 mins read

“เริ่มจากอาของผมที่เป็นนายช่างเขียนคัทเอาท์ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตในอำเภอสุไหงโกลก ตอนนั้นผมเรียน ม.1 เรียนได้ครึ่งเทอม เห็นว่าที่บ้านไม่ค่อยมีเงินส่งผมเรียนแล้ว จึงลาออก และขอตามไปอยู่กับอา ไปให้อาฝึกเขียนรูปให้ หวังทำเป็นอาชีพ

ผมไม่มีทักษะทางศิลปะเลย ก็เริ่มจากไปช่วยอาเตรียมเฟรมวาดรูป กวนสี และล้างพู่กันให้ ระหว่างที่อาเขียนรูป ผมก็ดูวิธีการทำงานของเขาแทบไม่กะพริบตา ทำแบบนี้อยู่สองปี จนรู้แล้วว่าจะวาดเส้น ลงสี หรือลงน้ำหนักพู่กันอย่างไร อาก็ให้ผมลองลงมือเขียน

ที่โรงหนังเฉลิมเขตจะมีช่างใหญ่ซึ่งก็คืออาผมหนึ่งคน คอยเขียนรูปเหมือนจากใบปิดภาพยนตร์ลงป้ายขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และก็มีช่างที่คอยเขียนตัวอักษรอีกหนึ่งคน และก็มีผมที่เป็นเด็กฝึกงานซึ่งมีโอกาสหัดเขียนทั้งรูปและแบบตัวอักษร ทำๆ ไปจนเจ้าของโรงหนังเขาว่าจ้างและมีเงินเดือน อาผมก็ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ผมก็รู้สึกอิ่มตัว เลยกลับไปอยู่บ้านที่สงขลาอยู่ราวหนึ่งปี จากนั้นก็มีคนจากโรงภาพยนตร์อีกแห่งในสุไหงโกลกมาชวน ผมก็กลับไปเขียนป้ายอีก

เขียนอยู่ที่นั่นอีกพักใหญ่ ก็มีผู้จัดการโรงหนังปัตตานีพาราไดซ์มาชวนไปทำพาร์ทไทม์ ก็เลยต้องทำงานสองที่ คือในหนึ่งสัปดาห์ ผมจะประจำอยู่โรงหนังที่ปัตตานี 5 วัน และอยู่ที่สุไหงโกลกอีก 2 วัน สมัยก่อนหนังเข้าเรื่องหนึ่งจะอยู่ยาวเป็นครึ่งเดือน และโรงหนังก็เป็นแบบสแตนด์อะโลนที่ฉายหนังควบ ต่อช่วงเวลาครึ่งเดือน ผมเลยจะเขียนคัทเอาท์ให้หนังสองเรื่อง


ทำได้สักพักโรงหนังที่สุไหงโกลกปิดตัว งานผมจึงเหลือแค่ปัตตานีที่เดียว พอดีกับที่แฟนผมท้อง ผมเลยเปิดร้านรับเขียนป้ายที่ปัตตานี และส่งลูกเรียนหนังสือที่นั่น ทำร้านอยู่พักใหญ่ โรงหนังที่ปัตตานีก็ปิดตัวตามไปอีก แต่ก็พอดีกับที่เจ้าของห้างโคลีเซียมยะลาติดต่อมาให้ไปเป็นนายช่างใหญ่ที่นั่น ก็ลังเลอยู่พักหนึ่งเพราะเรามีร้านที่ปัตตานีแล้ว แต่ก็มาคิดดูว่าถ้าทำที่ยะลาเราก็มีเงินเดือนประจำที่แน่นอน ช่วงแรกๆ เลยตัดสินใจไปๆ กลับๆ ยะลา-ปัตตานี แต่ทำไปได้สักพักก็รู้สึกเหนื่อย เลยตัดสินใจย้ายครอบครัวและย้ายร้านมาเปิดที่ยะลาที่เดียวเลย ผมเริ่มงานที่โคลีเซียมยะลาปี 2550 ตอนนี้ก็อยู่มา 15 ปีแล้ว

ผมน่าจะเป็นช่างเขียนคัทเอาท์หนังรุ่นสุดท้ายแล้ว ผมเติบโตมาในช่วงที่โรงหนังที่ใช้ช่างเขียนป้ายพากันปิดตัวลง และถูกแทนที่ด้วยโรงหนังที่เป็นสาขา ซึ่งมีการปริ้นท์ไวนิลประชาสัมพันธ์หนัง ช่างเขียนมือจึงค่อยๆ ตกงานกันไปทีละราย ทุกวันนี้ในภาคใต้ จะมีโรงหนังที่พัทลุงและภูเก็ตที่ยังใช้ช่างเขียนตัวอักษร แต่ถ้าเป็นเขียนรูปเหมือน ก็มีแค่โรงหนังโคลีเซียมยะลาที่ผมทำอยู่ที่เดียวที่ยังหลงเหลืออยู่

ช่างส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักนี่จะอายุราว 60-70 ปีหมด บางคนผันตัวไปเปิดร้านเขียนป้าย หรือไปเขียนรูปเหมือน ส่วนคนรุ่นหลังผมนี่ไม่มีใครทำงานนี้แล้ว เพราะไม่มีโรงหนังไหนจ้างอีก จะว่าไปผมก็เหมือนคนที่ตกค้างอยู่ในกระแสของกาลเวลานะ อาชีพที่ดูเหมือนจะสูญหายไปจากสังคมแล้ว แต่ก็ยังมีผมที่หลงเหลืออยู่ และตระหนักอยู่เสมอว่าเราพร้อมจะถูกเลิกจ้างได้ทุกเมื่อ

แต่นั่นล่ะ ผมไม่ได้ฟูมฟายหรือนึกใจหายอะไร เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมต้องเปลี่ยนแปลง คือไม่ใช่แค่อาชีพของผมเท่านั้นหรอกนะ แต่กับธุรกิจโรงหนังเองก็เริ่มลำบาก เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีมันเร็ว คนดูหนังอยู่บ้านหมด ผมก็จะทำงานนี้จนกว่าเขาจะเลิกจ้าง เพราะถึงยังไงนี่ก็เป็นงานที่ผมทำมาทั้งชีวิต และยังสนุกกับมันอยู่

ทุกวันนี้ผมจะเขียนป้ายสัปดาห์ละ 1-2 เรื่อง จะมีเขียนลงคัทเอาท์หน้าโรงหนัง และคัทเอาท์ที่เอาไปติดบนรถแห่รอบเมืองยะลา โดยมีนายช่างอีกคนสลับกันเขียนและเขียนตัวอักษร ถ้าหนังเรื่องไหนดังๆ บางครั้งจะมีคนมาขอซื้อคัทเอาท์เรื่องนั้นไปเก็บสะสม ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่คุณต้องหาคัทเอาท์อันใหม่มาแทนด้วย เพราะปกติ เวลาเขียนหนังหนึ่งเรื่อง เมื่อหนังจบ ผมก็จะทาสีขาวทับเพื่อวาดหนังเรื่องใหม่

ถ้าขยันๆ หน่อยผมจะใช้เวลาประมาณ 2 วันในการทำคัทเอาท์ใหญ่หนึ่งป้าย แต่ส่วนใหญ่ก็จะเอ้อระเหย เป็น 3-4 วัน แต่ก็ทันกำหนดการอยู่ดี ที่วาดยากหน่อยคือหนังไทย เพราะคนดูรู้จักดารา ถ้าวาดไม่เหมือนดาราคนนั้นนิดหน่อยเขาก็จับได้แล้ว ส่วนหนังฝรั่งจะไม่ซีเรียสเท่า”

เจียร เสียงแจ้ว

นายช่างเขียนคัทเอาท์โรงภาพยนตร์โคลีเซียม ยะลา
นายช่างคนสุดท้ายของภาคใต้
 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย