“ตอนเด็กๆ ผมเป็นแฟนรายการวิทยุชื่อมรดกล้านนา ของอาจารย์สนั่น ธรรมธิ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผมอยากทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม พอเข้ามาเรียนต่อในเมืองก็เลยติดต่อไปหาอาจารย์สนั่น บอกว่าผมเล่นดนตรีพื้นเมืองเป็น อาจารย์ท่านก็เลยแนะนำให้ไปเล่นดนตรีที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่หารายได้เสริม จนเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้รู้จักกับอาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ ที่กำลังก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาพอดี ก็เลยไปเป็นอาสาสมัครสอนดนตรีล้านนา กินนอนที่นั่นอยู่พักใหญ่
ช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย (ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) คือช่วงไล่เลี่ยกับการฉลองครบ 700 ปีเมืองเชียงใหม่พอดี บรรยากาศในตอนนั้นจึงคึกคักไปด้วยการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา มีการศึกษาและค้นคว้าประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อกลับมาเผยแพร่ใหม่ รวมทั้งมีการนำเอาการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมล้านนามาเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว ผมกับเพื่อนมีโอกาสเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว และค้นพบมิติที่น่าสนใจจากเทือกเขาแห่งนี้ นอกเหนือจากความงดงามทางทัศนียภาพ หรือความหลากหลายอันน่าทึ่งของทรัพยากรธรรมชาติ
พื้นเพผมเป็นคนอำเภอเชียงดาว บ้านอยู่เชิงดอยหลวง จึงได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่าดอยหลวงเชียงดาวเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สถิตของเจ้าหลวงคำแดง วิญญาณอารักษ์ที่ได้รับความเคารพศรัทธามากที่สุดของคนล้านนา ระหว่างที่พาเพื่อนๆ เดินขึ้นดอยหลวงก็เกิดความคิดว่าเราน่าจะจัดทริปนำคนขึ้นมาเดินดอยหลวง ศึกษามรดกธรรมชาติไปพร้อมกับซึมซับมรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาและความเชื่อความศรัทธาที่คนเชียงดาวมีต่อเทือกเขาแห่งนี้ เพื่อนๆ ก็เห็นด้วย เราจึงตั้งกลุ่มรักษ์ล้านนาขึ้น
กลุ่มรักษ์ล้านนามีเป้าหมายคือการเปลี่ยนทัศนคติของคนที่มาเยือนดอยหลวงเชียงดาว จากการพิชิตยอดดอย สู่การศึกษาธรรมชาติด้วยความเคารพสถานที่ พร้อมกับได้องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมกลับไป ในแต่ละปี เราจึงกำหนดหัวข้อในการเยี่ยมชมต่างกันออกไป เช่น ‘ชมสวนดอกไม้ที่ปลายฟ้า’ ไปเยี่ยมชมดอกไม้หายากบนดอยที่คนเชียงดาวเชื่อว่านั่นคือสวนดอกไม้ของเจ้าหลวงคำแดง หรือ ‘9 สิ่งมหัศจรรย์บนดอยเชียงดาว’ เป็นต้น จากกลุ่มเล็กๆ ก็เริ่มมีคนเข้าร่วม หรือกลับมาเข้าร่วมรอบแล้วรอบเล่า จนเป็นกลุ่มใหญ่ที่กล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายมิตรภาพตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่งมาหยุดไปช่วงโควิด และพอเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวออกมาตรการใหม่ ให้ผู้มาเยือนค้างคืนบนดอยได้คืนเดียว เราก็เลยหยุดกันก่อน
พร้อมไปกับการจัดทริปของกลุ่มรักษ์ล้านนา หลังเรียนจบ ผมก็มีโอกาสจากโฮงเฮียนสืบสานฯ ในการทำงานเกี่ยวกับการศึกษาและวัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น การประสานงานเครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ งานค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีสิบสองเดือนให้ศูนย์สารสนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การจัดทริปพาคนที่สนใจร่วมสืบค้นตัวตนคนล้านนาไปยังเมืองต่างๆ ตั้งแต่แม่แจ่มไปจนถึงสิบสองปันนา รวมถึงการจัดกาดหมั้วและอีเวนท์ทางวัฒนธรรม
งานที่โฮงเฮียนสืบสานฯ ไม่เพียงเปิดโลกทัศน์ในด้านการศึกษา แต่ยังทำให้ผมต่อยอดสู่งานอันหลากหลายที่ผมทำทุกวันนี้ ด้วยเหตุนั้น ผมจึงมองว่าแรงบันดาลใจและสภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ และผมโชคดีที่ได้อยู่ในเมืองเชียงใหม่ เมืองที่มีทั้งรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และมีผู้คนหลายต่อหลายรุ่นที่พร้อมจะสืบสานมรดกนี้ไว้
ผมจึงไม่ค่อยกังวลว่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาจะเลือนหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเท่าไหร่ แค่คิดว่าในอนาคต หากเราประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ มาเป็นเครื่องมือทำให้ผู้คนเข้าถึงศาสตร์เหล่านี้ได้มากหรือกว้างขวางขึ้น คุณค่านี้จะสร้างมูลค่าและความสง่างามให้เมืองของเรายั่งยืนสืบไป”
///
ประสงค์ แสงงาม
พ่อครูภูมิปัญญาและกรรมการมูลนิธิสืบสานล้านนา