/

พลวัตแห่งการเกิดใหม่ของพื้นที่เรียนรู้

Start
795 views
56 mins read

กลไกขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบ ปทุมธานี สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ วางแผนการทำงานด้วยสองโครงการย่อยตามความเชี่ยวชาญของคณะวิจัย หนึ่ง.คือโครงการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ในการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี นำโดยรศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล สังกัดศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองในเชิงกระบวนการและกลไกในการขับเคลื่อนพื้นที่การเรียนรู้ สอง.คือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อคนทุกกลุ่มในจังหวัดปทุมธานี โดยคณะวิจัยจากสังกัดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่เข้าไปช่วยเติมเต็มให้การออกแบบพื้นที่แห่งการเรียนรู้เป็นไปได้ในเชิงกายภาพ

WeCitizens พูดคุยกับทีมนักวิจัย คณาจารย์สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อันประกอบด้วย ผศ.ดร.ธนภูมิ วงษ์บำหรุ หัวหน้าโครงการย่อย, ดร.ปริญญา มรรคสิริสุข และผศ.ดร.วรากร สงวนทรัพย์ ถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาและออกแบบพื้นที่เพื่อการเรียนรู้

ภาพรวมของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อคนทุกกลุ่มในจังหวัดปทุมธานีเป็นอย่างไร?

ผศ.ดร.ธนภูมิ วงษ์บำหรุ : เราดึงบทบาทของเราที่มีความถนัดทางด้านการออกแบบ การวางผัง มาเติมเต็มในเชิงกายภาพของปทุมธานีเองที่มีอยู่แล้วและที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในพื้นที่เป้าหมายของคลองรังสิตประยูรศักดิ์มีความยาวตั้งแต่คลอง 1-14 ก็เป็นความท้าทายมากๆ เพราะขนาดพื้นที่การเรียนรู้ค่อนข้างใหญ่ เป็นสเกลเมือง มีคนที่มีส่วนร่วมในพื้นที่ทั้ง 4 เทศบาลในอำเภอธัญบุรี คือเทศบาลนครรังสิต เทศบาลเมืองบึงยี่โถ เทศบาลตำบลธัญบุรี และเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ เพราะฉะนั้นเราจะเชื่อมต่อพื้นที่ในเชิงกายภาพอย่างไร? ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ? จริงๆ แล้วเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เรามีต้นทุนที่เคยทำในพื้นที่คลองรังสิต ทำมาแล้ว 5-6 ปีก็หายไป ไม่ได้เอามาจุดประกาย ก็เหมือนเราได้เอาพื้นที่กลับมาทบทวนใหม่ ภายใต้บริบทใหม่ กระบวนการก็เริ่มตั้งแต่ไปสำรวจพื้นที่ เจอชาวบ้าน นักปราชญ์ เข้าไปพูดคุย เข้าไปทำเวิร์กช็อป ชี้แจงและรับฟังความเห็นบ่อยครั้งเพื่อสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน Learning City ในความหมายที่เราต้องการ กับ Learning City ในความหมายที่ท้องถิ่นต้องการ ถ้าไม่คลิกตรงกันตั้งแต่แรกมันก็ไปค่อนข้างลำบาก

ผศ.ดร.ธนภูมิ วงษ์บำหรุ

มีการนำกระบวนการออกแบบพื้นที่ในเชิงกายภาพมาบูรณาการกับรายวิชาด้วย

ผศ.ดร.ธนภูมิ : เราตั้งโจทย์เป็นงานวิจัยร่วมกับรายวิชาที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้ว คือวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม 4 ซึ่งก็ถือว่าเป็นการศึกษาหนึ่งที่เรามุ่งเน้นให้เกิดขึ้นในระบบมหาวิทยาลัย เพราะเด็กจะได้ประสบการณ์จริงจากพื้นที่ คือมทร.อยู่บนพื้นที่อยู่แล้ว แต่เราไม่เคยเอาเด็กลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมหรือโพรเจกต์ที่ใหญ่ขนาดนี้ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดต่างๆ ก็ทำให้กิจกรรมมีลักษณะออนไลน์ การให้ความรู้และบทสะท้อนถึงตัวเด็กเองในการทำกิจกรรมร่วมกับคนในพื้นที่ที่เป็นเจ้าของว่าเขาต้องการอะไร? อยากได้พื้นที่แบบไหน? เป็นการใช้กระบวนการออกแบบเข้ามาช่วย

ผศ.ดร.วรากร สงวนทรัพย์ : คือปกติในแง่ของวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม เราตั้งโจทย์ให้เด็ก แต่ก็เป็นโจทย์สมมติ ให้ออกแบบอันนั้นอันนี้ บุคคลก็เป็นแค่คำพรรณนา แต่โจทย์วิจัยตัวนี้เมื่อมาบูรณาการกับรายวิชาออกแบบ มันกลายเป็นโจทย์ที่มีชีวิตจริง ๆ โดยผ่านกระบวนการดีไซน์พื้นที่ที่ต้องมีขั้นตอนที่ 1-2-3-4 ซึ่งมันก็สอดคล้องกับนโยบายของคณะและมหาวิทยาลัยที่ให้เราเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ และเด็กก็ได้ทดลองว่าจริง ๆ แล้วการเป็นสถาปนิกไม่ได้เป็นแค่ดีไซเนอร์อย่างเดียว มีสถาปนิกทางสังคมอีก ซึ่งก็คือการต้องไปลงพื้นที่ เข้าไปเก็บข้อมูลพูดคุย คิดร่วมกัน เป็นประสบการณ์แบบหนึ่ง ที่ใช้งานวิจัยเป็นตัวนำพาผลงานการออกแบบ ซึ่งพอเป็นการดีไซน์อื่น ๆ ก็อาจจะมีวิธีการออกแบบอีกแบบ

ผศ.ดร.วรากร สงวนทรัพย์

ผศ.ดร.ธนภูมิ : เป็นโพรเจกต์ที่นักศึกษาใช้เวลา 1 เดือนเต็ม ก็ปาดเหงื่อกันพอสมควร นักศึกษา 2 ห้อง 90 คน แบ่ง 10 กลุ่มตาม 10 พื้นที่ตั้งแต่เทศบาลนครรังสิตไล่มาเรื่อยตลอดคลอง แต่ว่าตอนที่นักศึกษาทำ เขาอาจจะไม่ได้มองภาพใหญ่ เขามองเฉพาะไซต์ของเขา เราก็มีหน้าที่เชื่อมทั้งเส้นทาง คือแบบของเด็กไม่ได้สมบูรณ์แบบทั้งหมด มีข้อที่ต้องปรับปรุงเพื่อนำมาพัฒนาต่อ บางอย่างทำจริงไม่ได้ ก็เป็นไอเดียให้นักศึกษาได้คิดว่าแนวคิดที่เขาคิดมาแล้วดูว่า 10 จุดนี้เชื่อมกันยังไง? กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนี้ อย่างพื้นที่นครรังสิตที่เป็นในเชิงค้าขายมากๆ ขาดแคลนพื้นที่สวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียว เขาจะมองในเชิงการเรียนรู้กับพื้นที่นันทนาการอย่างไร? แต่ละกลุ่มก็มีแนวคิดเป็นธีมของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเราก็นำไปเสนอเทศบาล ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาเป็นกลุ่ม Design Thinking ของเราตั้งแต่แรก อย่างนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบึงยี่โถก็เข้ามาฟังและให้คอมเมนต์ดีมาก ผอ.สวัสดิการพัฒนาสังคมก็เข้ามาร่วมฟัง ฟีดแบ็กที่เราได้จากแต่ละที่ก็คอมเมนต์ในทางที่ดี เหมือนได้จุดประกายไอเดียการทำพื้นที่การเรียนรู้ให้เขา

ดร.ปริญญา มรรคสิริสุข : ผลลัพธ์ของการออกแบบ จริง ๆ ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ของงาน ผลสัมฤทธิ์ที่เราตั้งเป้าตั้งแต่แรกคืออยากจะฝังรากพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้ทุกคนได้เก็บไว้ทำงานต่อ คือพอได้โจทย์มา เราก็นั่งคุยกันว่าจะทำอะไร? วิธีการเรียนรู้คือยังไง? จะมีธีมอะไร? มันไม่ใช่มาบอกว่าเราจะออกแบบอะไร? การออกแบบนั้นมาทีหลังผ่านกระบวนการ ก็ต้องขอบคุณอาจารย์วรากรที่ดึงส่วนของภาคการศึกษาเข้ามาในวิชาเรียนให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม อาจารย์ธนภูมิคุยกับหน่วยงานบพท. ผมกับอาจารย์วรากรคุยกับเด็ก แล้วมาเบลนด์กัน ซึ่งผลลัพธ์ได้คุณค่ามากกว่าที่คิด คือพอเด็กรุ่นใหม่ได้แสดงออก เด็กก็ได้ความเข้าใจ ได้แสดงแนวคิด คนในพื้นที่ได้มาดูโจทย์ที่ตัวเองให้ไว้ หน่วยงานมามอง สิ่งที่ชาวบ้านคิด อาจารย์มอง เด็กมอง ผลลัพธ์เป็นยังไง? แล้วหลาย ๆ พื้นที่รับจะไปขยายผลต่อ ขณะเดียวกัน เราก็บอกนักศึกษาว่าโพรเจกต์นี้ไม่ใช่ส่งงานอาจารย์ตรวจแล้วผ่านไป สิ่งที่นักศึกษาได้คิดได้ร่วมทำในครั้งนี้ ประโยชน์ตกอยู่กับพื้นที่ด้วยนะ ไม่มากก็น้อย สิ่งที่คุณได้อดหลับอดนอนทำส่ง มันจะผ่านตาผ่านหูของผู้บริหาร พ่อแม่พี่น้องที่เราได้รับข้อมูลมา

ดร.ปริญญา มรรคสิริสุข

เป็นการนำกิจกรรมออกแบบมาตอบโจทย์พื้นที่เรียนรู้

ดร.ปริญญา : เป็นเครื่องมือเข้ามาตอบโจทย์ Learning City ผ่านกิจกรรมที่เราน่าจะพอหยิบจับได้ผ่านสถานการณ์ที่จำกัดด้วยโจทย์ที่มี เช่น กิจกรรมที่ได้พื้นที่มา งานลักษณะนี้ไม่ใช่งานจากนโยบายข้างบนลงมาหรือจากล่างขึ้นไป แต่มันมีการทำงานในระดับระนาบเดียวกัน ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการ อย่างโจทย์ที่นักศึกษาเข้ามารับ คนที่ให้โจทย์คือคนในพื้นที่ นักศึกษาไม่ได้กำหนดสิ่งที่ตัวเองอยากทำ นักศึกษาต้องฟังความต้องการของคนในพื้นที่ก่อนเริ่มกระบวนการออกแบบ มีทั้งส่วนของเทศบาล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีคุณป้าคุณลุงคนใช้งานมาบอกสิ่งที่เขามองพื้นที่เขา แล้วคิดร่วมกันว่าในมุมมองของเขา ถ้าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เชิงสาธารณะที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ กับสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของเขาอยู่ เขาอยากให้คนรู้จักเขาอย่างไร? เหมือนเขาแนะนำตัวเองผ่านพื้นที่ได้อย่างไร? เราใช้เส้นคลองเป็นตัวทลายกำแพงของเส้นแบ่งการปกครอง เพราะการปกครองมันมาทีหลัง เรามองเห็นว่าจะมากั้นกันด้วยสะพานข้ามคลอง มันไม่เคยถูกตัดขาดแบบนี้มาก่อน แล้วถ้าย้อนไปทุกพื้นที่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาทั้งสิ้น พื้นที่ทุ่งรังสิตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระราชทานการขุดคลองเพื่อเชื่อมคลองสายบน มาลำลูกกา ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อการส่งออก ก็มีประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ เช่น ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายจีนที่มารับจ้างขุด ซึ่งก็ปรากฏว่ามีชุมชนเก่าโบราณอยู่ตามปากคลอง ปัจจุบันถูกเงื่อนไขของกรมชลประทานก็อาจจะมีรื้อไป แต่ก็พบหลักฐานปรากฏชุมชนเก่า มีศาลเจ้าที่อยู่มาแต่เดิม อันนี้คือสิ่งที่เป็นร่องรอย แต่ถามว่า ถ้าวันเวลาผ่านไป ความเป็นประวัติศาสตร์ตรงนี้ไม่มีการพูดถึง แม้กระทั่งคนพื้นที่ก็ไม่รู้ วันหนึ่งก็จะไม่รู้แล้ว กลายเป็นว่าคลองรังสิตจะเป็นแค่คลองระบายน้ำจากตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่คลองเส้นนี้วัตถุประสงค์ไม่ได้ทำเพื่อระบายน้ำ อันนี้เราก็มองว่าจะเล่นยุทธศาสตร์แบบไหนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการการออกแบบ เพราะต้องยอมรับว่าเราเป็นคณะสถาปัตย์ฯ เราก็ต้องใช้สิ่งที่เราชำนาญเพื่อมาปรับใช้กับโจทย์นี้ เราทำงานร่วมกัน ทุกคนเสมอภาคกันหมด โครงการนี้จะไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง มันจะทำแล้วขึ้นหิ้งไม่ได้ มันไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้นเราต้องดึงพื้นที่มารับรู้ เพื่อเราหวังว่าในอนาคตเขาเป็นผู้ดูแล เขาจะผลักดันโครงการ การพัฒนาต้องเริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดี คือเราอาจจะไม่สามารถทำทุกอย่างที่เขาต้องการได้ แต่อย่างน้อยก็ทำในทิศทางที่มองเห็นภาพร่วมกัน ชาวบ้านต้องการอย่างนึง เทศบาลต้องการอย่างนึง เราเป็นคนกลาง นำเสนอแนวความคิดในเชิงเราเป็นนักออกแบบ มองสิ่งที่เหมาะสม อาจจะมองข้ามบางอย่างหรือคิดข้ามช็อตไปเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า

นักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้และพัฒนาต่อยอดไปด้วย

ผศ.ดร.วรากร : นักศึกษาเขาเต็มร้อย ก็เปิดวิธีการทำงานในอีกรูปแบบหนึ่ง เหมือนไปสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับเขา ว่าจริงๆ แล้วสถาปนิกมีหลายวิธีนะในการเข้าถึง การได้มาซึ่งผลงานจะมีวิธีการอะไรบ้าง? เด็กเขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งเวลาเขาเอาฟีดแบ็กจากชาวบ้านที่ไปเก็บข้อมูลมาเล่าให้เราฟัง เราสังเกตที่ดวงตาเขา ตาวาวมาก ตื่นเต้นมาก คุณลุงคนนั้น คุณป้าคนนั้น อยากได้นั่นนี้ เด็กได้รู้จักวิธีการปรับตัวในการเข้าหาผู้ใหญ่หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางอาชีพ จะพูดให้เขาเชื่อในสิ่งที่เด็กอยากจะทำ และการได้รับข้อมูลของผู้ใหญ่ต้องมีวิธีการยังไง? ก็เป็นการเรียนทางอ้อมที่เด็กมีความสุขกับการเรียน ขณะเดียวกัน โครงการที่เราได้เริ่มทำเป็นการจุดประกายให้ทางเทศบาลนครรังสิตซึ่งมีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำแลนด์มาร์กประตูน้ำจุฬาลงกรณ์เพราะจะครบรอบ 126 ปี ก็จัดประกวดแนวคิดการออกแบบ The Landmark Rangsit “ปทุมธานีเมืองแห่งสายน้ำจากพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5” กลุ่มนักศึกษาที่ทำพื้นที่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ก็เอาไปต่อยอด พัฒนาแบบให้ตรงตามโจทย์ที่เทศบาลฯ ต้องการ แล้วก็ส่งเข้าประกวดแบบ ถึงไม่ได้ที่ 1 แต่ก็ได้รางวัลมา เป็นความภูมิใจของเด็ก

แล้วมีกิจกรรมที่ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมอีกไหม?

ผศ.ดร.ธนภูมิ : เราอยากทำโครงการที่คู่ขนานกันไปกับกระบวนการออกแบบ อย่างที่อาจารย์ปริญญาพูดถึงคลองที่มีรากฐานของประวัติศาสตร์ เราคงดึงคอนเทนต์ทุกอย่างมาทั้งหมดไม่ได้ในช่วงเวลาอันสั้น คือมีธีมให้ทำเยอะมากในพื้นที่ตั้งแต่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมศาลเจ้า ประวัติศาสตร์ก๋วยเตี๋ยวเรือ ปั่นท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยาชมทุ่งนาที่สนั่นรักษ์ แต่ช่วงเวลานั้นเรามองความปลอดภัยของคนร่วมกิจกรรมกับเราด้วย การรวมกลุ่มต้องละไว้ก่อน อะไรที่ไม่ต้องสัมผัสคน ก็มองว่ากิจกรรมประกวดภาพถ่าย สามารถไปคนเดียว ทำได้ง่าย ใช้กล้องมือถือก็ได้ เราไม่ได้จำกัด ก็เกิดเป็นโครงการประกวดภาพถ่าย “วิถีคลองรังสิต-ประยูรศักดิ์” เป็นโครงการเหมือนจุดไอเดียที่ไม่ได้มองว่าประกวดแล้วจบ แต่ละคนมองวิถีชีวิตของคลองรังสิตไม่เหมือนกัน ก็สะท้อนบทบาทและคุณค่าในแต่ละมุมมองออกมา เราได้รับความร่วมมือจากการประชาสัมพันธ์ทั้ง 4 เทศบาล ได้ผลงานเข้ามา ผ่านการคัดเลือก มีการทำ Popular Vote ซึ่งทุกท่านน่ารักมาก คนที่มาร่วมบอกว่าผลตอบรับมากกว่ารางวัลที่ได้คือเขาอยากจะร่วมอีก เขามองว่ากิจกรรมดีๆ แบบนี้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย แล้วภาพถ่ายเหล่านี้ไปจัดนิทรรศการที่สำนักงานเทศบาลนครรังสิต ท่านนายกฯ (ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง) ก็ชอบมาก อยากขอซื้อภาพไว้ด้วยซ้ำ แต่เราก็ขายไม่ได้ ท่านก็ถ้ามีปีหน้าจะขอส่งภาพประกวดด้วย ก็เป็นการเปิดประตูให้ได้เครือข่ายมากขึ้น อย่างนักศึกษาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ อาจารย์ที่อยู่โรงเรียนเขียนเขต เขาก็ยินดีเป็นเครือข่ายมาทำกิจกรรมร่วมกัน กลไกก็เริ่มจะเดิน เริ่มขยายเป็นวงน้ำกระเพื่อม

ทีมวิจัยพยายามนำเสนอกิจกรรมสะท้อนมุมมองต่อพื้นที่ให้หลากหลายขึ้น

ผศ.ดร.ธนภูมิ : ใช่ครับ เรามองถึงกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่อยู่ใกล้ตัวเราก็คือเรื่องของศาลเจ้า อยากให้เป็นซิกเนเจอร์ พูดถึงศาลเจ้าแล้วนึกถึงคลองรังสิต เพราะวัฒนธรรมความเชื่อผูกพันกับคนในพื้นที่อยู่แล้ว อาจจะเปิดมุมมองใหม่ในเชิงของศิลปะ ผ่านภาพวาดลายเส้นของศาลเจ้าที่เป็นตัวแทนของเชื้อชาติ ความเชื่อ วัฒนธรรม เราสามารถเอาภาพศาลเจ้าที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่ มาต่อยอดเป็นโลโก้ โพสเตอร์ โพรดักต์ ลายเสื้อ ซึ่งจะทำอะไรได้อีกเยอะเลย

ดร.ปริญญา : คือมันอาจจุดประเด็นให้คนในพื้นที่มองเห็นความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองมีผ่านคนอื่น เช่น มีกิจกรรมให้นักปราชญ์มาเล่า หรือศิลปินไปนั่งวาดรูปสีน้ำ ให้นักศึกษาไปนั่งวาดภาพลายเส้น มันเป็นงานมือด้วย ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี คืนสู่สามัญ เรากำลังบอกว่า ของบางอย่างไม่ต้องคิดเยอะ เอาง่าย ๆ ให้เข้าถึง เวลาเราวาดรูป สิ่งที่ได้ตามมาคือสมาธิ แล้วคุณไปนั่งตรงนั้นนาน ๆ ทุกวัน คุณไม่ได้แค่นั่งวาด แต่ได้สังเกต มองโน่นมองนี่ มันได้โดยไม่รู้ตัว แล้วขณะที่นั่งวาด คนอื่นมาดู ถามว่าทำอะไร? มันก็เป็นการพรีเซนต์ทำนิทรรศการเคลื่อนที่ มันมีดีอะไรทำไมคนถึงมาวาดรูป? เราเหมือนไปเปิดว่าของคุณดี แต่คุณไม่รู้เพราะความเคยชิน เขาเห็นอยู่ทุกวัน

ผศ.ดร.ธนภูมิ : แล้วพอเขาเห็นผลงาน เขาจะมาเลย เช่นเราไปคุยกับปราชญ์ชาวบ้านที่อยู่ตรงคลอง 3 ที่ให้พื้นที่เรามาทำ Design Thinking ด้วย เขาเห็นแล้วก็เออ ดี เราก็บอกว่าถ้ามีนิทรรศการตัวนี้ก็อยากจะทำวัฒนธรรมจีนโดยอาหารเข้ามาร่วมด้วยเลย เช่นมาชมนิทรรศการแล้วก็มีกิจกรรมสอนการทำขนมบ๊ะจ่าง

ดร.ปริญญา : เราพยายามจะติดจิ๊กซอว์ตัวแรก

ผศ.ดร.ธนภูมิ : ค่อยๆ เติม จะไม่ผลีผลาม เลือกที่จะนำเสนอที่มันต่อกันติด จากรูปภาพที่เรามีเชิงวิถีชีวิตแล้วมาผูกพันกับวัฒนธรรม เอามาทำเป็นลายเสื้อประจำศาลเจ้าได้ เป็นคอลเลกชันของคลอง

คือเป็นหน้าที่ในการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยด้วยหรือเปล่า?

ดร. ปริญญา : มหาวิทยาลัยเราได้รับการยอมรับในการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปทุมธานีเยอะมาก เนื่องจากเรามีการทำงานต่อเนื่อง คณะสถาปัตย์ฯ ทำงานมาตั้งแต่ปี 2553 ตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม มีการวิจัยชุมชน เราเป็นนักปฏิบัติ ลงพื้นที่ ทางอาจารย์ภาวิณี ของธรรมศาสตร์ ทำในเชิงนโยบาย มีความสามารถในการวางแผน เราสไตล์ลูกทุ่ง พอมาเบลนด์กัน ก็ได้ภาพชัดขึ้น เรามีชาวบ้าน มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เขาเห็นเราทำงานลงพื้นที่จริงๆ ไม่เหลาะแหละ

ผลสะท้อนที่เราได้รับจากโครงการนี้คืออะไรบ้าง ?

ผศ.ดร.ธนภูมิ : ในเชิงกายภาพ ถ้าเป็นมุมมองของคนในพื้นที่ เหมือนเป็นการเกิดใหม่ของสิ่งเรียนรู้ ที่เขาอาจจะมองว่ามันก็เป็นอยู่แล้ว แต่เราทำภาพให้ชัดเจนขึ้น ลงไปขยี้ให้เห็นคุณค่ามากขึ้น ในปทุมธานีมีวิสาหกิจชุมชนเยอะมากที่อยู่ในแต่ละเทศบาล เครือข่ายที่อยู่กับเทศบาลก็เยอะ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าจะวิ่งไปไหน? แล้วจะมารวมตัวอะไรกันยังไง? มหาวิทยาลัยเองอาจมีบทบาทเป็นตัวกลางเข้ามาประสาน เข้ามาขอความร่วมมือ มันไม่ใช่แค่โครงการนี้เสร็จแล้วจบ มันอาจต่อยอดมาเป็นบริการวิชาการ อย่างหน่วยงานที่เป็นของเทศบาลเองอยากพัฒนาอะไร? เขาก็เริ่มตระหนักแล้วว่า เขาจะทำพื้นที่ตรงนี้นะ แล้ววิสัยทัศน์เขาอยากได้แบบนี้ เขาอยากจะไปให้ได้เหมือนเรา อาจารย์มาช่วยหน่อย เป็นที่จดจำของคนในพื้นที่ เขาให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ในแง่ของการขับเคลื่อน เพราะด้วยกระบวนการเราทำ 4 เทศบาล พื้นที่ใหญ่ และทำงานกับส่วนราชการ ลักษณะ นโยบาย ของแต่ละเทศบาลก็ไม่เหมือนกัน ก็ต้องพูดตรงๆ ว่าอาจจะขับเคลื่อนช้า

ปัญหาที่เจอได้ใช้กลไกใดให้ขับเคลื่อน ?

ผศ.ดร.ธนภูมิ : ถ้ามองในเชิงกายภาพก่อน เอาพื้นที่เทศบาลมากางก่อน แล้วมองว่าบทบาทหรือสิ่งที่เราพัฒนาอยู่ ณ ตอนนี้มันเป็นยังไงในแต่ละส่วน เรามองเป็นแผนที่เดียวกัน ว่าถ้าจะพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และเชื่อมโยงกัน ต้องเชื่อมโยงด้วยอะไรบ้าง? ซึ่งในงานวิจัยที่เราสรุปและสกัดแล้วเอาไปให้ทั้ง 4 เทศบาล เราก็หวังว่าผลสะท้อนที่อยู่ในงานวิจัยที่เราให้ไป อย่างน้อยจะได้เข้าไปอยู่ในแผน น่าจะมีอะไรบางอย่างที่หยิบยกไปเป็นโพรเจกต์ร่วมกัน โดยพื้นที่อาจจะไม่ได้พัฒนาหน้ามือไปหลังมือ มันยาก ต้องใช้เวลา แต่ถ้าเราใช้กิจกรรมเชื่อม อย่างกิจกรรมวัฒนธรรมศาลเจ้า มันมีทั้ง 4 เทศบาล ถ้าเรารวมให้เป็นอีเวนต์เดียวกัน มีเจ้าภาพร่วมคือเทศบาลทั้ง 4 แล้วก็เกิดเส้นทางท่องเที่ยวทั้ง 4 เทศบาล ก็จะสะท้อนมาที่เชิงกายภาพเอง ว่าเราต้องเตรียมอะไร? ในพื้นที่ไหน? ตรงนี้ก็สามารถเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการพัฒนาพื้นที่ในเชิงกิจกรรม แล้วก็สะท้อนไปในตัวพื้นที่ได้

แล้วกลไกขับเคลื่อนในภาคประชาชนในพื้นที่ล่ะ?

ผศ.ดร.ธนภูมิ : ต้องยอมรับว่าอาจจะเป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่เป็นเจเนอเรชันเดิมๆ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ จริงๆ เขาอาจจะมีตัวตน แต่เรายังไม่เจอว่ามีกลุ่มนี้อยู่นะ เราคงต้องทำงานลงลึกเข้าไปอีก เพื่อไปควานหา หรืออาจต้องมีกิจกรรมเพิ่มให้มีกลุ่มคนที่หลากหลายเข้ามา ซึ่งที่เราทำมาปีกว่าๆ ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่ามันไปได้อีก ต้องอาศัยเวลากับกลไก ทั้งตัวที่เป็นหน่วยงานเองช่วยขับเคลื่อน แล้วสิ่งที่ทางบพท.ให้ความสำคัญคือทำยังไงให้มันเกิดการเรียนรู้ที่เป็น Circular Economy ด้วย คือพื้นที่เรียนรู้แล้วสามารถเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เรียนรู้อย่างเดียวไม่ได้นะ ต้องส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยนะ คนต้องอยู่ต้องใช้ ซึ่งเราคงต้องดึงคนที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยตามกิจกรรมที่จัดขึ้นมา ให้เขามีบทบาทเป็นที่รู้จัก ได้รับความสนใจได้ง่าย เราอยากมีตัวแทนชุมชนหรือองค์กรที่สามารถพูดแทนเราได้ เพราะถ้าเราถอยมาก้าวนึง มันต้องมีคนพร้อมเป็นกระบอกเสียงที่จะทำต่อ

ดร. ปริญญา : ทีมเราคิดให้เป็นพลวัตเรื่อยๆ เราไม่ได้คิดว่าจบงานนี้แล้วมันจบ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย