เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลเมืองพะเยา ส่งชื่อพะเยาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ของยูเนสโก พร้อมกับจัดงานฉลองด้วยบรรยากาศชื่นมื่นและเปี่ยมด้วยความหวังร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ณ ลานหน้าอุทยานวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ริมกว๊านพะเยา
นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือสุดสมาร์ทที่ทีมวิจัยนำกลไกการบริหารจัดการแบบสตาร์ทอัพอย่าง Hackathon หรือโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG มาปรับใช้กับพื้นที่การเรียนรู้ท้องถิ่น และกลุ่มแรงงานนอกระบบ ความเจ๋งอีกเรื่องของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของที่นี่คือ การที่ทีมนักวิจัยร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เสนอพื้นที่ในการเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้งจังหวัด
กล่าวคือในขณะที่เมืองในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกส่วนใหญ่จะมีขอบเขตอยู่ในระดับเทศบาลเมืองหรือในระดับตำบลเท่านั้น แต่กับเมืองพะเยา เมื่อจับมือกับ อบจ. ที่มีโครงการพัฒนาศูนย์สามวัยทั่วจังหวัดพร้อมรองรับกับการเป็นพื้นที่พัฒนาทักษะใหม่ๆ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของพะเยาจึงมีพลวัตมากเป็นพิเศษ
พร้อมไปกับการรอผลการรับรองจากยูเนสโก ในปี 2565 นี้ที่ถือเป็นปีที่สามที่โครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ขับเคลื่อนมา (ภายใต้ชื่อ ‘กลไกการบริหารและพัฒนาเส้นทางแห่งการเรียนรู้ในเขตเมืองพะเยาเพื่อพัฒนา คุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบด้วย BCG โมเดล’) ทีมนักวิจัยก็ยังคงเดินหน้าต่อในการสร้างการรับรู้ สานความร่วมมือระหว่างพื้นที่การเรียนรู้ในจังหวัด และใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และธุรกิจสร้างสรรค์ยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจในท้องที่อย่างต่อเนื่อง WeCitizens จึงถือโอกาสพูดคุยกับหัวหน้าโครงการ รองศาสตราจารย์ ดร. ผณินทรา ธรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา เกี่ยวกับที่มาและที่ที่จะไปต่อ ในฐานะเมืองแห่งการเรียนรู้ ‘ทั้งจังหวัด’ พะเยา ว่าที่เครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกเมืองนี้
ขอเริ่มที่จุดเริ่มต้นของโครงการก่อนครับ อะไรคือความท้าทายของเมืองพะเยาที่อาจารย์พบ จนนำมาสู่การใช้เครื่องมือที่ชื่อเมืองแห่งการเรียนรู้มาแก้ปัญหาเมืองครับ
เราดูจากข้อมูลสถิติที่มหาวิทยาลัยพะเยาได้ทำไว้จากโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายในชุมชนกับคณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เราพบว่าจังหวัดพะเยามีแรงงานนอกระบบที่มีอายุระหว่าง 15-65 ปี เยอะมาก ซึ่งมากกว่าแรงงานในระบบ 2-3 เท่า ส่วนหนึ่งของแรงงานนอกระบบเหล่านี้มาจากกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าระบบการศึกษาปกติ หรือมีเหตุให้ต้องหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นลูกโซ่ต่อไปอีก เพราะเมื่อแรงงานนอกระบบมีบุตรหลาน ด้วยข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ บุตรหลานของพวกเขาก็ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบได้อีก ยิ่งมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ปัญหาหนักเข้าไป ทั้งคุณภาพชีวิต ความเครียด ปัญหาในครอบครัว และที่สำคัญคือการที่เด็กๆ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการประกอบอาชีพ
ทีนี้เราก็มองเห็นแล้วว่าช่วงที่มันหายไปในการศึกษาในระบบ พวกเขาควรจะได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับตัวเองให้กลายเป็นแรงงานที่มีทักษะที่เหมาะกับสภาพปัจจุบัน แนวทางเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ควรเข้ามาเติมเต็ม ก็พอดีกับที่ทาง บพท. สนับสนุนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เน้นเรื่องการศึกษาตลอดชีพ ทางเราจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีในการขับเคลื่อนเมืองพะเยาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้
ทราบมาว่าทางมหาวิทยาลัยพะเยาก็มีปณิธานและโครงการที่เน้นใช้องค์ความรู้ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นอยู่แล้ว โครงการนี้เติมเต็มสิ่งที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่อย่างไร
ใช่ค่ะ มหาวิทยาลัยพะเยามีปณิธานมาตั้งแต่ก่อตั้งว่า ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน เราตั้งใจสร้างบัณฑิตและงานวิจัยเพื่อกลับเข้ามารับใช้การพัฒนาท้องถิ่น นอกจากโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ในเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เรายังมีศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ที่ถอดความรู้เชิงสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดจากงานวิจัย มาช่วยส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราทำนี้ยังอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย แต่การทำให้พะเยาอยู่ในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่จะทำงานครอบคลุมทั้งระดับเทศบาลหรือในระดับอำเภอต่อไป เราจึงเห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้พอโควิด-19 เข้ามา เรายังพบว่ามีอาชีพหลายๆ อาชีพที่สูญหายไป และถูกแทนที่ด้วยอาชีพใหม่ๆ ที่เรียกร้องให้แรงงานจำเป็นต้องมีทักษะใหม่ๆ มารองรับ การเสริมทักษะใหม่ๆ เหล่านี้ให้ครอบคลุมจึงเป็นสิ่งจำเป็น
อาจารย์เริ่มออกแบบโครงการนี้อย่างไรครับ
หลังจากประชุมกับคณะทำงาน และอ่านทฤษฎีต่างๆ เราก็สรุปได้ว่ามีอยู่ 3 ประเด็นสำคัญที่ควรจะอยู่ในโครงการนี้ ได้แก่ หนึ่ง. โครงการบริหารเมือง สอง. เครื่องมือที่ทำให้ผู้คนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และ สาม. การออกแบบเมืองและพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่เราต้องนำมาเรียงต่อกันเป็นภาพใหญ่ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้แก่ผู้คนในเมือง จากนั้นเราก็ออกไปสำรวจด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มแรงงานนอกระบบที่เป็นเป้าหมายหลักของเรา ว่าพวกเขาต้องการเสริมทักษะหรือความรู้เรื่องอะไร และเปิดคอร์สส่งเสริมนั้นก่อน
จากการที่ได้สำรวจความคิดเห็นแรงงานนอกระบบมา ส่วนใหญ่เขาอยากให้เราหนุนเสริมเรื่องอะไรครับ
หลักๆ คือการฝึกอาชีพค่ะ ทั้งด้านเทคโนโลยีการเกษตร และงานบริการ ขณะเดียวกันเราก็วิเคราะห์จากสถานการณ์จังหวัด แม้เมืองของเราจะมีธุรกิจจากงานบริการอยู่พอสมควรก็จริง แต่ว่าเราก็มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นจุดแข็ง ข้อมูลจากฐานโครงการ 1 ชุมชน 1 นวัตกรรมของมหาวิทยาลัย พบว่าพะเยามีภูมิปัญญาเยอะมากที่สามารถเอามาทำแบรนดิ้งได้ โดยในที่นี้อาจจะไม่ใช่แง่ขายสินค้า แต่เป็นการใช้ภูมิปัญญามาเป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมการเรียนรู้ ให้คนจ่ายเงินเข้ามาเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ เราจึงนำสิ่งนี้มาผสมกับความต้องการของผู้เรียน และองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัย พัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษาที่สามารถปรับได้ตามความต้องการของผู้เรียน และเปิดให้แรงงานนอกระบบ รวมถึงใครก็ตามที่สนใจเข้าศึกษาได้
ทราบมาว่าการเปิดคอร์สนี้สามารถนับรวมเป็นหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยด้วย
ใช่ค่ะ เรามองว่ามหาวิทยาลัยต้องขยายโอกาสทางการศึกษาให้มากที่สุด เราจึงออกแบบหลักสูตรโดยบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นไปกับความรู้ในมหาวิทยาลัย และนำหลักสูตรนี้เข้าสภามหาวิทยาลัย เป็นหลักสูตร non-degree เพื่อให้คนเข้ามาเรียนเก็บหน่วยกิต เข้าเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยาได้
อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำเป็นอันดับต้นๆ ก่อนสร้างหลักสูตรคือ การเข้าไปหานายกเทศมนตรีเมืองพะเยาในขณะนั้น (จุฬาสินี โรจนคุณกำจร) ซึ่งเขาก็เห็นด้วย เพราะมีแนวคิดอยากจะพัฒนาบุคลากรในเทศบาลให้ได้ทำงานกับทางมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ก็เลยได้ผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญมากๆ อย่างเทศบาลเมืองพะเยาเข้ามา
และสิ่งที่สาม เพื่อทำให้การทำงานกับเทศบาลและมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างราบรื่น เรายังได้จัดกิจกรรมบ้านดินริมกว๊าน คือการชวนบุคลากรมาร่วมเรียนรู้และทำบ้านดินริมกว๊านพะเยาขึ้นมา ก็ให้ทีมอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ออกแบบบ้านดิน ขอใช้พื้นที่ของ อบจ. และชวนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ของเทศบาลมาร่วมย่ำดินและทำบ้านดินร่วมกันกับเรา กิจกรรมนี้ยังเป็นเหมือนการละลายพฤติกรรม สร้างความรับรู้ว่าเรากำลังจะทำอะไร และจะประสานความร่วมมือกันอย่างไร ที่สำคัญเรายังได้เครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้แห่งสำคัญอย่างกลุ่มบ้านดินคำปู้จู้ ซึ่งเขาร่วมงานกับเทศบาลอยู่แล้ว มาร่วมโครงการกับเราด้วย ในปีแรกเรามีแหล่งเรียนรู้ในเขตเทศบาลมาร่วมโครงการ 11 แห่ง ส่วนปีที่สองก็มีเพิ่มมา รวมทั้งหมด 18 แห่ง
ในโครงการย่อยทั้ง 3 โครงการที่ขับเคลื่อนในปีที่ 2 จะเห็นได้ว่าอาจารย์ใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG มาเป็นกลไกขับเคลื่อนทั้งหมด อาจารย์มีวิธีชักจูงให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องนี้อย่างไรครับ
อาจต้องขอเท้าความโครงการย่อยทั้ง 3 โครงการก่อน เราเริ่มจากโครงการแรก คือการพัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการเมืองและพื้นที่การเรียนรู้ของเมืองพะเยา ด้วย BCG โมเดล เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสังคมที่ยั่งยืน โครงการที่สอง. การพัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้บนพื้นฐาน BCG โมเดล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจให้แรงงานนอกระบบบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้ พะเยา Learning city และโครงการที่สาม. การสร้างสรรค์เส้นทางและพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้ในเขตพื้นที่เมืองพะเยาด้วยการออกแบบ ทางสถาปัตยกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางแห่งการเรียนรู้จังหวัดพะเยาตามแนวทาง BCG โมเดล
เราเห็นว่า BCG โมเดล หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม คือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทั้งหมดมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกกำลังให้ความสำคัญในฐานะหนึ่งในกลไกการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน พื้นที่เรียนรู้ในเครือข่ายของเราเขาก็มีรูปแบบเศรษฐกิจนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มบ้านดินคำปู้จู้ หรือกลุ่มจานใบไม้ศิริสุขที่ใช้ทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่มาสร้างมูลค่า หรือกลุ่มสานใจฮักที่เกิดจากการรวมตัวของแม่บ้าน นำเศษผ้าเหลือใช้จากโรงงานมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น พะเยาจึงมีต้นทุนเรื่องนี้ที่ดีอยู่แล้ว เราก็แค่เข้าไปสื่อสาร หาวิธีพัฒนาความร่วมมือด้วยโมเดลแบบ BCG ไปจนถึงการทำแบรนดิ้งเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด รวมถึงเปิดพื้นที่เพื่อให้เขาแชร์องค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ และสร้างเส้นทางพื้นที่เรียนรู้เหล่านี้เชื่อมโยงเข้าหากัน
อาจารย์เริ่มต้นโครงการในปีที่หนึ่งกับเทศบาลนครพะเยา แต่พอขึ้นโครงการปีที่สองเราร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับว่าเป็นมาเป็นไปอย่างไรครับ
จะบอกว่าเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสก็ได้ค่ะ ช่วงท้ายโครงการปีที่หนึ่ง นายกเทศมนตรีที่ร่วมงานกับเราเขาก็หมดวาระพอดี ทีมงานก็มีความกังวลว่าถ้านายกเทศมนตรีคนใหม่เข้ามา ท่านอาจไม่ขับเคลื่อนต่อ เพราะการเสนอชื่อเข้ายูเนสโกเนี่ย เราต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ระหว่างที่เป็นสุญญากาศกันอยู่นั้น พะเยาก็ได้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดท่านใหม่พอดี (อัคร พรหมเผ่า) ทีมงานก็เลยเห็นตรงกันว่า งั้นเรานำโครงการไปเสนอท่านดีกว่า เราเข้าไปหาท่านตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการเลือกตั้ง ท่านก็งงว่าเรามาทำไม ก็อธิบายถึงโครงการที่เราจะเสนอยูเนสโกให้ฟัง ซึ่งจากแนวทางที่ท่านหาเสียงมา ก็พบว่าเรามีเป้าหมายร่วมกัน อย่างไรก็ดี ภายหลังเทศบาลเมืองพะเยาได้นายกเทศมนตรีคนใหม่ ท่านก็เห็นด้วย และเดินหน้าร่วมโครงการกับเราต่อ กลายเป็นว่าเราได้แนวร่วมทั้งเทศบาลเมือง และอบจ. ซึ่งก็มีแผนจะขยายพื้นที่การเรียนรู้ไปทั่วจังหวัดต่อไป
อาจารย์มีวิธีนำเสนอโครงการให้ อบจ. ร่วมงานกับเราอย่างไรครับ
ความเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้มันมีจุดแข็งอยู่แล้ว เพราะเราจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองจากเครือข่ายเมืองชั้นนำทั่วโลก เริ่มแรกนายกฯ มีความกังวลใจเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับเมืองเล็กน้อย แต่ท่านก็ให้ทีมไปตรวจสอบ รวมถึงไปสำรวจความคิดเห็นชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็ยืนยันมาอีกเสียงว่าโครงการนี้ช่วยยกระดับเศรษฐกิจได้จริง ท่านก็เลยเอาด้วย กลายเป็นว่าทุกวันนี้ ถ้ามีการประชุมโครงการเมื่อไหร่ นายกฯ ก็มาร่วมประชุม หรือถ้าท่านติดภารกิจก็จะส่งเลขาฯ มาร่วมวางแผนกับเราทุกครั้ง ส่วนทางเทศบาลก็ด้วย โครงการจึงเดินหน้าไปอย่างราบรื่นมาก
เห็นว่าในปีที่สามนี้จะมีการขยายพื้นที่เรียนรู้ไปทั่วจังหวัดด้วย ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับ
เป็นความคิดของนายก อบจ. ท่านเสนอมาว่า อบจ. มีศูนย์สามวัยตามอำเภอต่างๆ อยู่แล้ว ท่านก็เปิดให้เราใช้ BCG โมเดลเข้าไปจับ พร้อมพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ ได้เลย แต่ก็ยังเป็นแผนการที่เรากำลังคุยกันต่อไปค่ะ
พูดถึงภาพรวมระดับจังหวัด นอกจากในเขตเทศบาลเมือง หรือแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่เดิมแล้ว อาจารย์มองว่าพื้นที่ไหนที่มีศักยภาพในการเปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้อีกบ้างครับ
มีหลายที่เลยค่ะ แต่ถ้าจะสะท้อนความเป็นพะเยาได้ดี อาจารย์คิดว่าตำบลเวียงลอ อำเภอจุน เพราะที่นั่นเป็นที่ตั้งของโบราณสถานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นกยูงที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพะเยาก็ได้รับการขยายพันธุ์ในพื้นที่นั้นมานานมากแล้ว ตอนนี้ทางโครงการได้เข้าไปทำ MOU กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อจะทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติอยู่ โดยก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ชวนเยาวชนในเขตเทศบาลเข้าไปทำโป่งเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์จำลอง และติดตั้งกล้องวิดีโอบันทึกพฤติกรรมสัตว์ เพื่อให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้พวกนกยูง ละมั่ง เนื้อทราย และสัตว์ป่าหายากอื่นๆ
นอกจากนี้เส้นทางแม่น้ำในเขตนี้ก็สำคัญ เพราะแม่น้ำอิงที่ไหลอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นสายน้ำที่มาจากดอยหลวง ผ่านเวียงลอลงอ่างน้ำจุน ก่อนจะไหลต่อไปยังแม่น้ำโขง ตรงนี้ก็มีศักยภาพในการเรียนรู้และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ได้อีกเช่นกันค่ะ
สถานที่อีกแห่งที่มีการขับเคลื่อนอย่างน่าประทับใจ คือวัดต๊ำม่อนที่ตำบลบ้านต๊ำ เจ้าอาวาสวัดนี้ท่านเก่งมากๆ ท่านเปิดศูนย์เรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุทุกวันอังคาร และก็นำเงินที่ญาติโยมมาทำบุญไปจ้างรถรับส่งผู้สูงอายุมาที่โรงเรียน เพราะเห็นว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง แล้วที่โรงเรียนนั้นท่านก็จ้างผู้เชี่ยวชาญให้มาสอนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่น่าประทับใจคือทางเจ้าอาวาสท่านเริ่มสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้วยตัวเองโดยอาศัยเงินทำบุญเองทั้งหมด ไม่ได้รองบประมาณจากหน่วยงานไหนมาบอกให้ท่านทำ ซึ่งทางโครงการของเราก็เข้าไปร่วมมือกับท่านด้วย โดยมีแผนจะเชิญท่านมาเป็นวิทยากรด้านการจัดการพื้นที่เรียนรู้สอนพระในเขตเทศบาลเมืองในโอกาสต่อไป
อาจารย์มองภาพไกลๆ ของเมืองพะเยาไว้อย่างไรบ้างครับ
จริงๆ พะเยาตอนนี้มีสองภาพที่ยังคลุมเครือกันอยู่ค่ะ คือถ้าไปถามภาคเอกชนและหน่วยงานเทศบาล เขาอยากเห็นพะเยาเป็น smart city เอาเทคโนโลยีมาพัฒนาเมือง แต่จริงๆ โดยพื้นฐานชุมชนในจังหวัดพะเยามีความเป็น creative city ที่ชัดมาก ทั้งด้านวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และการประยุกต์ศิลปวัฒนธรรมเป็นสินค้า อันนี้ก็อยู่ระหว่างหาจุดร่วมกันอยู่
แล้วส่วนตัวอาจารย์มองว่ายังไงครับ
คิดว่าคงเป็น smart city แบบพะเยาค่ะ คงไม่ได้สมาร์ทแบบระยอง หรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่ทุกอย่าง digitalized ทั้งหมด แต่คิดว่าเรานำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองร่วมกับใช้ต้นทุนทางภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ได้ ก็ต้องค่อยๆ ปรับจูนเข้าหากัน
แต่ไม่ว่าเมืองจะไปยังภาพไหน ขอแค่ให้เศรษฐกิจดี ผู้คนอยู่ดีมีสุข เราก็พอใจมากแล้ว มีภาพหนึ่งที่อาจารย์เห็นแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เนี่ยมาถูกทางแล้ว คือการที่ผู้ประกอบการที่มาเรียนรู้ร่วมกับเรา เขาส่งข้อความทางไลน์มาบอกว่าวันนี้เขาขายของได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน หรืออีกท่านที่มาบอกว่าเขาเอาความรู้ที่ได้จากโครงการเราไปสอนคนอื่น แค่นี้เราก็ดีใจมากเลย
เหมือนมีบรรยากาศของเมืองแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว
ใช่ค่ะ เหมือนคนที่เข้ามาร่วมงานกับเราเขาได้เรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเอง ก่อนที่จะเอาสิ่งนี้ไปถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ต่อ เพื่อให้คนอื่นมีรายได้หรือคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเขา ปลายทางของเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จ มันเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ตรงนี้