มีกิจกรรมก็ดีนะ มันเหนื่อยน้อยลง ถ้าปล่อยให้รก มันเหนื่อยกว่า ทำเท่าไหร่ก็ไม่จบ ส่วนหนึ่งก็อยากสร้างจิตสำนึกส่วนรวมด้วย ถ้าเราทำแล้วได้ผล อย่างน้อยคนที่อยู่แถวนั้นอาจจะไม่กล้าทิ้งขยะล่ะ

Start
427 views
12 mins read

“ภารกิจหลักของฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ คือดูแลเรื่องความสะอาด จัดเก็บขยะ ตัดต้นไม้ ปรับปรุงสภาพพื้นที่ในเบื้องต้น พื้นที่เขตคลองสาน 6.87 ตารางกิโลเมตร สวนสาธารณะที่เขตดูแลก็อยู่ในสัดส่วนพอได้ แม้ไม่ได้ตามที่เขาคาดหวัง เพราะพื้นที่เล็ก เราก็ทำไปเยอะแหละ สวนหย่อมเล็กๆ มีหลายจุด มีสวนใหญ่ๆ 2 ที่ สวนป่ากทม.เฉลิมพระเกียรติเชิงสะพานพระปกเกล้า กับสวนป่าเฉลิมพระเกียรติใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน (สะพานสาทร) ส่วนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเป็นของสำนักผังเมืองดูแล นโยบายจะส่งมอบให้สำนักสิ่งแวดล้อมดูแลแต่ยังไม่รู้เมื่อไหร่ แล้วก็มีอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวนสมเด็จย่า) ของมูลนิธิชัยพัฒนา ขณะเดียวกันเราก็มีนโยบายเพิ่มต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว หาที่ไม่ได้ก็ต้องปรับปรุงของเดิมให้ดีขึ้น การตัดต้นไม้ใหญ่ ก็ต้องใช้องค์ความรู้ เป็นหลักวิชาการว่าตัดตรงไหนยังไงให้ดูโปร่ง เป็นทรง เป็นพุ่ม เราเน้นความปลอดภัย ไม่ให้หักหรือโค่นลงมา ไม่ให้โกร๋น ไม่ให้ด้วน ต้องคงรูปแบบไว้ แต่บางทีภารกิจเขตก็อาจจะเยอะ และเร่ง  

ส่วนที่เราเข้าไปร่วมกับโครงการขับเคลื่อนย่านกะดีจีน-คลองสาน สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ คือเอกชนให้พื้นที่มาทำสาธารณประโยชน์ ซึ่งจริงๆ เขาทำกับสำนักสิ่งแวดล้อมแต่เราเป็นเจ้าของพื้นที่เราก็ให้การสนับสนุน เป็นพื้นที่ว่างข้างโรงเกลือแหลมทองที่รกร้าง เขตก็เข้าไปเก็บขยะกองใหญ่ พอขาดการดูแล ไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง ก็กลายเป็นที่รกร้าง ขยะกลับมาอีก เข้าสภาพเดิมๆ ชุมชนก็มาร้องเรียนบ้าง เราเห็นเองบ้าง ก็เข้าไปเคลียร์พื้นที่ เก็บขยะเรื่อยๆ แต่เป็นความยากคือพื้นที่ตรงนั้นรถเข้าไม่ได้ ต้องใช้รถเล็กๆ หรือคนงานลากออกมา ก็ทำกันมาหลายรอบ จนตอนหลัง ต้องล้อมรั้วให้เบื้องต้นเพื่อกันคนทิ้ง แล้วก็ประสานเจ้าของที่ เลยได้ทราบว่าเขากำลังจะมาทำตรงนี้ ทาง UddC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) กลุ่ม we!park ก็เข้ามาประสาน ซึ่งก็เบาเราไปเยอะ อาจจะมีทุนช่วยให้เขาทำได้เร็วกว่าเรา จริงๆ ก็เป็นปัญหามาก นักท่องเที่ยวปั่นจักรยานมาเห็น ก็เป็นจุดเปลี่ยว จุดเสี่ยง เราก็คอยมาเคลียร์พื้นที่ เก็บขยะ วัชพืช อะไรที่รกๆ ไม้ใหญ่ก็ค่อนข้างเยอะ กำลังอาจจะไม่พอ we!park ก็ประสานกับสมาคมรุกขกรรมมาช่วยตัดแต่ง แล้วก็ไปช่วยกันปลูกต้นไม้ ซึ่งมันก็ยากลำบาก เพราะรถเข้าไม่ได้ ต้องมีการระดมกันเข้าไปช่วย ทั้งจิตอาสา ทหาร ตำรวจ เพื่อให้มีส่วนร่วม พอทำเสร็จ มีใครเอาขยะมาทิ้งอีก ก็กลับไปเก็บอีก คือมันต้องดูแลตลอด ส่วนหนึ่งขยะก็คงมาจากคนในชุมชน บางทีก็ก่อสร้างเอาอิฐปูนหินไปกองๆ อาจจะเป็นพวกเร่ร่อน หรือพวกรับซื้อของเก่าที่เขาอาจจะเก็บไว้แต่เขาไม่ขาย แต่พอเคลียร์พื้นที่ได้ระดับหนึ่ง ก็ดีขึ้น เขาก็ไม่ค่อยมาละ

เขตเองก็พร้อมร่วมกิจกรรมอยู่แล้ว อย่างล่าสุดมีกิจกรรมศิลป์ในซอย เราก็เข้าไปช่วยพัฒนา ดูแลแปลงผัก ดูแลความสะอาด มีกิจกรรมก็ดีนะ มันเหนื่อยน้อยลง ถ้าปล่อยให้รก มันเหนื่อยกว่า ทำเท่าไหร่ก็ไม่จบ ส่วนหนึ่งก็อยากสร้างจิตสำนึกส่วนรวมด้วย ถ้าเราทำแล้วได้ผล อย่างน้อยคนที่อยู่แถวนั้นอาจจะไม่กล้าทิ้งขยะล่ะ กระตุ้นเขาว่าคุณมาทิ้งแบบนั้นไม่ได้แล้วนะ มีคนมาใช้ประโยชน์ ความน่ากลัวก็อาจจะน้อยลง มีนักท่องเที่ยว นักศึกษา คนมาเล่นกีฬา มันก็ดีกว่า อย่างน้อยที่ก็ไม่รกร้าง เราก็อยากทำให้ยั่งยืนน่ะ ต้องอาศัยคนในย่านเป็นหลัก ช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตา เขตเป็นตัวสนับสนุนในเรื่องกำลัง วัสดุอุปกรณ์ หรือเจ้าหน้าที่ ซึ่งในอนาคตสำนักสิ่งแวดล้อมอาจจะไปทำอะไรให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ตอนนี้ยังเพิ่งเริ่ม เอาแค่ให้คนไปใช้ประโยชน์ได้ ให้คนเริ่มชิน เริ่มรู้สึกเป็นเจ้าของ มีหน้าที่ต้องช่วยกันในเมื่อทุกคนก็อยากให้มีพื้นที่สาธารณะแบบนี้”

ธนาภรณ์ อมรพิพัฒนานนท์
หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตคลองสาน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย