“ระเบิดทำให้แก่งคอยทั้งเมืองลุกเป็นไฟ ท้องฟ้าเป็นสีแดงไปหมด บ้านเรือนไม่เหลือ คนเสียชีวิตเยอะ เคราะห์ดีที่คนในครอบครัวผมปลอดภัยหมด นั่นเป็นภาพติดตามาตั้งแต่เด็ก”

Start
221 views
13 mins read

“ก๋งกับเตี่ยผมมาจากเมืองจีน ย้ายมาทำโกดังเก็บข้าวเปลือกที่อำเภอแก่งคอย เพราะแก่งคอยเคยมีกรมทหารม้าอยู่ เราก็ส่งข้าวเปลือกให้ที่นั่น

ผมเกิดปี พ.ศ. 2482 ที่แก่งคอย พอปี 2488 ตอนผมอายุ 6 ขวบ เป็นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ทหารญี่ปุ่นมาตั้งค่ายอยู่ที่แก่งคอย ผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรหรอก แต่ได้ยินผู้ใหญ่เขาเล่าว่าวันที่ 1 เมษายน 2488 เครื่องบินสัมพันธมิตรบินผ่านแก่งคอยมาตีกากบาทไว้ก่อนแล้ว และเช้ารุ่งขึ้นของวันที่ 2 ระหว่างที่อาม่าจะพาผมไปอาบน้ำที่ท่าน้ำป่าสัก เพราะสมัยก่อนยังไม่มีน้ำประปา ก็เห็นเครื่องบินบินสวนมา และทิ้งลูกระเบิดลงไปในเมือง เห็นเป็นลูกดำๆ หล่นลงมาจากท้องฟ้าเต็มไปหมด เสียงดังสนั่นหวั่นไหว อาม่าก็พาผมวิ่งไปหลบตรงริมน้ำ

นั่นเป็นภาพติดตามาตั้งแต่เด็ก ระเบิดทำให้แก่งคอยทั้งเมืองลุกเป็นไฟ ท้องฟ้าเป็นสีแดงไปหมด บ้านเรือนไม่เหลือ คนเสียชีวิตเยอะ บางคนแขนขาด บ้างขาขาด เคราะห์ดีที่คนในครอบครัวผมปลอดภัยหมด ตอนระเบิดลง ต่างคนก็ต่างอยู่กันคนละที่ ก็หนีกันไปหลบของใครของมัน จนพอเหตุการณ์สงบช่วงเย็น เราก็มาเจอกัน 

ระเบิดในเช้าวันนั้นทำให้ครอบครัวผมสูญเสียทุกอย่าง ทั้งโกดัง ทั้งร้าน และบ้าน ดีที่ก๋งมีเครือข่ายพี่น้องชาวจีนที่กรุงเทพฯ ให้เงินทุนมาก่อร่างสร้างตัวกันใหม่ ก็หันมาขายพวกพืชไร่ ข้าวโพด ข้าวสารที่เป็นผลิตผลของแก่งคอย ก่อนที่ก๋งจะส่งต่อธุรกิจให้เตี่ยทำต่อ

จนผมเรียนหนังสือใกล้จบนั่นแหละ เตี่ยก็มาประเมินว่าถ้าทำธุรกิจขายข้าวโพดและข้าวสารต่ออาจไม่ยั่งยืน เพราะเราต้องรับซื้อจากเกษตรกรมาอีกที ซึ่งเกษตรกรเขาก็ต้องพึ่งพาฟ้าฝน ถ้าฟ้าฝนไม่เป็นใจ ผลผลิตไม่ออก เงินที่เราลงทุนให้เขาไปทำไร่ก็สูญเปล่า แล้วเขาก็เป็นหนี้เสียกับเราด้วย

ซึ่งก็พอดีกับช่วงนั้นผมชอบขับรถ เพราะการที่ซื้อขายข้าวเปลือกมันต้องมีรถยนต์ไปรับเขา ผมเลยขับรถเป็นตั้งแต่เป็นวัยรุ่นและชอบเล่นรถมาตั้งแต่นั้น คิดว่าถ้าเอาความชอบของเรามาทำเป็นธุรกิจก็ดี และอีกหน่อยทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์จะเป็นพาหนะที่คนแก่งคอยขาดไม่ได้ หลังเรียนจบ ผมกับเตี่ยก็เบนเข็มมาทำธุรกิจขายอะไหล่รถเป็นรายแรกของอำเภอ ตอนนี้ทำมาไม่ต่ำกว่า 40 ปีแล้ว

ขายที่นี่มาตั้งแต่แรกเลยครับ เมื่อก่อนเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว เช่าเขาอยู่ จนเขาตัดสินใจขาย ห้องหนึ่งสมัยก่อนที่เราทำอยู่มันสามเมตรครึ่ง แล้วเปลี่ยนมาเป็นตึกคอนกรีต ข้างหน้า 4 ห้อง ข้างหลังอีก 4 ห้อง เขาขายเราห้องละ 8 หมื่นบาท ก็ค่อยๆ ผ่อนส่งจนหมด 8 หมื่นบาทสมัยก่อนนี่เงินใหญ่นะ ก๋วยเตี๋ยวที่ผมกินตอนเรียนหนังสือยังชามละ 50 สตางค์ ผมนั่งรถประจำทางไปเรียนในกรุงเทพฯ ก็แค่ 10 บาท น้ำมันดีเซลลิตรละ 90 สตางค์ได้มั้ง คิดดูว่า 8 หมื่นบาท 4 ห้อง กว่าจะผ่อนหมดนี่ก็เหนื่อยอยู่   

ธุรกิจอะไหล่รถของผมก็เติบโตแปรผันไปกับความเจริญของเมือง อย่างที่เห็น จากหน้าร้านเดินต่อไปหน่อยก็เจอสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย ตึกแถวหน้าสถานีรถไฟเมื่อก่อนนี่ขายอะไรก็ขายดีไปหมด เพราะสมัยก่อนคนเดินทางด้วยรถไฟเป็นหลัก แล้วชุมทางแก่งคอยมันเชื่อมกรุงเทพฯ กับอีสาน แล้วเขาต้องมาพักเปลี่ยนขบวนที่แก่งคอย สมัยก่อนรถไฟเป็นหัวรถจักรไอน้ำอยู่ มันวิ่งยาวไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ อย่างถ้าคุณเดินทางจากสุรินทร์ตอนเช้าก็ต้องมาแวะค้างคืนที่แก่งคอยหนึ่งคืน เพื่อรอเปลี่ยนรถเข้ากรุงเทพฯ ตอนเช้า เขาก็ต้องเข้าพักที่โรงแรม จับจ่ายใช้สอยในตลาด พอเศรษฐกิจแก่งคอยดี คนก็ขยับขยาย ซื้อรถซื้อลามาใช้ ร้านขายอะไหล่รถผมก็ได้อานิสงส์ไปด้วย 

ถึงเดี๋ยวนี้ถึงผู้คนจะใช้รถส่วนตัวเป็นหลัก และธุรกิจผมก็ไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อน เพราะแก่งคอยกลายเป็นเมืองหัวแตก ถึงถนนมิตรภาพจะตัดผ่านแต่คนขับรถผ่านแล้วก็ผ่านเลย ไม่ได้แวะพัก ดีที่ผมทำธุรกิจมานานจนมีลูกค้าประจำเลยอยู่ได้ ซึ่งถ้ามองภาพรวม ทุกวันนี้หลายๆ อย่างของเมืองก็ดีขึ้น สาธารณูปโภคอะไรก็พร้อมกว่า น้ำไหล ไฟสว่าง ถนนหนทางก็พร้อม เมืองจึงดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ถ้าถามเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องบอกว่าสมัยก่อนแก่งคอยดีกว่าเยอะ 

ทุกวันนี้ ลูกสาวผมดูร้านนี้เป็นหลัก (ร้านประสิทธิ์ผลอะไหล่) ผมก็มาช่วยด้วย และมีอีกร้านเป็นของลูกชาย (เอกผลอะไหล่) เปิดอยู่ตรงถนนมิตรภาพ ก็ดีใจครับที่ลูกๆ กลับมาช่วยสานต่อธุรกิจ ได้อยู่ ได้เห็นลูกๆ หลานๆ กันทุกวัน (ยิ้ม)”

ประสิทธิ์ พิบูลชัยสิทธิ์
เจ้าของร้านประสิทธิ์ผลอะไหล่

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย