รัฐควรเลิกใช้จ่ายเงินไปกับการปลูกไม้ประดับ และหันไปลงทุนกับต้นไม้ใหญ่‘ในความหมายของโครงสร้างพื้นฐาน’ ของเมืองให้พร้อมเสียที

Start
587 views
15 mins read

“หาดใหญ่ไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวมากนัก แต่ด้วยทำเลที่มีสนามบินนานาชาติและชุมทางรถไฟ ความพร้อมในด้านโรงแรมที่มีให้เลือกทุกระดับ ที่สำคัญคืออาหารการกินที่หลากหลาย และวิถีชีวิตยามค่ำคืนที่คึกคัก ผมจึงบอกคนอื่นเสมอว่า ที่นี่คือศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดสงขลา อยู่ใต้ร่มของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บทบาทของเราคล้ายๆ หอการค้า แต่จะโฟกัสไปที่การท่องเที่ยว สภาเรามีสมาชิกเป็นสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมโรงแรม สมาคมมัคคุเทศก์ และอื่นๆ โดยเรามีหน้าที่เหมือนตัวกลางเชื่อมภาคเอกชนกับภาครัฐ ถ้าภาครัฐมีข่าวหรือโครงการใดๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ก็จะส่งมาให้เราไปกระจายต่อยังสมาชิก ในทางกลับกันถ้าภาคเอกชนมีข้อเสนอต่อภาครัฐ เราก็มีหน้าที่รับเรื่องไปเสนอ

ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา นอกเหนือจากความพยายามฟื้นฟูการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยการประสานกับภาครัฐและสถาบันการเงินในการอัดฉีดอุตสาหกรรมหลังการฟื้นตัว เรากำลังพยายามปรับดีมานด์ไซด์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวจากเดิมที่เคยพึ่งพามาเลเซียและสิงคโปร์ เราก็มองไปที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และอื่นๆ โดยประสานไปยังภาครัฐ หน่วยงานที่สนับสนุนการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ไปจนถึงสายการบิน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวตลาดใหม่ๆ เข้ามาในจังหวัด

อย่างที่บอก ผมไม่ได้อยากให้มองว่ามาเที่ยวหาดใหญ่แล้วจะจบที่หาดใหญ่ ไม่มีใครมาซื้อสินค้าหนีภาษีหรือสินค้าราคาถูกจากจีนที่หาดใหญ่อีกแล้ว แต่ในทางกลับกัน สิ่งนี้เป็นเรื่องดี เพราะจริงๆ หาดใหญ่มีศักยภาพมากกว่านั้นมาก โดยเฉพาะการมีชัยภูมิที่ยอดเยี่ยม คุณลงเครื่องบิน เช็คอินที่โรงแรมในเมือง จากนั้นก็ออกเที่ยวพื้นที่รอบๆ ได้แทบทุกทิศเลย คุณจะขึ้นไปดูวิถีชาวประมงที่ลุ่มแม่น้ำทะเลสาบสงขลาก็ได้ ไปเดินเล่นย่านเมืองเก่าสงขลาซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนเพื่อขอเป็นเมืองมรดกโลก ชมทะเลน้อยที่จังหวัดพัทลุง หรือออกไปทางจังหวัดสตูล ก็มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามมากมาย

เที่ยวเสร็จคุณก็กลับมานอนหาดใหญ่ ที่นี่เต็มไปด้วยของอร่อยตั้งแต่สตรีทฟู้ดไปจนถึงร้านหรู ไนท์ไลฟ์ที่นี่ก็เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เช้าวันต่อมาคุณอาจตื่นมาตักบาตร และขึ้นเขาคอหงส์ไปชมทิวทัศน์ของเมือง ก่อนเดินทางกลับก็ซื้อของฝากที่ตลาดกิมหยง

อีกจุดเด่นของเมืองแห่งนี้คือความพร้อมด้านบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงจากต่างประเทศเข้ามาได้ เรามีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่รวมแพทย์เก่งๆ ไว้มากที่สุดในภาคใต้ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย ศูนย์ชีวาศรม ขณะเดียวกันก็มีโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำระดับประเทศ ทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี โรงพยาบาลศิครินทร์ และอื่นๆ

เมื่อโรงพยาบาลพร้อม โรงแรมก็พร้อม หาดใหญ่จึงมีระบบนิเวศของการรักษาและพักฟื้นครบครัน ขณะนี้โรงพยาบาลกรุงเทพกำลังทำ pilot project ร่วมกับโรงแรมและบริษัททัวร์ ทำแพ็คเกจด้านการตรวจสุขภาพและการรักษาเพื่อดึงดูดชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย คุณมาหาหมอเสร็จ ก็พักฟื้นหรือพักผ่อนที่หาดใหญ่นี่เลย

ส่วนคำถามที่ว่าแล้วหาดใหญ่ขาดอะไร ผมมองว่าเรายังขาดการพัฒนาสาธารณูปโภคครับ เรายังขาดการบูรณาการในการซ่อมบำรุงสาธารณูปโภค เดี๋ยวซ่อมถนน เดี๋ยวขุดซ่อมท่อ วนเวียนไปอย่างนั้น เมืองยังขาดรถประจำทางสาธารณะจริงๆ การจัดการขยะก็ยังไม่ยั่งยืน พื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ และที่สำคัญคือขาดทางเท้าที่มีประสิทธิภาพ เราจึงเดินเท้าในเมืองไม่ได้ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมรถจึงติด

ที่ผ่านมาภาครัฐนำเงินไปอัดฉีดกับการจัดอีเวนท์ในเมืองเยอะ ซึ่งผมเห็นด้วยว่าเมืองควรมีอีเวนท์ แต่การลงงบประมาณไปกับแค่เรื่องนี้ ก็เหมือนการปลูกดอกไม้ประดับเมืองที่สุดท้ายก็เฉาลง หรือที่มีข่าวว่ามีหน่วยงานรัฐจะลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อทำหอชมเมืองบนเขาคอหงส์ ก็ไม่ต่าง ที่ผ่านมาเรามีโครงการก่อสร้างจากภาครัฐที่เมื่อสร้างเสร็จก็ถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช้งานนับจำนวนไม่ถ้วน เพราะผู้สร้างไม่ได้มองถึงการบริหารจัดการ และหอชมเมืองบนภูเขาที่ทุกคนก็เห็นทิวทัศน์ของเมืองได้ทั่วอยู่แล้ว มันจำเป็นจริงๆ หรือ?

สู้นำงบประมาณที่จะลงทุนโครงการใหญ่ๆ มาทำให้สาธารณูปโภคในเมืองให้มีความพร้อม มีทางเท้าและขนส่งมวลชนที่ใช้ได้จริง ที่จอดรถเพียงพอ และภาพรวมของเมืองมีความน่าอยู่และสะอาด ผมมองว่ารัฐควรเลิกใช้จ่ายเงินกับการปลูกไม้ประดับ และหันไปลงทุนกับต้นไม้ใหญ่ในความหมายของโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้พร้อมเสียที

เพราะถ้าโครงสร้างของเมืองดี ภาคเอกชนก็จะมีความมั่นใจและพร้อมลงทุนกับโครงการใหม่ๆ เอง รัฐไม่จำเป็นต้องไปสร้างแข่งกับเขา”  

สมพล ชีววัฒนาพงศ์
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดสงขลา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย