/

รางวัลสำหรับเมืองก็เป็นเพียงรางวัลครับ แต่หัวใจจริงๆ คือชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง

Start
335 views
8 mins read

“แม้เทศบาลเมืองพะเยาจะมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนพะเยาให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ เศรษฐกิจดี และมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราอยู่แล้ว แต่การได้ร่วมมือกับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยา ก็ช่วยยกระดับการทำงาน รวมถึงเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้กับชาวบ้านได้อย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของความคิดสร้างสรรค์และการส่งเสริมทักษะความรู้ใหม่ๆ

ที่เห็นได้ชัดคือการที่มีทีมอาจารย์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ทำสินค้า OTOP ออกแบบฉลากสินค้า บรรจุภัณฑ์ การถนอมอาหาร ไปจนถึงแบรนด์ดิ้ง เปลี่ยนภาพลักษณ์จากสินค้าท้องถิ่นที่เป็นมาให้ดูมีความเป็นสากลมากขึ้น ช่วยขยายตลาดให้สินค้าได้มากกว่าเดิม

หรืออย่างเรื่องการศึกษา ในฐานะตัวแทนสำนักงานเทศบาล ผมรู้สึกปลื้มใจที่ทีมงานจากมหาวิทยาลัย ได้ประสานให้เกิดวิชาใหม่ๆ ในโรงเรียนสังกัดเทศบาล อย่างวิชาการเขียน coding ซึ่งเป็นทักษะที่ทำให้เด็กๆ สามารถเท่าทันโลก ขยายขอบเขตของการใช้สมาร์ทโฟนให้เป็นมากกว่าเครื่องมือติดต่อสื่อสารหรือเล่นโซเชียลมีเดีย แต่เป็นเครื่องมือที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ นอกจากนี้ยังมีวิชาสมาร์ทฟาร์ม (smart farm) รวมถึงการใช้งานโดรน ที่นำร่องไปแล้วในโรงเรียนเทศบาล 2 และโรงเรียนเทศบาล 3 โดยกองการศึกษาของเราจะมีการเปิดหลักสูตรในโรงเรียนแห่งอื่นๆ ต่อไป 

แน่นอนที่ว่าการศึกษาของแต่ละคนไม่เท่ากัน เด็กบางคนอาจมีความสามารถเรียนรู้ได้เร็ว แต่เด็กบางคนก็หัวช้า ดังนั้น เทศบาลจึงมุ่งมั่นในการจัดสรรและมีส่วนสนับสนุนให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ในเมืองพะเยาให้ครอบคลุม และรองรับกับเด็กในทุกระดับให้ได้มากที่สุด แต่การจัดหาพื้นที่อย่างเดียวคงไม่มีทางจะทำให้เป้าหมายของเราสำเร็จได้ หากขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษมาร่วมงานกับเรา ผมจึงหวังให้ มหาวิทยาลัยพะเยา ในฐานะที่ผมมองว่าเป็นเหมือนพี่เลี้ยงของเทศบาล ร่วมขับเคลื่อนพะเยาของเราให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป

ส่วนการเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้เนี่ย ส่วนตัวผมก็ดีใจครับที่เราได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก แต่ก็มองสิ่งนี้เป็นแค่ประกาศนียบัตรรูปแบบหนึ่ง ได้มาเราก็ภูมิใจ แต่หัวใจสำคัญคือเราจะทำยังไงให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข สามารถพึ่งพาตัวเองทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมากกว่า รางวัลสำหรับเมืองก็เป็นเพียงรางวัลครับ แต่หัวใจจริงๆ คือชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง ซึ่งผมก็รู้สึกดีใจที่ทีมงานขับเคลื่อนโครงการเห็นตรงกับเราในข้อนี้ และใช้รางวัลที่เรากำลังจะได้นับจากนี้ มีส่วนเชื่อมความรู้เพื่อยกระดับเมืองให้ผู้คนมีความสุข”

มนัส สายโกสุม
รองนายกเทศมนตรีเมืองพะเยา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย