ลานสเก็ตไม่ใช่แค่สถานที่เพื่อนันทนาการหรือการฝึกฝน แต่ใครหลายคนอาจค้นพบตัวเองจากที่นั่น

Start
447 views
8 mins read

“หลายคนเข้าใจผิดว่าแรมป์ในสนามกีฬาเทศบาลเชียงใหม่เป็นลานสเก็ต แต่จริงๆ ตรงนั้นเป็นสนามฝึกซ้อมของนักกีฬาจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ก่อนที่คุณตัน (ตัน ภาสกรนที นักธุรกิจเจ้าของโครงการหลากหลายในย่านนิมมานเหมินท์ – ผู้เรียบเรียง) จะพัฒนาพื้นที่บางส่วนตรงกาดเชิงดอยให้เป็นพื้นที่เปิดสำหรับเล่นสเก็ตและเซิร์ฟบอร์ด เมืองเชียงใหม่เราเลยไม่มีสเก็ตพาร์ค (skatepark) หรือลานสเก็ตจริงๆ

เมื่อก่อนข้างๆ กาดสวนแก้ว เร็ดบูลเคยทำแรมป์สเก็ตเปิดให้ทุกคนได้เล่น ซึ่งก็ได้รับความนิยมมากๆ แต่ก็ปิดตัวไปหลายปีแล้ว ผมกับเพื่อนๆ ก็เลยต้องเล่นกันตามทางเท้าหรือลานโล่งๆ ที่เอื้ออำนวย แต่ก็โดนร้องเรียนอยู่บ่อยๆ เลยเห็นตรงกันว่าเราควรผลักดันให้เมืองมีลานสเก็ตสาธารณะเสียที

อาสาสมัครเชียงใหม่ดวงใจสเก็ตบอร์ด คือชื่อกลุ่มที่เราตั้งขึ้นเมื่อราว 5-6 ปีที่แล้ว โดยเราร่วมกันออกแบบ ทำรีเสิร์ชสรุปปัญหาและความสำคัญ เพื่อนำไปเสนอเทศบาลหรือหน่วยงานรัฐให้ก่อสร้างสเก็ตพาร์คที่เหมาะสมสำหรับเมือง โดยเราก็ได้พี่ๆ สถาปนิกชุมชน คน.ใจ.บ้าน. มาช่วยเรื่องงานออกแบบให้ นำเสนออยู่หลายปี จนมาสำเร็จเอาตรงโครงการพัฒนาสวนน้ำปิงตรงกาดต้นลำไย

แม้จะไม่ใช่สเก็ตพาร์คเต็มรูปแบบเสียทีเดียว แต่การมีพื้นที่ให้นักสเก็ตรุ่นใหม่ๆ ได้เล่น ไปพร้อมกับพื้นที่ผ่อนคลายหรือทำกิจกรรมของคนในเมือง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ กล่าวคือเรามีที่มีทางในการเล่นสเก็ตบอร์ดหรือเซิร์ฟบอร์ดอย่างเหมาะสมเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องไปเล่นตามที่สาธารณะที่ทำให้เจ้าของพื้นที่หรือชาวบ้านใกล้เคียงไม่พอใจ

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมเราต้องมีลานสเก็ต ผมคิดว่านอกจากจะเป็นกีฬาที่คนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจ สเก็ตบอร์ดยังสร้างโอกาสที่ดีให้วัยรุ่นหลายคน คุณรู้ไหม เชียงใหม่เรามีนักสเก็ตในระดับทีมชาติ หรือไปแข่งในรายการเมเจอร์ต่างประเทศไม่น้อย มีวัยรุ่นหลายคนที่เคยติดยาเสพติด เกเร หรือไม่ได้เรียนหนังสือ แต่พวกเขาหันมาเอาดีกับการเล่นสเก็ตจนสามารถเป็นนักกีฬาอาชีพได้ โดยพวกเริ่มจากหัดไถสเก็ตตามลานสาธารณะหรือข้างถนนทั้งนั้น

ที่สำคัญ ผมมองเหมือนห้องซ้อมดนตรี เลนจักรยานที่ดี หรือกระทั่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ใช่ว่าเด็กทุกคนจะประสบความสำเร็จจากการเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบปกติเพื่อออกมาประกอบอาชีพแบบคนส่วนใหญ่เท่านั้น ลานสเก็ตจึงไม่ใช่แค่สถานที่เพื่อนันทนาการหรือการฝึกฝน แต่ใครหลายคนอาจค้นพบตัวเองจากที่นั่น การที่เมืองเรามีสิ่งนี้อยู่ จึงช่วยให้ฝันของเด็กหลายคนเป็นจริง”

///

จิรวัฒน์ นาวาจักร

นักสเก็ตบอร์ด และหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการสเก็ตพาร์คภายในสวนน้ำปิง

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย