/

ลำปางมีศักยภาพมาก แต่มันไม่อาจจะพัฒนาไปได้ ถ้าไม่มีการร่วมมือทั้งจากรัฐกับเอกชน และคนรุ่นก่อนหน้ากับคนรุ่นใหม่

Start
536 views
12 mins read

“หลังเรียนจบ เราไปทำงานที่ฮ่องกงมาเกือบ 6 ปี จนอากงป่วยหนัก เลยตัดสินใจกลับบ้าน ครอบครัวเราเปิดร้าน ‘ท่งเฮงกี่’ ขายกุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่น หมูสวรรค์ ซึ่งเปิดในย่านสบตุ๋ยของเมืองลำปางมา 80 กว่าปีแล้ว สมัยตั้งแต่รุ่นคุณทวดท่านย้ายมาจากซัวเถา ความที่สมัยเด็กๆ เราช่วยงานเตี่ย จึงรู้กรรมวิธีทั้งหมด พออากงเสียชีวิต เราก็เลยมาสานต่อธุรกิจเต็มรูปแบบร่วมกับเตี่ย โดยเราเป็นรุ่นที่ 4 ของร้าน


แม้ว่าเป็นธุรกิจขายของฝากดั้งเดิมที่หลายคนมองว่าติดตลาดไปแล้ว แต่ครอบครัวเราก็เห็นตรงกันว่า ถ้าปล่อยให้เตี่ยทำลำพังนี่อาจไม่ไหว เพราะแกก็ไม่ทันกับเทคโนโลยี จำเป็นต้องมีคนรุ่นใหม่อย่างเรามาช่วยเรื่องการตลาด การออกแบบ รวมถึงการขายออนไลน์ที่เป็นตลาดใหม่ ซึ่งทางออนไลน์ก็กลายเป็นตลาดใหม่ที่ช่วยร้านเราได้เยอะมาก

ไม่ได้เสียดายที่ต้องกลับมาอยู่บ้านเลยค่ะ เพราะคิดว่าอย่างไรเสีย เราก็จะต้องกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านอยู่แล้ว ตอนแรกเราคิดจะกลับมาเปิดบริษัทท่องเที่ยวด้วย เลยสมัครคอร์สด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต แล้วก็ไปเรียนเป็นมัคคุเทศก์ จนเข้าวงการได้รู้จักคนนั้นคนนี้ในลำปาง รวมถึงหอการค้า ไปๆ มาๆ จากที่ตั้งใจทำธุรกิจท่องเที่ยว กลายเป็นว่าเราหันมาทำงานด้านสังคม (สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวฯ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ – ผู้เรียบเรียง) ควบคู่ไปกับบริหารร้านอย่างเต็มตัวแทนเสียอย่างนั้น (หัวเราะ)

เรามองว่าถ้าเราทำงานด้านสังคมที่มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่เมือง ผลสะท้อนมันก็จะกลับมาที่ธุรกิจของเราอยู่ดี ไม่ว่าจะในแง่มุมของการท่องเที่ยว การค้า หรือการทำให้เมืองมีความน่าอยู่ ถ้าทำให้ลำปางมีศักยภาพดีขึ้นได้ ร้านเรา รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ในเมืองก็จะดีขึ้นตาม โดยเราโฟกัสไปที่สองส่วนหลักๆ คือเชื่อมโยงผู้ประกอบการไปสู่ตลาดใหม่ๆ ผ่านการออกงานแสดงสินค้าระดับประเทศและนานาชาติ และการทำกิจกรรมที่ดึงดูดให้คนมาเที่ยวลำปางเยอะๆ อย่างงานวิ่งเทรลประจำปีที่ดอยฟ้างาม อำเภอแจ้ห่ม  ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนจากที่อื่นได้ทราบว่าลำปางก็มีเส้นทางเทรลดีๆ ด้วยเช่นกัน


หรือพอได้ทราบว่าที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ เราก็คิดว่าสิ่งนี้จะช่วยเมืองเราได้มาก เพราะไม่ว่าคุณจะพัฒนาเมืองไปทิศทางไหน หัวใจสำคัญมันต้องถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ให้กับคนในเมือง


ก็พอดีกับที่ร้านท่งเฮงกี่เราอยู่ในย่านสบตุ๋ย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่โครงการจัดกิจกรรม จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้ย่านไปพร้อมกับหาวิธีเชื่อมองค์ความรู้นั้นไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเมือง หนึ่งในกิจกรรมที่เรามีส่วนร่วม คือการจัดงานนั่งรถม้าจิบชาย้อนวันวานในย่านสบตุ๋ย เป็นการชวนผู้ประกอบการ ตัวแทนจากภาครัฐ และชาวลำปางมานั่งรถม้าชมเมือง แล้วไปจิบชาพูดคุยเรื่องแนวทางการพัฒนาเมืองกันที่บ้านพระยาสุเรนทร์ ซึ่งก็สอดคล้องกับโครงการที่เราอยากจะผลักดันให้ลำปางมีงานตรุษจีนในย่านสบตุ๋ยอยู่แล้วด้วย

ในแง่มุมของการท่องเที่ยว เราพยายามบอกทุกคนว่าลำปางไม่ใช่เมืองผ่าน เรามีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ยูนีคไม่เหมือนที่ไหน เพียงแต่ที่ผ่านมาเรายังขาดการเชื่อมร้อยทรัพยากรเหล่านี้เข้าด้วยกัน ซึ่งในบทบาทของเราก็พยายามจะเชื่อมโยงผู้ประกอบการด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงดึงให้รัฐมาสนับสนุนกิจกรรมในเมืองมากกว่านี้ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่นำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวของเมือง เราเชื่อว่าลำปางมีศักยภาพมากๆ แต่มันไม่อาจจะพัฒนาไปได้ ถ้าไม่มีการร่วมมือทั้งจากรัฐกับเอกชน และคนรุ่นก่อนหน้ากับคนรุ่นใหม่ค่ะ”   

 
วลีย์รัตน์ วิภาศรีนิมิตร ไลนส์
เจ้าของร้านท่งเฮงกี่
นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเมืองเขลางค์นคร
และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย