/

ลำปางเป็นเมืองเล็กที่น่าจะมีการพัฒนาที่คล่องตัวกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา เสียงของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราไม่ค่อยถูกส่งไปถึงผู้ใหญ่สักเท่าไหร่

Start
444 views
8 mins read

“เรามีกันประมาณ 40 คนได้ครับ ทุกคนในเมืองจะสลับกันมาเล่นสเก็ตบอร์ดกันตรงนี้ (ลานด้านหน้าหอปูมละกอน บริเวณ 5 แยกหอนาฬิกาเมืองลำปาง) เล่นด้วยกันมาหลายปีแล้ว เมื่อก่อนก็กระจายกันเล่น หลักๆ จะเล่นที่ลานด้านหน้าสวนสาธารณะเขลางค์นคร แต่เดี๋ยวนี้เล่นไม่ได้แล้วเพราะพื้นสึกหมด ส่วนอีกที่คือลานจอดรถของเซ็นทรัลลำปาง แต่ที่ห้างฯ มักใช้จัดงานอีเวนท์ สุดท้ายเลยมารวมตัวกันที่นี่

ที่นี่เป็นพื้นที่ของเทศบาลครับ ตอนแรกเขาก็ไม่อนุญาตให้เล่นหรอกครับ เพราะถ้านานๆ ไปพื้นตรงนี้ก็อาจมีความเสียหายได้ แต่เราก็ต่อรองบอกว่าเมืองควรต้องมีพื้นที่ให้พวกเรา เพราะสเก็ตบอร์ดก็เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง เทศบาลยังมีสนามฟุตบอล สนามบาสเก็ตบอล แต่กลับไม่มีลานสเก็ต ขณะที่อุตรดิตถ์เมืองเล็กกว่าเราเขายังมี หรือเชียงรายนี่มีพื้นที่ที่ดีมากๆ เลยนะ ทางเทศบาลเขาก็รับเรื่องเราไว้ ระหว่างนั้นเขาก็ให้เราเล่นกันที่นี่ไปก่อน ซึ่งนี่ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว (หัวเราะ)

พวกแรมป์กระโดดและอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นของที่พวกเรารวมเงินกันซื้อครับ เราฝากไว้กับเทศบาลหลังเล่นเสร็จ ส่วนแสงสว่าง เมื่อก่อนเขาไม่มีให้ ก็ต้องเอาไฟมาติดเอง ที่ต้องมีไฟเพราะเราเล่นกันตอนเย็นตั้งแต่หกโมงถึงสี่ทุ่ม ตอนกลางวันต่างคนต่างไปเรียนหรือไปทำงาน จนภายหลังพอเทศบาลปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณห้าแยกหอนาฬิกา เราก็เลยได้อานิสงส์เรื่องแสงสว่างไปด้วย

ช่วงก่อนเลือกตั้งนายกเทศมนตรี มีนักการเมืองมาคุยกับพวกเราที่นี่เยอะครับ เขาก็ถามความต้องการ เราก็บอกว่าในฐานะคนเล่นสเก็ตบอร์ด เราแค่ต้องการพื้นที่ที่เป็นกิจจะลักษณะเท่านั้นเอง พื้นที่ที่มีความปลอดภัยต่อทั้งผู้เล่นและคนที่ผ่านไปผ่านมา จริงอยู่ตรงนี้ทำเลดี แสงสว่างก็พร้อม แต่อย่าลืมว่ามันอยู่ริมถนน มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ ที่สำคัญคือในเขตเทศบาลเรามีที่ดินเปล่าเยอะ การพัฒนาให้เป็นลานสเก็ตบอร์ดได้มันไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ก็เฝ้ารออยู่เหมือนกันว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร  

ในมุมมองของผม ลำปางเป็นเมืองเล็ก ที่เอาเข้าจริง… น่าจะมีการพัฒนาที่คล่องตัวกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา ดูเหมือนผู้ใหญ่จะไม่ค่อยรับฟังเสียงของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราสักเท่าไหร่ รวมถึงไม่มีนโยบายที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยด้วย อย่างเรื่องเศรษฐกิจ อันนี้คือช่วงก่อนจะมีโควิด-19 อีกนะครับ พอมีกลุ่มทุนใหญ่มาเปิดศูนย์การค้า พื้นที่ธุรกิจเก่าแก่ในเขตใจกลางเมืองก็ซบเซา จนผู้ประกอบการพากันเซ้งร้านหรือปิดกิจการกันไปหมด คือผมเข้าใจว่ามันเป็นยุคสมัย หรือเป็นไปตามกลไกตลาด แต่การที่รัฐปล่อยให้เมืองมันดำเนินไปในลักษณะแบบนี้ ก็รู้สึกเสียดายแทนผู้ประกอบการรุ่นเก่า ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนเมืองมาเหมือนกันครับ”  

ปกรณ์ วันอุดมฤกษ์

ผู้ประกอบการในจังหวัดลำปาง และตัวแทนกลุ่มสเก็ตบอร์ด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย