ลำปางเรามีต้นทุนที่ดีมากๆ ทั้งทำเลที่เชื่อมจังหวัดในภาคเหนือตอนบน
ตอนล่าง และทางตะวันออกเข้าด้วยกัน เราน่าจะพัฒนาโลจิสติกให้เพิ่มมูลค่ากว่านี้ได้

Start
520 views
10 mins read

“ผมเคยไปทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทผลิตรถที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รู้จักจังหวัดเล็กๆ ชื่อ ไอจิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหุบเขาโครังเค ในแต่ละปีคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวจะไปชมใบไม้เปลี่ยนสีที่หุบเขานั้นเป็นประจำ ตัวเมืองเขาจะเล็กๆ เงียบๆ แต่ทุกคนก็จดจำเมืองนี้ได้เพราะโครังเค

ไอจิทำให้ผมคิดถึงลำปาง ความที่เมืองเราถูกจดจำในฐานะเมืองผ่าน แต่ขณะเดียวกันเราก็มีทรัพยากรที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ลำปางถูกจดจำในฐานะเมืองรถม้า เมืองเซรามิก หรือที่หลายคนอาจไม่ทราบว่าเราเป็นที่ตั้งของโรงงานครั่งที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ขณะเดียวกันตามพื้นที่รอบนอก ลำปางก็เป็นเมืองที่มีทัศนียภาพของภูเขาที่งดงาม ผมเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าหน่วยงานท้องถิ่นลองร่วมมือกันปลูกไม้ดอกที่เป็นเอกลักษณ์ริมถนนนอกเมืองสักสาย ทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่เมื่อถึงเวลาต้นไม้ผลิดอกออกสีสันสดใส คงช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนได้ไม่น้อย อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่แบบโครังเค แต่เรามีศักยภาพที่ทำให้โดดเด่นได้ ซึ่งมันก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย

อีกอย่างหนึ่งคือลำปางเราไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้มาเยือนเท่าไหร่ เพราะแม้เราจะมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อย่างวัดพระธาตุดอยพระฌานที่มีพระใหญ่ไดบุตซึประดิษฐานอยู่ หรือวัดเฉลิมพระเกียรติ แต่เรากลับขาดการเชื่อมโยงสถานที่เหล่านั้นเข้าด้วยกัน เลยคิดถึง One Day Bus หรือทัวร์แบบ hop on hop off แบบต่างประเทศ นักท่องเที่ยวเสียค่าตั๋วรอบเดียว สามารถขึ้นลงรถบัสได้ไม่จำกัด และใช้รถนี้วิ่งเชื่อมเส้นทางต่างๆ ทั้งในเมืองและแหล่งท่องเที่ยวโดยรอบ มันจะกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่มาเที่ยวง่ายขึ้นโดยไม่ต้องหาเช่ารถขับ และก็ทำให้เขาอยู่กับเราอย่างน้อยๆ ก็หนึ่งคืน

คือถ้ามองลำปางในฐานะประเทศประเทศหนึ่ง ผมคิดว่าเรายังขาดดุลอยู่พอสมควร เพราะแม้เราจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมเซรามิก แต่ pain point ก็คือ โรงงานเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าวัตถุดิบมาจากที่อื่นและจากต่างประเทศ แต่ถ้าเราสร้างความร่วมมือให้ชาวบ้านผลิตวัตถุดิบส่งโรงงานล่ะ มันอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้มากกว่านี้ครับ

เพราะอย่าลืมว่าลำปางเรามีต้นทุนที่ดีมากๆ ทั้งทำเลที่เชื่อมจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ตอนล่าง และทางตะวันออกเข้าด้วยกัน เราน่าจะพัฒนาโลจิสติกให้เพิ่มมูลค่ากว่านี้ได้ อาจเป็นเขต warehouse area เชื่อมต่อการขนส่งอย่างมีศักยภาพ ในด้านการเกษตรเรามีสับปะรดที่มีคุณภาพ แต่ทุกวันนี้พอฤดูกาลสับปะรดทีไร ก็ยังเห็นเกษตรกรเอามาขายถูกๆ ริมถนนอยู่เลย รัฐน่าจะดีลตลาดต่างประเทศได้ดีกว่านี้ เพราะแม้ของที่ดูเยอะๆ แล้วเหมือนไม่ได้แพงมากของเมืองเรา อย่างสับปะรด เซรามิก หรือครั่ง แต่มันมีมูลค่าอย่างสูงในต่างประเทศ รัฐควรหาตลาดให้เจอเพื่อทำให้คนลำปางมีรายได้มากกว่านี้

นั่นล่ะครับ อยากให้มองลำปางเป็นประเทศประเทศหนึ่ง ถ้าเราทำให้ประเทศพึ่งพาตัวเอง และสามารถทำการค้ากับภายนอกได้ เศรษฐกิจในประเทศก็ดี ไม่มีใครอยากย้ายไปอยู่ที่อื่น พอเป็นแบบนั้น ผู้คนในประเทศก็จะมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศของเรา หรือจริงๆ แล้วคือทำให้เมืองของเราน่าอยู่ครับ”  

สุรเชษฎ์ รอบคอบ
อดีตวิศวกรเครื่องยนต์ และเจ้าของร้านลาบหลังวัง

และแบรนด์น้ำสลัดปลอดสารเคมี ‘ลีนน์’ (Leann)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย