“ลำพังแค่ทุกคนใช้ชีวิตด้วยความตระหนักรู้ ก็มีส่วนทำให้เมืองระยองของเราน่าอยู่ได้แล้ว”     

Start
289 views
18 mins read

“แม้ชื่อจะเป็นบริษัท แต่ ‘ระยองพัฒนาเมือง’ ไม่ได้ทำธุรกิจ เราจดทะเบียนให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีรูปแบบที่ว่าถ้ากิจกรรมของเราสร้างกำไรมาได้ รายได้ดังกล่าวจะไม่เข้าสู่กระเป๋าหุ้นส่วน แต่จะเป็นการนำรายได้นั้นไปลงทุนกับกิจกรรมการพัฒนาเมืองอื่นๆ ต่อไป 

ความท้าทายของเมืองระยองก็อย่างที่ทราบกัน เขตเทศบาลถูกขนาบหัวท้ายด้วยโรงงานขนาดใหญ่ พื้นที่เมืองไม่ได้ใหญ่ แต่มีประชากรซึ่งรวมประชากรแฝงมากถึง 200,000 กว่าคน ซึ่งโรงงานที่ขนาบเราก็มีทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซ เรียกได้ว่าหันไปตะวันออกหรือตะวันตกก็จะเจอปล่องปล่อยควันขนาดใหญ่ตระหง่านอยู่ แต่ข้อดีก็คือ เรามีป่าชายเลนอยู่ตรงกลาง มีชายทะเล และมีแม่น้ำไหลผ่านเมือง และที่สำคัญพอเราเป็นเมืองอุตสาหกรรม พวกเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ก็มากระจุกอยู่ที่นี่ ตรงนี้แหละที่เป็นความท้าทายว่าเราจะใช้สิ่งเหล่านี้มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในเมืองได้อย่างไร

ปัจจุบัน บริษัทระยองพัฒนาเมือง กำลังทำงานวิจัย 3 โปรเจกต์ใหญ่ๆ อันหนึ่งคือเมืองแห่งการเรียนรู้ อีกโปรเจกต์เป็นเหมือนการต่อยอดจากอันแรกคือการทำเมืองโลว์คาร์บอน (low carbon) หรือเมืองคาร์บอนต่ำ และสุดท้ายคือการใช้เทคโนโลยี Web3 มาพัฒนาเมือง นอกเหนือจากนั้น ก็มีการประสานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลทำเรื่องสมาร์ทซิตี้ด้วย

แต่นั่นล่ะ ไม่ว่าจะโปรเจกต์ไหน เราไม่ได้มองโปรเจกต์เหล่านี้เป็นแท่ง เราเห็นถึงการ integration หรือการประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อผลลัพธ์คือการทำให้คนระยองสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้ความท้าทายของสถานการณ์โลก ณ ปัจจุบันได้ และยิ่งเมื่อพูดถึงระยอง เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือภาวะ climate crisis ก็เป็นปัจจัยสำคัญ นั่นเป็นเหตุว่าทำไมเราจึงต่อยอดโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งสามารถใช้ Web3 และสมาร์ทซิตี้มาหนุนเสริมได้   

ถามว่าต่อยอดอย่างไร? ผมมองว่ากลไกเมืองแห่งการเรียนรู้เนี่ยมันช่วยสร้างพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ หรือ active citizen ขึ้นมาก่อน ทำให้คนระยองตื่นรู้ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เมืองกำลังเผชิญ จากนั้นอย่างที่บอกว่าความท้าทายที่สุดของระยองตอนนี้คือเรื่องปัญหาภูมิอากาศ แม้เราทุกคนไม่ได้มีอำนาจมากพอจะแก้ปัญหานี้ในภาพใหญ่ แต่ในฐานะคนระยอง เรารู้แล้วว่าเมืองเผชิญกับอะไร (ปัญหาภูมิอากาศ – ผู้เรียบเรียง) ก็มาร่วมกันลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ (carbon footprint) ของตัวเองให้ได้มากที่สุด สิ่งนี้ก็จะช่วยบรรเทาวิกฤตที่เป็นอยู่ได้ไม่น้อย

กับสิ่งนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนไม่ต้องขับรถแล้วหันไปขี่จักรยานนะครับ เพียงแค่ใช้ชีวิตให้สมาร์ทขึ้น ตระหนักถึงผลกระทบให้มากขึ้น ขณะเดียวกันโครงการวิจัยเราก็ใช้เครื่องมือทางการตลาดมาช่วยจูงใจผู้คน เช่น ถ้าบริษัทไหน องค์กรไหน หรือบุคคลทั่วไปลดการปล่อยคาร์บอนในวิถีชีวิตของแต่ละคนเอง ทางโครงการก็จะมีรางวัล (rewards) ให้ อาจเป็นรูปแบบของส่วนลดจากร้านค้าที่ร่วมรายการ หรือสิทธิในการเข้าถึงกิจกรรมต่างๆ

ทีนี้ในเชิงกิจกรรมเราทำอะไร? ใน 8 เดือนแรกตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เราทำงานร่วมกับเทศบาลนครระยอง เพื่อสำรวจชุมชนทั้ง 29 แห่งในเขตเทศบาล และคุยกับตัวแทนจากชุมชนถึงวิธีการลดคาร์บอนและ rewards ที่เขาต้องการ ซึ่งก็สรุปออกมาได้ 3 ความต้องการหลัก คือการจัดการขยะ การจัดการอาหาร และการท่องเที่ยวชุมชน

ซึ่งทั้งสามความต้องการมันก็เชื่อมกันอีก เพราะการจัดการอาหารที่ดี นำมาสู่การจัดการขยะที่ดี และอาหารก็เป็นหนึ่งในแม่เหล็กของการท่องเที่ยวระยอง ทั้งนี้ การจัดการอาหารที่ดีหมายถึงการขนส่งวัตถุดิบที่ลด carbon footprint ให้ได้มากที่สุด เราเลยทำกิจกรรมนำร่องที่ชื่อ The Food Miles รณรงค์ให้คนระยองกินอาหารที่ผลิตจากระยอง เพื่อลดคาร์บอนจากการขนส่ง

กิจกรรม The Food Miles เริ่มต้นไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (2565) เราใช้การตลาดนำด้วยการชวนเชฟสุวิตรา ว่องวารี ที่มีประสบการณ์ทำ farm to table และก็เติบโตกับอาหารพื้นถิ่นด้วย มารีเสิร์ชวัตถุดิบในภูมิภาคต่างๆ ของเมืองระยอง และออกแบบเมนูอาหารระยองที่ไม่ใช่แค่เอาวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ แต่ยังส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพด้วย รวมถึงแทบไม่ให้มีของเสียหรือขยะจากกระบวนการปรุง (zero food waste) ให้เชฟทำสูตรอาหารและวิธีการปรุง ก่อนเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของระยองพัฒนาเมือง เพื่อให้คนระยองเข้าถึงอาหารที่ดี รวมถึงร่วมกับภัตตาคารดังๆ ของท้องถิ่นเสิร์ฟเมนูนี้แก่นักท่องเที่ยว โดยติดตราสัญลักษณ์ The Food Miles ตามร้านต่างๆ ที่ร่วมโครงการ

ทีนี้ถ้าคนระยองอยากกินข้าวนอกบ้าน แล้วเลือกกินที่ร้านในโครงการ คุณก็เอามือถือมาสแกนเพื่อแลก point สะสม ซึ่ง point นี้สามารถนำไปเป็นส่วนลดตามร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านในชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกต่อหนึ่งด้วย 

แล้วร้านค้าต่างๆ จะได้ชดเชยค่าส่วนลดให้ลูกค้าจากตรงไหน? โครงการเราก็ไปชวนบริษัทใหญ่ในระยองมาร่วมกัน จากเดิมที่เขาทำ CSR นั่นนี่อยู่แล้ว ก็ให้เขามาช่วยสนับสนุนตรงนี้ ให้เขามาร่วมเข้าวงจรลดคาร์บอนกับเมืองด้วย  

ที่เล่าไปนี่เป็นซีรีส์แรกของเมืองโลว์คาร์บอนเท่านั้นครับ บริษัทเรายังวางแผนซีรีส์ต่อๆ ไปอีกมาก รวมถึงแคมเปญลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ผ่านการพัฒนาขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยรถ EV หรือพลังงานสะอาดต่อไป และก็เช่นเคย เราก็นำระบบ rewards มาใช้ คุณขึ้นรถสาธารณะไปทำงานครบเท่าไหร่ ก็แลกรับส่วนลดได้ โดยล่าสุด ทางเทศบาลเขาก็กำลังศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการทำขนส่งสาธารณะพลังงานสะอาดออกมาเป็นรูปธรรม

ส่วนความท้าทายหลังจากนี้ นอกจากทำให้ซีรีส์เมืองโลว์คาร์บอนต่างๆ ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง คือการสื่อสารให้คนระยองในทุกกลุ่มเข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ และทุกคนสามารถเข้ามาร่วมและได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้อย่างไร เพราะแน่นอน พอคุณพูดถึงโลว์คาร์บอน หลายคนก็จะคิดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ วิชาการ หรือความซับซ้อน แต่จริงๆ ทั้งหมดทั้งมวลมันอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคนอยู่แล้ว ก็ต้องหาวิธีสื่อสารให้เข้าใจง่าย และทำให้ทุกคนตระหนักว่า ลำพังแค่การใช้ชีวิตด้วยความตระหนักรู้ถึงผลกระทบ ก็มีส่วนทำให้เมืองระยองของเราน่าอยู่ได้แล้ว”     

พิชากร พิมลเสถียร
Project Director บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด
ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และความยั่งยืนด้านธุรกิจ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย