/

“วิถีคลองรังสิต-ประยูรศักดิ์” แต่ละคนมองวิถีชีวิตของคลองรังสิตไม่เหมือนกัน

Start
659 views
7 mins read

ในเชิงกายภาพ ถ้าเป็นมุมมองของคนในพื้นที่ เหมือนเป็นการเกิดใหม่ของสิ่งเรียนรู้ ที่เขาอาจจะมองว่ามันก็เป็นอยู่แล้ว แต่เราทำภาพให้ชัดเจนขึ้น ลงไปขยี้ให้เห็นคุณค่ามากขึ้น ในปทุมธานีมีวิสาหกิจชุมชนเยอะมากที่อยู่ในแต่ละเทศบาล เครือข่ายที่อยู่กับเทศบาลก็เยอะ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าจะวิ่งไปไหน แล้วจะมารวมตัวอะไรกันยังไง

มหาวิทยาลัยเองอาจมีบทบาทเป็นตัวกลางเข้ามาประสาน เข้ามาขอความร่วมมือ มันไม่ใช่แค่โครงการนี้เสร็จแล้วจบ มันอาจต่อยอดมาเป็นบริการวิชาการ อย่างหน่วยงานที่เป็นของเทศบาลเองอยากพัฒนาอะไร เขาก็เริ่มตระหนักแล้วว่า เขาจะทำพื้นที่ตรงนี้นะ แล้ววิสัยทัศน์เขาอยากได้แบบนี้ เขาอยากจะไปให้ได้เหมือนเรา อาจารย์มาช่วยหน่อย เป็นที่จดจำของคนในพื้นที่ เขาให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ในแง่ของการขับเคลื่อน เพราะด้วยกระบวนการเราทำ 4 เทศบาล พื้นที่ใหญ่ และทำงานกับส่วนราชการ ลักษณะ นโยบาย ของแต่ละเทศบาลก็ไม่เหมือนกัน ก็ต้องพูดตรงๆ ว่าอาจจะขับเคลื่อนช้า

ในงานวิจัยที่เราสรุปและสกัดแล้วเอาไปให้ทั้ง 4 เทศบาล เราก็หวังว่าผลสะท้อนที่อยู่ในงานวิจัยที่เราให้ไป อย่างน้อยจะได้เข้าไปอยู่ในแผน น่าจะมีอะไรบางอย่างที่หยิบยกไปเป็นโพรเจกต์ร่วมกัน โดยพื้นที่อาจจะไม่ได้พัฒนาหน้ามือไปหลังมือ มันยาก ต้องใช้เวลา แต่ถ้าเราใช้กิจกรรมเชื่อม อย่างกิจกรรมวัฒนธรรมศาลเจ้า มันมีทั้ง 4 เทศบาล ถ้าเรารวมให้เป็นอีเวนต์เดียวกัน มีเจ้าภาพร่วมคือเทศบาลทั้ง 4 แล้วก็เกิดเส้นทางท่องเที่ยวทั้ง 4 เทศบาล ก็จะสะท้อนมาที่เชิงกายภาพเอง

ต้องยอมรับว่าอาจจะเป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่เป็นเจเนอเรชันเดิมๆ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ จริงๆ เขาอาจจะมีตัวตน แต่เรายังไม่เจอว่ามีกลุ่มนี้อยู่นะ เราคงต้องทำงานลงลึกเข้าไปอีก เพื่อไปควานหา หรืออาจต้องมีกิจกรรมเพิ่มให้มีกลุ่มคนที่หลากหลายเข้ามา ซึ่งที่เราทำมาปีกว่าๆ ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าต้องอาศัยเวลากับกลไก ทั้งตัวที่เป็นหน่วยงานเองช่วยขับเคลื่อน แล้วสิ่งที่ทางบพท.ให้ความสำคัญคือทำยังไงให้มันเกิดการเรียนรู้ที่เป็น Circular Economy ด้วย

คือพื้นที่เรียนรู้แล้วสามารถเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เรียนรู้อย่างเดียวไม่ได้นะ ต้องส่งเสริมเศรษฐกิจด้วย คนต้องอยู่ต้องใช้

ผศ.ดร.ธนภูมิ วงษ์บำหรุ

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และหัวหน้าโครงการย่อย ‘กลไกความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านพื้นที่การเรียนรู้จังหวัดปทุมธานี’

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย